รายงานภาวะการส่งออกสินค้าไทยมายังประเทศออสเตรเลีย มกราคม — ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 11, 2010 16:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปี 2552 ออสเตรเลียนำเข้าจากทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 159,266 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยการนำเข้าจากประเทศต่างๆใน 10 อันดับแรกลดลงทั้งหมด ยกเว้นการนำเข้าจากประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 คิดเป็นมูลค่านำเข้า 9,245 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยครองตลาดเป็นลำดับที่ 4 มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 5.81 เป็นรองจากจีน (17.94%) สหรัฐฯ (11.03%) ญี่ปุ่น (8.36%) ตามลำดับ

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของการนำเข้าจากประเทศอื่นใน 10 อันดับแรกเป็นลบทั้งสิ้น ได้แก่ จีน (-2.76 %) สหรัฐฯ (-22.26%) ญี่ปุ่น (-22.92%) สิงคโปร์ (-36.30%) เยอรมัน (-12.56%) มาเลเซีย (-20.81%) เกาหลีใต้ (-2.78%) นิวซีแลนด์ (-18.69%) และนิวซีแลนด์ (-18.69%) เป็นต้น

2. สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย

ปี 2552 สินค้านำเข้าสำคัญจากไทยเป็นสินค้าในหมวด ยานยนต์ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2,431 ล้านเหรียญฯ หรือร้อยละ 26.30 อันดับสองได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (พิกัด 84) ซึ่งสินค้าสำคัญในหมวดนี้ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องกรองฯ (centrifuge) เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วน มีมูลค่านำเข้า ในหมวดนี้ 2,194 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.73 ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 108 อันดับสามได้แก่ อัญมณี โดยร้อยละ 91 เป็นทองคำ มูลค่าของสินค้าในหมวดนี้รวม 2,120.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 22.94 ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด โดยขยายตัวถึงร้อยละ 47.83 อันดับต่อมาได้แก่ เครื่องจักร ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (พิกัด 85) โดยออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 333.3 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.61 ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด ขยายตัวร้อยละ 2.79 เทียบกับปีที่ผ่านมาส่วนกลุ่มอาหาร มีหมวดผลิตภัณฑ์ปลา/อาหารทะเลแปรรูป (พิกัด 16) และข้าวเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปลา/อาหารทะเลแปรรูปมีการหดตัวในอัตราร้อยละ 9.42 ในขณะที่ข้าวขยายตัวร้อยละ 2.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

3. การส่งออกจากออสเตรเลียไปไทย

ในปี 2552 ไทยเป็นตลาดสำคัญอันดับ 10 ของออสเตรเลีย คิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 3,364.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับร้อยละ 2.18 ของการส่งออกทั้งหมดของออสเตรเลียไปยังตลาดโลก (มูลค่า 154,107 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) หดตัวลงร้อยละ 26.17 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยตลาดหลักของออสเตรเลียยังคงเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐฯ และ สหราชอาณาจักร ตามลำดับ

สินค้าส่งออกหลักของออสเตรเลีย (ร้อยละ 65 ของการส่งออกทั้งหมด) ได้แก่ แร่ธาตุ และเชื้อเพลิง อาทิ ถ่านหิน แร่เหล็ก ทองคำ น้ำมันและแก๊ส อลูมิเนียม แร่ทองแดง เป็นต้น

ในส่วนของสินค้าที่ส่งออกไปไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดแร่ธาตุและเชื้อเพลิงที่สำคัญ ได้แก่ ทองคำ (28.83%) น้ำมันดิบ (22.36%) อลูมิเนียม (11.28%) สินค้าประเภทยา (4.68%) เครื่องจักร (2.80%) ตามด้วย ทองแดง (2.74%) และฝ้ายและเส้นใย (2.66%) สำหรับนม/ครีมมีเพียงร้อยละ 1.50 โดย ไทยนำเข้าจากออสเตรเลียลดลงร้อยละ 39.85 จากปีที่ผ่านมา

4. ดุลการค้าระหว่างไทย-ออสเตรเลีย

ในปี 2552 ออสเตรเลียขาดดุลการค้ากับทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 5,159 ล้านเหรียญฯ โดยออสเตรเลียขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ กว่า 9.9 พันล้านเหรียญฯ เยอรมนี 7.1 พันล้านเหรียญฯ ไทย 5.8 พันล้านเหรียญฯ สิงคโปร์ 4.5 พันล้านเหรียญฯ และอิตาลี 3 พันล้านเหรียญฯ โดยไทยได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 45

ในขณะเดียวกัน ประเทศที่ออสเตรเลียได้ดุลการค้าด้วยมากที่สุด ได้แก่ญี่ปุ่น 16.4 พันล้านเหรียญฯ อินเดีย 9.9 พันล้านเหรียญฯ เกาหลีใต้ 6.9 พันล้านเหรียญฯ จีน 4.8 พันล้านเหรียญฯ และไต้หวัน 2.4 พันล้านเหรียญฯ

5. ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย

(1) หมวดสินค้าอุตสาหกรรม

  • ยานยนต์ ในหมวดนี้โดยรวม ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 2 โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่ง และเยอรมันเป็นอันดับ 3 โดยในปี 52 ออสเตรเลียนำเข้าสินค้ายานยนต์เป็นมูลค่า 16,822 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 27.53 คู่แข่งสำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ทั้งนี้ หมวดสินค้ารถบรรทุกปิกอัพ (HS 8704) ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 1 มีมูลค่าการนำเข้า 1,754 ล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 11.42 จากปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนตลาดที่ร้อยละ 50.37 ในขณะที่ หมวดสินค้ารถยนต์ส่วนบุคคล(HS 8703) ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 4 เป็นมูลค่า 524.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 46.73 จากปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนตลาดที่ร้อยละ 5.52 ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ
  • เครื่องปรับอากาศ (HS 8415) ในช่วงปี 2552 ออสเตรเลียนำเข้าสินค้านี้ทั้งสิ้น 775.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้าลดลงร้อยละ 2.67 จากปีที่แล้ว ประเทศคู่แข่ง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และนิวซีแลนด์ โดยออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่หนึ่ง มีมูลค่ารวม 296.9 ล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 4.14 จากปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนตลาดสูงถึงร้อยละ 38.28 ในขณะที่การนำเข้าจากจีนซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญขยายตัวร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
  • ชิ้นส่วนยานยนต์ (HS : 8708) ประเทศคู่แข่ง ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน เยอรมนี เม็กซิโก เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สวีเดน และไต้หวัน โดยออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ห้า มีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ร้อยละ 7.57 มูลค่า 120.5 ล้านเหรียญฯ หดตัวจากปีที่แล้ว ถึงร้อยละ 25.94 ในปี 2552 ออสเตรเลียนำเข้าสินค้านี้ทั้งสิ้น 1,591 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้าลดลงร้อยละ 27.41 จากปีที่แล้ว

(2) หมวดสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม

  • เนื้อปลาที่ผ่านการแปรรูปแล้ว (HS : 1604) ในช่วงปี 2552 ออสเตรเลียนำเข้าสินค้านี้ทั้งสิ้น 305.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้าลดลงร้อยละ 10.81 จากปีที่แล้ว ไทยเป็นผู้ครองตลาดอันดับหนึ่ง รวมเป็นมูลค่า169.95 ล้านเหรียญฯ นำเข้าลดลงร้อยละ 17.42 จากปีที่แล้ว มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 55.58 คู่แข่งที่สำคัญของไทย ได้แก่ นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ มาเลเซีย และจีน เป็นต้น
  • ข้าวสาร(HS 1006) ในปี 2552 ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 101 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.48 มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 54.12 ตามด้วย สหรัฐอเมริกา อินเดีย ปากีสถาน และสเปน

โดยออสเตรเลียนำเข้ารวม 187.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.91 จากปีที่แล้วนอกจากนี้ พบว่าออสเตรเลียนำเข้าข้าวจากหลายประเทศลดลง ยกเว้น ไทย สหรัฐ สเปน เกาหลีใต้ และเวียดนามอย่างไรก็ตาม ข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสเปนทั้งหมดเป็นข้าวเมล็ดสั้น-กลาง ส่วนเวียดนามมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 111 แต่ก็มีมูลค่านำเข้าเพียง 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ1.56 เท่านั้น

-กุ้ง (Crustaceans-HS 0306) ในปี 2552 ออสเตรเลียนำเข้ากุ้งทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 146.84 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 26.54 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับสองเป็นมูลค่า 33.45 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 22.09 นำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 1 เป็นมูลค่า 37.54 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 59.69 อันดับสามได้แก่เวียดนาม เป็นมูลค่า 26.29 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.05 ตามด้วยอินโดนีเซีย เป็นมูลค่า 17.56 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 333

โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ