ภาวะตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ของไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 26, 2010 16:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะตลาดทั่วไป

ธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้เพิ่มสำหรับกลุ่มคนทำงานที่มองหาโอกาสในการสร้างอนาคตให้แก่ตนเองทางหนึ่ง เพราะการเปิดร้านค้าขนาดเล็กซึ่งไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากนี้ อาจสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างคาดไม่ถึง

สำหรับในไต้หวัน การประกอบธุรกิจแฟรนไชน์เป็นที่นิยมได้ระยะหนึ่งแล้วทำให้แนวโน้มของธุรกิจส่วนใหญ่จึงค่อนข้างอิ่มตัว โดยจากสถิติของกระทรวงเศรษฐการไต้หวันชี้ว่าในปี 2552 มูลค่ากาค้าปลีกและส่งในไต้หวันคิดเป็นมูลค่ารวม 12.47 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.18 โดยรายละเอียดเพิ่มเติมปรากฎตามตารางที่ 1

ตารางที่1 : มูลค่าการค้าปลีกและส่งของไต้หวันในช่วงปี 2550-2552

มูลค่า: ล้านเหรียญไต้หวัน

                    2550                2551                2552
               มูลค่า      +/-(%)      มูลค่า    +/-(%)       มูลค่า      +/-(%)
มูลค่ารวม     12,586,959    6.64   12,879,560    2.32    12,470,095    -3.18
ค้าส่ง         9,008,154    7.84    9,327,704    3.55     8,866,776    -4.94
ค้าปลีก        3,262,902    3.68    3,230,201   -1.00     3,281,537     1.59
ร้านอาหาร       315,903    4.37      321,656    1.82       321,781
ที่มา: สำนักสถิติกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน

          สำหรับในส่วนของจำนวนแฟรนไชส์ในไต้หวัน จากการสำรวจของ Taiwan Chain Stores Franschise Association พบว่า จนถึงสิ้นปี 2551 มีจำนวนแฟรนไชส์ในไต้หวันทั้งสิ้น 1,395 แบรนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฎตามตารางที่ 2

                    ตารางที่ 2: จำนวนแฟรนไชส์ในไต้หวันในช่วงปี 2549-2551
                                 2549                2550              2551
                             จำนวน   +/-(%)      จำนวน   +/-(%)    จำนวน   +/-(%)
จำนวนแบรนด์                   1,187     5.6       1,374    15.8     1,395     1.5
จำนวนร้าน                    79,794     7.4      85,824     7.6    87,894     2.4
จำนวนร้านที่บริหารโดยตรง        24,455     5.3      27,425    12.1     27,382   -0.2
จำนวนร้านที่ขอเข้าแฟรนไชส์       55,339     8.3      58,099     5.0     60,512    4.2
จำนวนร้านเฉลี่ย                  67.2     1.7        62.2    -7.4      63.0     1.3
ที่มา: สำนักสถิติกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน


2. แนวโน้มตลาด
          จากวิกฤตการเงินโลกปี 2551 ที่ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2552 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไต้หวันที่หดตัวอย่างหนักในวงกว้าง ทั้งในส่วนของภาคผลิตและภาคบริการ จนทำให้รัฐบาลไต้หวันออกนโยบายแจกคูปองสินค้าให้ประชาชนทุกคนในช่วงต้นปี 2552 คนละ 3,600 เหรียญไต้หวันเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมก็ยังคงอยู่ในสภาวะชะลอตัว ดังจะเห็นได้จากการที่ร้าน McDonald ฟาส์ฟูดชื่อดังได้ออกแคมเปญโปรโมชั่นที่ถือเป็นการลดราคามากที่สุดในประวัติศาสตร์การดำเนินกิจการในไตห้วันมาเป็นเวลา 25 ปี ด้วยการลดราคาเซ็ตเมนูสำหรับอาหารกลางวันถึงร้อยละ 25 ซึ่งโปรโมชั่นของแมคโดนัลด์นี้ ก็ได้กระตุ้นให้ผู้ประกอบการร้านอาหารแฟรนไชส์รายอื่นๆ ต้องหันมาเล่นสงกรานต์ราคาตามไปด้วย สำหรับแนวโน้มตลาดร้านแฟรนไชส์ที่สำคัญในช่วงปี 2552 พอจะแบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้
          1) การตัดราคาและการเพิ่มรายการสินค้าที่ราคาต่ำกว่าเดิม
          โดยการนำของเฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่อย่างแมคโดนัลด์ ที่ส่งให้ร้านอาหารฟาดฟูดส์รายอื่นๆ ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ ทั้ง Yoshinoya ร้านขาวชื่อดังของญี่ปุ่น KFC ไก่ทอดชื่อดัง Shan Shang Chiao Fu ร้านหมี่เนื้อวัวแบรนด์ไต้หวัน รวมไปจนถึง Formasa Chang ซึ่งเป็นร้านขายข้าวแบบไต้หวัน ต่างก็พาเหรดกันออกแคมเปญลดราคากันยกใหญ่ และคาดว่าภาวะการแข่งขันด้านราคาอันดุเดือดนี้ จะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจของภาครัฐจะกลับมาแสดงตัวเลขสวยๆ อีกครั้ง แน่นอนว่าในสงครามราคาแบบนี้ ผู้ที่เงินทุนไม่สูงพออาจจะค่อยๆ ถูกขับออกมาจากตลาด
          อย่างไรก็ดี มีผู้ประกอบการบางรายหันมาใช้ กลยุทธ์การเพิ่มรายการอาหารที่มีราคาถูก โดยออกเมนูใหม่ที่มีคุณภาพเท่าเดิมหรือด้อยกว่าเมนูเก่า แต่จำหน่ายในราคาที่ถูกลง เช่นเซ็นเมนูรายการใหม่ของ Pin Tian ร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ไต้หวันที่จับลูกค้าในระดับ Medium-High หรือ MOS Burger แฮมเบอร์เกอร์ชื่อดังของญี่ปุ่น และเชนร้านกาแฟชื่อดังของไต้หวันทั้ง Dante Coffec และ Ikari Coffee ที่ต่างก็ทยอยออกเซ็ตเมนูในราคาประมาณ 100 เหรียญไต้หวัน รวมไปถึง Pizza Hut และ Dominos Pizza ร้านขายพิซซ่ายักษ์ใหญ่ ต่างก็ออกพิซซ่ารสชาติใหม่ในราคาลดลงจากเดิมร้อยละ 50 แต่ทั้งนี้ การใช้ปัจจัยที่จะส่งผลกลยุทธ์แบบนี้ประสบความสำเร็จอยู่ที่ว่าใครจะสามารถทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้อย่างชัดเจนว่าคุณค่าของสินค้านั้น สูงกว่าราคาที่จ่ายไปจริงๆ
          2) การแบ่งส่วนตลาดที่ละเอียดยิ่งขึ้นและการให้บริการข้ามส่วนตลาด
          ที่ผ่านมาการแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจับกลุ่มลูกค้าให้เป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำ เช่นร้านอาหารหลากหลายแบรนด์ในเครือของ Wang Steak ก็ถูกแบ่งโดยใช้ราคาและกลุ่มสินค้าที่แตกต่างมาให้บริการกลุ่มลูกค้าในระดับ และความชอบที่ต่างกัน ร้านกาแฟชื่อดังของไต้หวันอย่าง 85C ก็จะจับกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบเครื่องดื่มประเภทกาแฟแต่ไม่ได้อยู่ในประเภทคลั่งไคล้หรืออย่าง MOS Burger ก็จะจับกลุ่มลูกค้าในประเภทคนเมือง รวมไปจนถึง PX Mart ซุปเปอร์มาร์เก็ตราคาถูก ก็จะเน้นการให้บริการกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับราคาสินค้ามากที่สุดเป็นหลัก หรือการที่ร้านสะดวกซื้อหันมาจำหน่ายเครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวก็เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่นและวัยทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้แล้วก็ยังมีแฟรนไชส์หลายแปรนด์ทีเดียวที่พยายามบุกเบิกตลาดใหม่ โดยให้บริการลูกค้าแบบข้ามส่วนตลาดมากขึ้น เช่นในช่วงหลายปีมานี้ร้านสะดวกซื้อมีการเพิ่มการบริการรายบุคคล รวมไปจนถึงการขายอาหารจานด่วนแข่งกับร้านอาหารฟาดฟู้ดส์ และการขายกาแฟแข่งกับร้านกาแฟ หรือการที่ McDonald ได้ออกแบรนด์ McCafe เพื่อแข่งขันกับ Chain ร้านกาแฟยักษ์ใหญ่อย่าง Starbucks และแม้แต่ San Shang และ Mr.Donut ก็มีเมนูอาหารเช้ามาแข่งกับร้านอาหารเช้าที่มีอยู่มากมาย นอกจากนี้ My Warm Day และ Laya Burger ที่เน้นการขายอาหารเช้าเป็นหลัก ก็หันมาจับตลาดในส่วนของอาหารกลางวันและอาหารเย็นด้วย ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของผู้ประกอบการที่จะขยายฐานลูกค้าและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้มากยิ่ขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับความสามารถของผู้ประกอบการเองด้วยว่าจะสามารถรองรับการให้บริการในกลุ่มลูกค้าที่เพิ่มขึ้นมาใหม่นี้ได้ดีเพียงใด
          3) การนำเสนอบริการในรูปแบบใหม่ๆ
          จากการที่วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการลดลงเรื่อยๆ จนทำให้แฟรนไชส์จำนวนมากในไต้หวันหันมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินกิจการ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบจากความแตกต่าง โดยการสร้างสรรค์และนำเสนอบริการในรูปแบบใหม่ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสิ่งใหม่ๆ ที่ถูกนำเข้ามาใช้ในธุรกิจนั้นอาจมีทั้งที่เป็นการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้งาน เช่น ร้านสะดวกซื้อ OK-Mart ที่ออกโครงการ Q-Shop ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช้พนักงานขายหรือ โรงแรม Evergreen Laurel ที่ลงทุนเปิดร้านขายไวน์อัตโนมัต Dr.Win ซึ่งมีกาติดตั้งเครื่องเลือกไวน์สำหรบให้ผู้ใช้บริการเลือกรายการอาหารที่จะรับประทานร่วมกับไวน์ โดยเครื่องจะทำการเลือกไวน์ที่เข้ากับอาหารในราคาทีเหมาะสมที่จะรับประทานร่วมกับไวน์ โดยเครื่องจะทำการเลือกไวน์ที่เข้ากับอาหารในราคารที่เหมาะสมให้ นอกจากนี้ก็ยังมี Chain ขายโทรศัพท์มือถือชื่อดังอย่าง Aurora ที่นำเอาระบบ A-Smart มาให้บริการ เพื่อช่วยให้ผู้บริการสามารถเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือได้ตรงความต้องการนอกจากนี้ยังมีบริการเสริมในส่วนของการสอนการใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ ของเครื่องโทรศัพท์ด้วยระบบ 3D และอื่นๆ อีกด้วย และสำหรับ RT-Mart ห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 2 ของไต้หวันก็ได้หันมาพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซเพื่อขายสินค้าทางเวปไซด์ทีเพิ่มขึ้นในอีกทางหนึ่งด้วย และจากปัจจัยในด้านแรงกดดันจากการแข่งขันที่ยังคงมีอยู่ในตลาดเสมอ เชื่อว่าผู้ประกอบการต่างก็จะต้องไม่หยุดยั้งในการพัฒนาและคิดค้นบริการในรูปแบบใหม่ๆ ของมารองรับอย่างแน่นอน
          4) ตลาดที่อิ่มตัวมีแนวโน้มจะค่อยๆ กลายเป็นตลาดผูกขาด
          ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐ หรือยุโรป แฟรนไชส์ที่มีขนาดใหญ่ก็มักจะใหญ่อยู่ตลอดไป ซึ่งในไต้หวันก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าจากการที่ Family-Mart ร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไต้หวันได้ซื้อกิจการของ Niko-Mart ที่เป็นร้านสะดวกซื้อแบรนด์ท้องถิ่น หรือการที่คาร์ฟู ไฮเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ก็ซื้อกิจการของ Makro และ Tesco ในไต้หวันจนทำให้คาร์ฟูกลายเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีจำนวนสาขาและยอดจำหน่ายสูงที่สุดในไต้หวัน รวมไปจนถึงการที่ห้างสรรพสินค้า Shin Kong Mitcukoshi ซื้อกิจการของห้าง IDEE ปรากฎการณ์เหล่านี้ต่างสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มดังกล่าว จนคาดว่าท้ายที่สุดแล้ว ในแต่ละประเภทธุรกิจจะเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ประมาณ 2-3 ราย แข่งขันกันเท่านั้น
          5) การสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง (Private Brand)
          จากการที่ขนาดของธุรกิจแฟรนไชส์มีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อ (7-11, Family-mart, Hi-Life และ OK-Mart) รวมไปจนถึงไฮเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ (Carrefour, RT-Mart, Geant และ Costco) และซุปเปอร์มาร์เก็ต (Matsui, Wellcome) ในไต้หวันต่างก็ให้ความสำคัญกับพัฒนาสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้ก็ยังเกิดขึ้นในธุรกิจอื่นด้วย เช่น Cosmed และ Watson's ที่เป็น Chain ร้านยาชื่อดัง ก็เริ่มหันมาขายสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเองเช่นเดียวกัน และเนื่องจากข้อได้เปรียบด้านราคาและช่องทางการจำหน่ายสินค้า Private Brand เหล่านี้จึงมีโอกาสกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของสินค้านั้นๆ ในตลาดอย่างแน่นอน
          6) การเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ของกลุ่ม White Coller
          จากการที่ภาวะเศรษฐกิจในไต้หวันต้องตกอยู่ในภาวะซบเซาตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาทำให้เกิดกระแสการปลดพนักงานของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมไฮเทค จนส่งให้พนักงานระดับบริหาร (White Collar) เหล่านี้หันมาประกอบธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น และจากความรู้และเข้าใจในการประกอบธุรกิจของคนกลุ่มนี้จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของตลาดแฟรนไชส์ที่มีอยู่ให้เพิ่มขึ้นได้มาก รวมทั้งอาจส่งผลให้สามารถขยายกิจการในรูปแบบของ Multi-Unit Franchising ได้มากยิ่งขึ้นด้วย แต่จากการที่เถ้าแก่หน้าใหม่เหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารกิจการในระดับหนึ่งอยู่แล้ว จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาบ้างในส่วนของการปฏิบัติตามกระบวนการมาตรฐานของแฟรนไชส์ (Standard Operation Process) ที่อาจจะไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกับที่บริษัทแม่ต้องการทั้งหมด
          7) การขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ
          จากกระแสความอิ่มตัวของตลาดแฟรนไชส์ในประเทศ การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศจึงถือเป็นแนวทางที่สำคัญของแฟรนไชส์ต่างๆ ในไต้หวัน โดยตลาดที่ส่วนใหญ่จะนึกถึงตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีแฟรนไชส์ของไต้หวันจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการขยายกิจการไปยังประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น les enphants (ยักษ์ใหญของไต้หวันด้านผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่ปัจจุบันนี้กลายเป็นแบรนด์อินเตอร์ไปแล้ว) Mentor (Chain ร้านตัดผม) Daphne (แบรนด์รองเท้าของไต้หวันที่ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดรองเท้าสตรีที่มากที่สุดในประเทศจีน) Natural Beauty (ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและสปา) RT-Mart (Hypemarket) 7-11 (ร้านสะดวกซื้อซึ่งกลุ่ม President ผู้ถือลิขสิทธิ์ในไต้หวันได้สิทธิ์ในการดำเนินกิจการในจีนด้วย) C-Store (ร้านสะดวกซื้อ) Family-mart (ร้านสะดวกซื้อ) Wang Steak (ร้านสเต็ก) Ding Tai Fung (ภัตตาคารจีน) Yung Ho (ร้านฟาดฟู้ดส์อาหารจีน) 85C (ร้านกาแฟ) Zoe (ร้านอาหารญี่ปุ่น) โดยแบรนด์เหล่านี้ต่างก็ได้รับการยอมรับและสามารถสร้าบฐานลูกค้าในจีนได้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เช่น 7-11 เองก็ประกาเป้าหมายว่าจะตั้งสาขาในนครเซี่ยงไฮ้มากถึง 100 สาขา และจากศักยภาพของแฟรนไชส์ไต้หวันที่มีอยู่ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

3. ข้อแนะนำ
          จุดร่วมอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการไต้หวันที่ประสบความสำเร็จในการขยายแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ก็คือ สามารถสร้างความสำเร็จของธุรกิจของตนในไต้หวันได้ก่อน แล้วจึงอาศัยข้อได้เปรียบด้านภาษาที่พูดภาษาจีนเหมือนกัน และมี Know-how ในการประกอบกิจการที่ดีกว่า ประกอบกับการยอมรับของผู้บริโภคจีนที่มี่อแบรนด์ไต้หวันนั้น ทำให้สินค้าไต้หวันได้รับการยอมรับในวงกว้างอีกทั้งการขยายกิจการก็เป็นการลงทุนเปิดสาขาเอง ทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนที่อยากซื้อแฟรนไชส์ได้มีโอกาสเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมกว่า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถอาศัย Model Taiwan ในการประกอบธุรกิจแบบเดียวกันนี้ โดยอาศัยไต้หวันเป็นกระดานหกในการเข้าสู่ตลาดจีนได้ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการไต้หวันและเข้ามาบุกเบิกตลาดไต้หวันอย่างจริงจัง จนเมื่อสามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในไต้หวันแล้ว ก็จะสามารถอาศัยความสำเร็จชั้นต้นนี้ เป็นบันไดก้าวกระโดดสู่ตลาดจีนได้ต่อไป


          สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

          ที่มา: http://www.depthai.go.th

แท็ก ไต้หวัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ