ภูเขาไฟไอซ์แลนด์ปะทุทำให้ร้านอาหารไทยในเยอรมนีสูญรายได้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 26, 2010 13:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภูเขาไฟ เอยาฟยาลลาเยอคุล (Eyjafjallajokull) ที่ไอซ์แลนด์ที่มีการคุกรุ่นเรื่อยมา นั้น ได้มีการปะทุอย่างรุนแรงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ทำให้มีเขม่าควันและขี้เถ้าพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสูงกว่า 10 กิโลเมตร และประกอบกับสภาพอากาศอำนวยจึงทำให้ละอองเขม่าขี้เถ้าปลิวว่อนตามลมมุ่งลงทางทิศใต้ ปกคลุมน่านฟ้าประเทศสแกนดิเนเวีย สหราชอาณาจักร และแผ่ขยายไปยังฝรั่งเศส เยอรมนีออสเตรีย สวิส และสเปนในวันต่อๆ มา เนื่องจากเขม่าขี้เถ้าเหล่านี้จะทำให้เครื่องไอพ่นของเครื่องบินที่บินเข้าไปดับ ทำให้เครื่องตกได้ ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศของสหภาพยุโรปจึงได้ประกาศสั่งปิดสนามบินทั่วยุโรป ในวันต่อๆ มา ทำให้มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปพักผ่อนช่วงวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์ และผู้โดยสารของสายการบินต่างๆ นับแสนคนตกค้างตามสนามบินต่างๆ ทั่วยุโรป การปะทุของภูเขาไฟลูกนี้ยังคงมีต่อเนื่อง มีควันไฟพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าตลอดมา ถึงแม้ว่าจะไม่สูงมากก็ตาม แต่ศูนย์ควบคุมฯ ยังคงสั่งให้ปิดสนามบินทั่วยุโรปเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ 19 และอังคารที่ 20 เมษายน ได้มีการยกเว้นอนุญาติให้บางสายการบินเคลื่อนย้าย นำเครื่องบินเปล่าไปรับส่งผู้โดยสารที่ตกค้างตามสนามบินต่างๆ ในยุโรปตอนใต้ และโดยเฉพาะตามเกาะต่างๆ ของสเปนที่มีนักท่องเที่ยวเยอรมันตกค้างนับหมื่นคน

การปิดทำการ ให้บริการและงดเที่ยวบินของสนามบินต่างๆ ทั่วยุโรปที่ในแต่ละวันมีการขึ้นลงของเครื่องจำนวนกว่า 28,000 เที่ยวบิน นั้น ได้สร้างความเสียหายให้กับสายการบินต่างๆ เป็นวงเงินโดยประมาณรายละ 1 ล้านยูโร/วัน รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นของสายการบินต่างๆ ทั่วยุโรปไม่ต่ำกว่าวันละ 150 ล้านยูโร นอกจากนี้ จากการที่ไม่สามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางเพื่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างๆ ยังจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบเหล่านี้อีกเป็นมูลค่าโดยรวมไม่ต่ำกว่าวันละ 500 ล้านยูโรอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว การหยุดพักการบิน ได้ทำให้การขนส่งสินค้าทางอากาศหยุดชะงักลงด้วย และเริ่มสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ของเยอรมนี บ้างแล้ว อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์ BMW ที่ต้องพักการผลิตชั่วคราวในวันพุธที่ 21 เมษายน เนื่องจากขาดชิ้นส่วน/ส่วนประกอบที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถขนส่งทางอากาศได้ ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันสินค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นสินค้าอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้สด จากการสำรวจและสอบถามร้านค้าปลีก/ค้าส่งสินค้าอาหารของไทย ที่ปัจจุบัน ไม่มีผักสดของไทยวางจำหน่ายแล้ว ได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามากน้อยแตกต่างกันไป โดยสรุปแต่ละร้านค้าจะมีการขาดรายได้ประมาณ 1,000 — 10,000 ยูโร/วัน นอกจากนี้ร้านอาหารไทยต่างก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน โดยเฉพาะร้านอาหารที่เสนอขายอาหารไทยแท้ และต้องใช้เครื่องปรุง ผักสดของไทยโดยเฉพาะ จะได้รับความเสียหายมากกว่าร้านอื่นๆ ที่มีการนำผักสดพื้นเมืองมาดัดแปลงใช้เป็นส่วนประกอบ โดยความเสียหายในแต่ละวันของร้านอาหารเหล่านี้จะเป็นมูลค่าตั้งแต่ 300 ยูโรขึ้นไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ