ประกาศกรมศุลกากรออสเตรเลีย เรื่องการควบคุมการนำเข้าเครื่องผลิตยาอัดเม็ด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 11, 2010 16:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประกาศกรมศุลกากรออสเตรเลีย เรื่องการควบคุมการนำเข้าเครื่องผลิตยาอัดเม็ด คำนิยามมูลค่าการนำเข้าสำหรับพิธีการศุลกากร และการเปลี่ยนแปลงวันที่สิ้นสุดสำหรับสินค้าในกลุ่ม 53 C, 61 และ 73 สำหรับสินค้าที่เป็น concessional items ตามตารางภาษีศุลกากร 4

สำนักงานฯ ซิดนีย์ขอแจ้งประกาศกรมศุลกากรออสเตรเลีย เรื่องการควบคุมการนำเข้าเครื่องผลิตยาอัดเม็ด คำนิยามมูลค่าการนำเข้าสำหรับพิธีการศุลกากร และการเปลี่ยนแปลงวันที่สิ้นสุดสำหรับสินค้าในกลุ่ม 53 C, 61 และ 73 สำหรับสินค้าที่เป็น concessional items ตามตารางภาษีศุลกากร 4 ดังนี้

1. การควบคุมการนำเข้าเครื่องผลิตยาอัดเม็ด ตามประกาศกรมศุลกากร ออสเตรเลีย เลขที่ 2010/07 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ออสเตรเลียประกาศควบคุมการ นำเข้าเครื่องผลิตยาอัดเม็ด ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาการผลิตยาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเครื่องนี้กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากจากกลุ่มนอกกฎหมายในประเทศ โดยเครื่องที่กรมศุลกากรฯ ต้องการควบคุมการนำเข้าเป็นเครื่องซึ่งใช้สำหรับอัด หรือเป็นแม่พิมพ์สำหรับผงยาเพื่อผลิตเป็นยาเม็ด ทั้งนี้ไม่รวมถึงส่วนประกอบของเครื่อง และเครื่องผลิตยาแคปซูลโดยผู้ที่สามารถนำเข้าได้จะต้องเป็นเป็นผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งใบอนุญาตจะระบุถึงเงื่อนไขเช่น ระยะเวลา/จำนวนที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าได้ เป็นต้น รายละเอียด ปรากฏตามเอกสารแนบ 1 (ประกาศกรมศุลกากรเลขที่ 2010/07)

2. คำนิยามมูลค่าการนำเข้าสำหรับพิธีการศุลกากร (import sales transaction) หลังจากที่มีประกาศใช้ข้อตกลง AANZFTA แล้วกรมศุลกากรฯได้รับ คำถามจากผู้นำเข้าและ customs broker หลายรายเรื่องมูลค่า FOB price บนใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ไม่ตรงกับ Invoice กรมศุลกากรตรวจสอบแล้วพบว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากความไม่ถูกต้องของตัวเลขบน C/O แต่เกิดจากการใช้ invoice ผิดประเภท โดย ผู้นำเข้า/ customs broker ได้ใช้ invoice สินค้าที่ขายต่อให้กับผู้รับปลายทางภายในประเทศยื่นพิธีการ (สินค้าส่งจากต่างประเทศไปยังโรงงานผู้รับโดยตรง แต่การซื้อขายผ่านผู้นำเข้าซึ่งได้บวกค่าตอบแทนไปแล้ว) ซึ่งทำให้มูลค่าการนำเข้าไม่ตรงกับบนใบ C/O จึงได้ออกประกาศนิยามมูลค่าการนำเข้าสำหรับพิธีการศุลกากรใหม่เพื่อความเข้าใจให้ตรงกัน โดยมูลค่าการนำเข้า หมายถึง มูลค่าของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศออสเตรเลีย ไม่ได้หมายถึงมูลค่าที่เรียกเก็บจากผู้รับสินค้าปลายทาง รายละเอียด ปรากฏตามเอกสารแนบ 2 (ประกาศกรมศุลกากรเลขที่ 2010/13)

3. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขอัตราภาษีศุลกากร (หมายเลข 1) ปี 2010 ถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 โดยเมื่อมีการประกาศใช้ จะมีผลต่อการแก้ไข พรบ.อัตราภาษีศุลกากร 1995 (Customs Tariff Act 1995) โดยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวันที่สิ้นสุดการลดหย่อนภาษีสำหรับสินค้าในกลุ่ม 53 C, 61 และ 73 ในตารางภาษีศุลกากร 4 ดังนี้

3.1 กลุ่ม 53 C พรบ.อัตราภาษีศุลกากรฯกำหนดกลไกลดภาษีจาก 10% เป็น 5% สำหรับสินค้าในกลุ่ม item 53 C ในตารางภาษีศุลกากร 4 ที่นำเข้าเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและมิใช่เพื่อนำมาเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 อัตราภาษียานยนต์และชิ้นส่วนได้ลดจาก 10% เป็น 5% แล้ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนกรมศุลกากรจึงจะเพิ่มวันสิ้นสุดสำหรับกลไกการลดภาษีสินค้ากลุ่ม 53 C โดยให้สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 (รายละเอียดสินค้ากลุ่ม 53 C ดังเอกสารแนบ 3)

3.2 กลุ่ม 61 และ 73 เดิมพรบ.ฯกำหนดกลไกลดภาษีให้กับสินค้ากลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มเสื้อผ้า ผ้าผืน และรองเท้า ดังนี้

  • กลุ่ม 61 ภายใต้ the Expanded Overseas Assembly Provisions —EOAP โดยสินค้ากลุ่มนี้จะได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้า หากใช้ผ้าที่ผลิตในประเทศออสเตรเลียและนำกลับเข้ามายังออสเตรเลีย โดยภายใต้ร่างพรบ.แก้ไขฯ เพิ่มข้อกำหนดว่า สินค้าต้องนำเข้ามาเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนก่อนหรือในวันที่ 30 มิถุนายน 2553 และกำหนดวันสิ้นสุดการได้รับลดหย่อนภาษีลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2553
  • กลุ่ม 73 ภายใต้ The Product Diversification Scheme-PDS โครงการนี้กำหนดให้สินค้าในกลุ่มดังกล่าวที่มีการผลิตเพิ่มในออสเตรเลียได้รับ duty credits ซึ่งสามารถนำมาใช้ลดภาษีนำเข้าของสินค้าในกลุ่ม 73 ได้ ทั้งนี้ การผลิตเพื่อรับ duty credits จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ซึ่งพรบ.แก้ไขฯ ได้ระบุวันสิ้นสุดการนำ Credit ที่ได้รับมาใช้ลดภาษีได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครซิดนีย์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ