ญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารให้เป็น 50% ภายในปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 11, 2010 16:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ญี่ปุ่นเป็นตลาดขนาดใหญ่แต่สามารถผลิตอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศได้เพียง 41 % (คำนวนบนพื้นฐานของปริมาณแคลอรี่ที่ใช้บริโภคต่อปี)โดยในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นสามารถรักษาอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารไว้ได้ที่ราว 40% หลังจากที่อัตราดังกล่าวลดลงอย่างมากจาก 73 % เหลือเพียง 43 % ในระยะเวลา 30 ปี (พ.ศ. 2508- 2538) อัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารจำแนกตามผลิตผลที่สำคัญ มีดังนี้ ข้าว 95% (ข้าวสำหรับบริโภคในครัวเรือน 100%) ข้าวสาลี 14% ข้าวบาร์เล่ย์ 11% ถั่วต่างๆ 9% ผลไม้ 41% เนื้อสัตว์ 56% อาหารทะเล 53% และน้ำตาล 38% ทั้งนี้ ผลิตผลส่วนใหญ่มีแนวโน้มอัตราการพึ่งพาตนเองลดลง หรือคงที่ มีเพียงบางรายการ เช่น ข้าว สาลี ถั่วและน้ำตาลที่อัตราการพึ่งพาตนเองขยับสูงขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่น โดยพรรค Democratic Party of Japan (DPJ) ของญี่ปุ่นโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงร่างแผนพึ่งพาตนเองด้านอาหาร เพื่อหวังจะกระตุ้นอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารจากอัตราที่เป็นอยู่ร้อยละ 41 ให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ภายในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2563) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สูงกว่าเป้าหมายที่ รัฐบาล LDP เคยตั้งเอาไว้ถึง 5% แผนการพึ่งพาตนเองด้านอาหารนี้จะมุ่งเน้นการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกษตรกรสามารถดำรงอาชีพเกษตรกรอยู่ต่อไปได้ ซึ่งครอบคลุมการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรของประเทศทั้งด้านการผลิตและการบริโภค (เช่น ปัญหาการทิ้งร้างที่ดินการเกษตร และนิสัยการไม่บริโภคอาหารเช้าของคนทำงาน) การนำเอาโครงการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรเข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ และการจัดตั้งหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารให้เป็นองค์กรเดียวจากเดิมที่เคยมีอยู่หลายหน่วยงานขึ้นกับกระทรวงต่างๆ

โครงการชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรมีแผนที่จะเริ่มจากการชดเชยรายได้ให้กับชาวนา โดยจะเริ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2553 นี้ และจะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมเกษตรกรอื่นๆ ที่ปลูกพืชที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น ข้าว สาลีและถั่ว เป็นต้น ในปีงบประมาณ 2554

การชดเชยรายได้ให้กับชาวนาภายใต้แผนที่กำหนด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1. เบื้องต้น ชาวนาที่ปลูกข้าวจะได้รับเงิน 15,000 เยนต่อพื้นที่ 1 Are (100m2)

2. หลังการเก็บเกี่ยวผลิตผลแล้วหากราคาข้าวที่ขายไปต่ำกว่าราคามาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด รัฐบาลจะจ่ายเงินส่วนต่างให้

โดยวิธีการจ่ายเงินจะเป็นการจ่ายเงินโดยรัฐบาลท้องถิ่นให้กับเกษตรกรโดยตรง เพื่อให้การช่วยเหลือเข้าถึงเกษตรกรโดยตรง

ข้อคิดเห็น/บทวิเคราะห์

การที่ญี่ปุ่นร่างแผนการพึ่งพาตนเองด้านอาหารขึ้นมา มองผิวเผินแล้วเหมือนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้สำหรับประเทศที่มีอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารต่ำอย่างประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การให้ความช่วยเหลือชาวนาเป็นอันดับแรกโดยอ้างว่าเป็นการกระตุ้นอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารนั้น น่าจะไม่ตรงเป้าหมายนัก เนื่องจากอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารสำหรับสินค้าข้าวของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในระดับที่สูงมาก (95% สำหรับข้าวทั้งหมด และ 100% สำหรับข้าวที่บริโภคในครัวเรือน) ซึ่งหากญี่ปุ่นต้องการที่จะกระตุ้นอัตราการพึ่งพาตนเองฯ ญี่ปุ่นควรที่จะมุ่งเน้นที่สินค้าอื่นที่มีอัตราการพึ่งพาตนเองที่ต่ำก่อน เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ น้ำตาล เนื้อสัตว์ และถั่ว เป็นต้น

นอกจากนี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่พบเชื้อราในขนมโมจิ ซึ่งทำมาจากข้าวที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริการัฐบาลญี่ปุ่นออกมาให้สัมภาษณ์ว่าสาเหตุเกิดจากการที่ขาดความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฎระเบียบใหม่ๆ ขึ้นมาควบคุม เช่น ให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว เช่น เหล้าสาเก rice cracker และเส้นก๋วยเตี๋ยว ติดฉลากแสดงประเทศ/แหล่งที่มาของข้าวที่ใช้เป็นวัตถุดิบ โดยมีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องผู้บริโภค ระเบียบใหม่นี้คาดว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากข้าว เนื่องจากคนญี่ปุ่นมักจะมองว่าข้าวของญี่ปุ่นย่อมมีคุณภาพดีกว่าข้าวที่นำเข้า ทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่ทำมาจากข้าวมีโอกาสที่จะหันกลับไปใช้ข้าวญี่ปุ่นแทนนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรม

กฎระเบียบที่กำหนดให้แสดงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวและนโยบายเรื่องการกระตุ้นอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารนี้ อาจเป็นตัวแปรที่สำคัญที่กดดันการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศของญี่ปุ่นต่อไปทั้งนี้ ข้าวไทยที่ญี่ปุ่นนำเข้านั้นนอกจากจะใช้ในร้านอาหารไทย แล้วยังใช้ในการผลิตแครกเกอร์ มิโซะ และเหล้าสาเกเป็นต้น โดยอาจส่งผลให้เอกชนญี่ปุ่นหันมาส่งเสริมการปลูกข้าวในประเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปต่างๆ

การเพิ่มอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารนับเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับญี่ปุ่น เนื่องจากประชากรที่ทำการเกษตรอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่ประชากรวัยทำงานไม่นิยมที่จะทำอาชีพเกษตรกร อย่างไรก็ดี มาตรการต่างๆ ที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ การรณรงค์ให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และความ มุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรใหม่ๆ ที่ญี่ปุ่น ทำให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอย่างไทยจำเป็นต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ