รายงานภาวะการค้าไทย-นิวซีแลนด์ มกราคม —ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 11, 2010 16:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถิติการนำเข้าของนิวซีแลนด์

ในปี 2552 นิวซีแลนด์นำเข้าจากทั่วโลกเป็นมูลค่า 25.62 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 25.42 มีเพียงการนำเข้าจากฝรั่งเศสที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น (ในกลุ่มประเทศนำเข้าหลัก 20 อันดับแรก) โดยในส่วนของประเทศฝรั่งเศสเป็นผลจากการนำเข้าเครื่องบิน สำหรับประเทศไทย นิวซีแลนด์นำเข้า ลดลงร้อยละ 27.46 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่านำเข้า 680 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ประเทศที่นิวซีแลนด์นำเข้ามากที่สุดได้แก่ ออสเตรเลีย (18.50%) จีน (15.10%) สหรัฐฯ (10.79%) ญี่ปุ่น (7.30%) เยอรมนี (4.18%) สิงคโปร์ (4.01%) เกาหลีใต้ (3.37%) ฝรั่งเศส (3.28%) และมาเลเซีย (2.73%) ตามลำดับ โดยไทยครองตลาดเป็นลำดับที่ 10 มีสัดส่วนตลาด 2.66%

2. สินค้านำเข้าสำคัญของนิวซีแลนด์

ในปี 2552 สินค้านำเข้าสำคัญของนิวซีแลนด์จากทั่วโลกได้แก่ น้ำมันและเชื้อเพลิง เป็นสัดส่วนร้อยละ 14.59 ของมูลค่านำเข้ารวมจากทั่วโลก ตามด้วย เครื่องจักรและเครื่องใช้กล (12.55%) อุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ (10.05%) ยานยนต์ (7.95%) เครื่องบิน (4.02%) เป็นต้น

สินค้านำเข้าสำคัญจากไทยในปี 2552 ยังคงเป็นสินค้าในหมวดยานยนต์ เป็น มูลค่า 144.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 21.17 ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด ลดลงถึงกว่าร้อยละ 48.34 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อันดับสอง ได้แก่ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 17.56 ของการนำเข้าทั้งหมดจากไทย คิดเป็น มูลค่า 119.56 ล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 11.10 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

อันดับสามได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวมในกลุ่มนี้เท่ากับ 77 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นร้อยละ 11.32 ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 38.02 สินค้าที่มีการนำเข้าสูงจากไทยตามมาได้แก่ อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ อาหารทะเลแปรรูป ยางและผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอางและน้ำหอมข้าว และปลาและอาหารทะเล ตามลำดับ

3. การส่งออกของนิวซีแลนด์

ในช่วงปี 2552 นิวซีแลนด์ส่งออกสินค้าไปทั่วโลกเป็นมูลค่า 23.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 19 โดยตลาดหลักของนิวซีแลนด์ยังคงเป็น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน ตามลำดับ โดย สินค้าส่งออกสำคัญของนิวซีแลนด์ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตรประเภท นม น้ำผึ้ง เนื้อสัตว์ ไม้ เป็นต้น

ในปี 2552 ไทยเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 20 ของนิวซีแลนด์คิดเป็นมูลค่าประมาณ 279.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับร้อยละ 1.18 ของการส่งออกทั้งหมดของนิวซีแลนด์ไปยังตลาดโลก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 51.69 สินค้าที่ส่งออกไปไทยที่สำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตร อาทิ นม น้ำผึ้ง แป้งทำขนม เยื่อไม้ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น

4. ดุลการค้าระหว่างไทย-นิวซีแลนด์

ในปี 2552 นิวซีแลนด์ได้ดุลการค้ากับทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 714 ล้านเหรียญฯ ประเทศที่นิวซีแลนด์ได้ดุลการค้าด้วยมากที่สุดที่สำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย 1,052 ล้านเหรียญฯ สหราชอาณาจักร 480 ล้านเหรียญฯ และ ฮ่องกง 403 ล้านเหรียญฯ ประเทศที่นิวซีแลนด์ขาดดุลการค้าด้วยมากที่สุด ได้แก่ จีน เป็นมูลค่าประมาณ 1,396 ล้านเหรียญฯ การ์ตา 553 ล้านเหรียญสหรัฐ และฝรั่งเศส 544 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับประเทศไทย นิวซีแลนด์ขาดดุลให้ไทย 358 ล้านเหรียญฯ ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 24.51

5. ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย

(1) หมวดสินค้าอุตสาหกรรม

  • ยานยนต์ โดยภาพรวมแล้ว ในปี 2552 นิวซีแลนด์นำเข้ายานยนต์เป็นมูลค่า 2,076 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 42 ไทยครองอันดับ 4 ในตลาดรถยนต์นำเข้าของประเทศนิวซีแลนด์ มูลค่า 144 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.94 คู่แข่งสำคัญของไทย ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในหมวด สินค้ารถบรรทุกปิกอัพ (8704) นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 1 เป็นมูลค่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 60 มีสัดส่วนตลาดที่ร้อยละ 33.58 รองลงมาเป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 88.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 60 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 32.97 แต่ในหมวดสินค้ารถยนต์ส่วนบุคคล (8703) คู่แข่งสำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมัน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยไทยเป็นลำดับที่ 6 มูลค่า 42.90 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 7.42 มีส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 3.35

  • เครื่องจักรและเครื่องใช้กล (พิกัด 84) ที่สำคัญได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องพิมพ์ ส่วนประกอบอุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น นิวซีแลนด์นำเข้าสินค้าในหมวดนี้ทั้งสิ้น 3,174 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 28.22 โดยนำเข้าจากประเทศ จีน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เยอรมัน ญี่ปุ่น และไทย นิวซีแลนด์นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 6 มูลค่า 119.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 11.10 คิดเป็นสัดส่วนตลาดร้อยละ 3.77
  • พลาสติก (พิกัด 39) เช่น เอธิลีน จานพลาสติค ถุง กล่องพลาสติก และไวนิลคลอไรด์เป็นต้น นิวซีแลนด์นำเข้าสินค้าในหมวดนี้ทั้งสิ้น 952.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 21.58 ประเทศที่เป็นคู่แข่งกับไทยได้แก่ ออสเตรเลีย จีน สหรัฐฯ โดยนิวซีแลนด์นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 4 มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 8.10 คิดเป็นมูลค่า 77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 38

(2) หมวดสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม

  • เนื้อปลาที่ผ่านการแปรรูปแล้ว (HS: 1604) ไทยเป็นผู้ครองตลาดอันดับหนึ่งของตลาดนำเข้านิวซีแลนด์ โดยมีคู่แข่งที่สำคัญ คือ แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน และเวียดนาม ตามลำดับนิวซีแลนด์นำเข้าสินค้าในหมวดนี้ทั้งสิ้น 41.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 18.16 การนำเข้าจากไทยมีมูลค่ารวม 21.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 53.04 การนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทย หดตัวจากปีที่แล้วร้อยละ 20.71
  • ข้าวสาร (HS: 1006) กว่าร้อยละ 91.9 ของการนำเข้าของนิวซีแลนด์เป็นข้าวสารที่ผ่านการสี-แปรสภาพแล้ว (semi/milled) โดยมีเพียงเล็กน้อยที่เป็นข้าว Brown/Husk และข้าวหัก โดยในปี 2552 นิวซีแลนด์นำเข้าข้าวสารทั้งสิ้น 41,983 ตัน คิดเป็นมูลค่า 46.98 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ
2.73 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง เป็นปริมาณ 18,007 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1,463 ตันหรือร้อยละ 8.84 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าข้าวจากไทยทั้งสิ้น 16.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.02 และมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 35.66 โดยประเทศที่มีมูลค่านำเข้าเป็นอันดับสองคือ ออสเตรเลียคู่แข่งสำคัญอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และอินเดีย เป็นต้น

กุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้ง (HS: 0306) ปัจจุบันนิวซีแลนด์นำเข้าสินค้าในหมวดนี้ทั้งสิ้น 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 14.33 โดยนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 1 โดยมีสัดส่วนตลาดถึงร้อยละ 43.12 มูลค่านำเข้า 8.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 10.97 โดยมีคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม จีน และออสเตรเลีย

โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ