สรุปสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-สเปน ไตรมาสแรก ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 11, 2010 17:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตารางแสดงมูลค่าการค้าไทย-สเปน ไตรมาสแรกของปี 2553

                           มี.ค.2553                       ม.ค.-มี.ค.2553
               มูลค่า (Mil.US$)    เพิ่ม/ลด (%)      มูลค่า (Mil.US$)       เพิ่ม/ลด (%)
                                 จากเดือนก่อน                          ช่วงเดียวกันปีก่อน
  ส่งออก          92.50            +12.29             254.37             +40.79
  นำเข้า          46.82            +19.26             115.25             +32.50
  การค้ารวม      139.32            +14.54             396.62             +38.10
  ดุลการค้า       +45.68             +5.96            +139.12             +48.51
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

          ในเดือนมีนาคม 2553 ไทยกับสเปนมีมูลค่าการค้ารวม 139.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยเป็นฝ่ายส่งออกไปสเปน 92.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.29 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาโดยมีหมวดสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+71.74%) อัญมณีและเครื่องประดับ (+69.32%) และกุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง (+49.72%) ขณะที่นำเข้าจากสเปนรวม 46.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.26 ทั้งนี้ ไทยได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นอีก 45.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
          ในช่วงไตรมาสแรกปี 2553 ไทย-สเปน มียอดการค้ารวม 396.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยไทยมียอดส่งออกมาสเปนรวม 254.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.79 หมวดสินค้าหลักดั้งเดิมสามารถกลับมาขยายตัวในอัตราสูงได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+110.66%) ยางพารา (+263.45%) และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+520.64%) ขณะที่นำเข้าจากสเปน 115.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.50 ทำให้ไทยได้ดุลการค้าจากสเปนสะสมในปีนี้ จำนวน 139.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.51 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

          ตารางแสดงโครงสร้างการส่งออกของไทยไปยังสเปน ไตรมาสแรกของปี 2553
         หมวดสินค้า                    มูลค่า (Mil.US$)     เพิ่ม/ลด(%)จากปีก่อน     สัดส่วน(%)
สินค้าเกษตรกรรม(กสิกรรม/ปศุสัตว์/ประมง)        49.2              +64.82             19.34
สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร                    14.0              -14.39              5.52
สินค้าอุตสาหกรรม                           191.1              +42.40             75.13
สินค้าแร่และเชืAอเพลิง                         -                  -                  -
       รวม                              254.4              +40.79            100.00
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

          จากโครงสร้างการส่งออกของไทยไปยังสเปน หมวดสินค้าอุตสาหกรรมยังครองส่วนแบ่งเป็นสินค้าส่งออกในอัตราสามในสี่ อันประกอบด้วยสินค้าหลักได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รองลงมาได้แก่หมวดสินค้าเกษตรกรรมมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ่นในอัตราสูง โดยเฉพาะยางพารา และกุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็งและลำดับสุดท้ายหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีสัดส่วนการส่งออกไม่มากนัก และปรับตัวลดลงร้อยละ 14.39


            ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยมายังสเปน 10 อันดับแรก ไตรมาสแรกของปี 2553
ที่      สินค้า                              มูลค่า(Mil. USD)     สัดส่วน (%)     เปลี่ยนแปลง (%)
1 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ                  54.6            21.46          +110.66
2 เสื้อผ้าสำเร็จรูป                               34.7            13.65           +21.80
3 ยางพารา                                    34.5            13.55          +263.45
4 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ                    11.2             4.39          +520.64
5 เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ                8.9             3.50          +187.69
6 ผลิตภัณฑ์ยาง                                   8.9             3.49           +22.35
7 กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง                             8.9             3.49          +288.89
8 ผลไม้กระป๋องและแปรรูป                          8.6             3.40           +60.07
9 เลนส์                                        8.6             3.39           +33.92
10 เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์ส่วนประกอบ               5.8             2.26           +19.79
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร


          จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกที่ผ่อนคลายลง ส่งผลให้สินค้าแทบทุกหมวดของไทยมีอัตราขยายตัวในอัตราเร่ง โดยเฉพาะสินค้าหลักดั้งเดิมของไทยในตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา และรถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ต่างมีอัตราเติบโตกว่าร้อยละ 100 จึงถือได้ว่าผู้บริโภคเริ่มมีความมัน% ใจและจับจ่ายใช้สอยแบบลดการรัดเข็มขัดลง ซึ่งสังเกตได้ชัดจากสินค้าประเภทคงทน อาทิเช่น รถยนต์ และเครื่องใช้ฟ้าต่างๆ เป็นต้น เริ่มทำยอดขายได้ดีขึ้นหลังจากที่ผู้บริโภคต้องตัดสินใจระงับหรือเลื่อนเวลาการซื้อออกไปในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสเปนยังคงอยู่ในแดนลบ รวมทั้ง ยังคงมีสภาพเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกที่ยังไม่นิ่ง
          ในช่วงเดียวกันไทยนำเข้าสินค้าจากสเปน เป็นมูลค่า 115.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 32.50 โดยมีรายละเอียดการนำเข้าสินค้า 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงสุดดังนี้

           ตารางแสดงมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสเปน 5 อันดับแรก ไตรมาสแรก ปี 2553
      สินค้า                              มูลค่า(Mil.USD)     สัดส่วน (%)     เปลี่ยนแปลง (%)
เคมีภัณฑ์                                      20.4           17.72          +96.62
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ                      15.1           13.12          +24.65
ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม                    11.7           10.13           +8.33
เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์                        7.9            6.86          +69.38
สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป                    5.8            5.07          -19.14
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของราชอาณาจักรสเปน
          ท่ามกลางข่าวดีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกในภาพรวม แต่สถานการณ์ด้านตลาดแรงงานของสเปนยังมีอาการน่าเป็นห่วง อัตราการว่างงานยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงก็ตาม ในไตรมาสแรกของปี 2553 พบว่ามีคนว่างงานเพิ่มขึ้นอีก 286,200 คน ทำให้มีคนว่างงานทั้งสิ้นกว่า 4.6 ล้านคน ทะลุระดับร้อยละ 20 ของแรงงานทั้งหมด โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกมายอมรับและกล่าวว่าปัญหาการว่างงานน่าจะเริ่มคลี่คลายได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของปีนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้การว่างงานได้เพิ่มขึ้นในแทบทุกแคว้น ยกเว้นแคว้นบาสก์ เมืองเซวตา และเมืองเมลิยา เท่านั้น ส่วนแคว้นอันดาลูเซียและหมู่เกาะคานารีมีอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูงกว่าระดับร้อยละ 27 แล้ว ทำให้ความมั่นใจของผู้บริโภคยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติ ส่วนภาคการผลิตก็ยังใช้กำลังการผลิตได้ไม่เต็มที่ส่งผลให้การลงทุนยังคงชะลอตัว ถึงแม้ภาคการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ความต้องการภายในประเทศไม่ได้ดีตามไปด้วย
          จากการอัดฉีดเงินเข้าระบบจำนวนมหาศาลในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา ขณะนี้รัฐบาลต้องปรับลดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็ต้องหารายได้เพิ่มมาชดเชยด้วยการขึ้นภาษี อันจะส่งผลกระทบและเพิ่มความกดดันให้กับประชาชนในภาพรวมต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม สเปนยังมีฐานะการคลังที่ดีกว่ากรีซและบางประเทศในสหภาพยุโรที่มีระดับหนี้สาธารณะสูงกว่า ได้แก่ ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และโปรตุเกส ทั้งนี้ สเปนได้พยายามแก้ไขปัญหาด้านการคลังในปี 2553 โดยมุ่งส่งเสริมเพิ่มการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการจ้างงานอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องปรับโครงสร้างด้านการศึกษา การแข่งขันในภาคธุรกิจบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งตลาดแรงงาน ควบคู่กันไปด้วย
          รัฐบาลสเปนมีเป้าหมายที่จะลดการขาดดุลงบประมาณให้กลับไปสู่ระดับร้อยละ 3 ของGDP ภายในปี 2556 พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งและปรับโครงสร้างระบบการเงินใหม่
          มาตรการใหม่ๆที่รัฐบาลจะนำมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจขณะนี้ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประสงค์จะปรับปรุงที่อยู่อาศัย การให้เงินกู้แก่ธุรกิจ SMEs ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ การพัฒนาธุรกิจไปสู่สากล การลงทุนเพิ่มด้านวิจัย-พัฒนาและนวัตกรรม การลดหนี้เสียทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะ การปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กรสาธารณะ นอกจากนั้น ได้ยกร่างแผนเศรษฐกิจสู่สภาที่ประกอบไปด้วยแผนการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง และขยายแผนปฏิบัติการในแนวระนาบ เพื่อหวังจะทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวให้ได้ในระยะปานกลาง
          ผลจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจในระยะสั้นที่ผ่านมา พบว่าการบริโภคภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละหมวดสินค้า โดยปกติแรงซื้อในตลาดค้าปลีกหลังเทศกาลในช่วงปลายปีจะปรับลดลง แต่สินค้าที่มีลักษณะคงทนกลับมีแรงซื้ออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคไม่มีการเปลี่ยนแปลง สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังไม่เข็มแข็ง เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้บริโภคตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมาก็ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเป็นเพราะผลกระทบจากปัญหาตลาดแรงงานการยกเลิกมาตรการกระตุ้นด้านภาษี และการจำกัดการขึ้นค่าแรง ส่วนในแง่ของการลงทุนทางธุรกิจ พบว่าการใช้กำลังการผลิตลดลงเล็กน้อยในไตรมาสแรก จึงช่วยยืนยันได้ว่าการฟื้นตัวยังไม่มั่นคง โดยเฉพาะปัจจัยจากตลาดภายในประเทศเอง
          โดยสรุปแล้ว ในไตรมาสแรกของปี 2553 ภาคธุรกิจหดตัวลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่สอง ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นของภาครัฐที่จะมีรายได้มาจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของภาคธุรกิจมากขึ้นอย่างไรก็ตาม การหลุดพ้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะต้องจับตาดูผลจากมาตรการการปฏิรูปในด้านต่างๆต่อไป

แนวโน้มการส่งออกของไทย
          สินค้าหลักของไทยในตลาดสเปนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา ได้แก่เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ยางพารา และยานยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน เริ่มกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งในช่วงต้นปี 2553 และขณะเดียวกัน กลุ่มสินค้ารอง ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ และกุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ก็ล้วนแต่ขยายตัวได้ดี กอปรกับปัจจัยบวกในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานที่หวังว่าจะดีขึ้นในช่วงกลางปี จึงหวังได้ว่า การส่งออกของไทยในภาพรวมสำหรับตลาดสเปนจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ในปี 2553 แต่ทั้งนี้ ยังต้องคอยจับตาดูปัจจัยภายนอกและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนและอ่อนไหว อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้


          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ