สถานการณ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเฉิงตู ปี 2010

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 30, 2010 16:10 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เศรษฐกิจจีนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 9.8 มาโดยตลอด ด้วยศักยภาพของตลาดที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ประกอบกับมาตรการการค้าต่างประเทศที่ผ่อนปรนจากนโยบายเปิดประเทศ ส่งผลให้ความร้อนแรงของกระแสการลงทุนในจีนยังไม่เห็นวี่แววการซาลง แต่ประสบการณ์จากนักลงทุนรุ่นบุกเบิกในจีนกลับมีเสียงสะท้อนเชิงลบมากกว่าว่าดี จนหลายคนตั้งคำถามว่าประเทศจีนน่าลงทุนจริงหรือ?

ภาพลักษณ์ทรัพย์สินทางปัญญาจีน

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในเรื่องภาพลักษณ์ทรัพย์สินทางปัญญา จีนเป็นผู้ต้องหามาตลอดในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การก๊อปปี้สินค้าและวางขายกันอย่างเปิดเผย การเลียนแบบสินค้าจากต่างประเทศในงานแสดงสินค้า หรือการส่งออกสินค้าเลียนแบบไปยังประเทศ ฯลฯ ทำให้ประเทศต่างๆที่เริ่มบุกเบิกหรือทำการค้ากับจีนเข็ดขยาดไปตามๆกัน เพราะต้องสูญเสียรายได้ไปอย่างมากมายมหาศาล และต้องทนเจ็บช้ำระกำใจเมื่อเห็นสินค้าที่ตนคิดค้นนั้นถูกนำไปลอกเลียนแบบแล้วกลับเข้าสู่ตลาดมาเป็นคู่แข่งด้านราคากับสินค้าเดิมอีก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลจีนก็ได้เพิ่มความเข้มงวดยิ่งขึ้นในการบังคับใช้กฏหมายเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเห็นได้จากตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เคยจัดการประชุมด้านนโยบายการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ และโครงสร้างการรองรับด้านกฏหมายและสถาบันภายในประเทศระดับชาติ นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาลิขสิทธิ์ และสนธิสัญญาการแสดงและการบันทึกเสียง ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารและกำกับดูแลโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organisation: WIPO) อีกทั้งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาประเทศจีนได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ และสภาแห่งรัฐได้ออกกฏหมายคุ้มครองสิทธิในการสื่อสารผ่านเครือข่ายสารสนเทศ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนคำขอรับสิทธิบัตรอย่างมาก จนกระทั่งทะลุจำนวน 3 ล้านคำขอในปี 2006 ซึ่งเพิ่มขึ้นตามจำนวนการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา 61 แห่งทั่วประเทศ และเปิดสายด่วน 12330 เพื่อให้ความช่วยเหลือ ด้านการคุ้มครองด้านสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งหมดล้วนเป็นผลงานที่เป็นประจักษ์พยานอย่างดียิ่งถึงความปราถนาของจีนในการหลุดพ้นจากข้อครหาพร้อมกับสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของตนต่อประชาคมโลก ล่าสุดวันที่ 26 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา เป็นวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก นายเถียน ลี่ผู่ อธิบดีกรมสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า "ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เพิ่มความสำคัญในเรื่องการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านนิติบัญญัติ การบังคับใช้กฎหมาย การบริหาร การเผยแพร่ความรู้และการอบรมเจ้าหน้าที่ ปีนี้เราจะเน้นในเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณ การปราบปรามพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมาย และการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนางานด้านนี้ให้ดีขึ้น"

สถานการณ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเมืองเฉิงตู

ศูนย์บริการทรัพย์สินทางปัญญาเมืองเฉิงตูก่อตั้งเมื่อปี 2005 ได้รับรางวัลศูนย์บริการตัวอย่างระดับประเทศในปี 2009 และขณะเดียวกันเฉิงตูเป็นเมืองที่มีมีสถิติยื่นคำขอรับสิทธิบัตรมากที่สุดในจีนตะวันตก โดยในปี 2009 มีจำนวนถึง 26,130 รายการเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.33 ได้รับอนุมัติแล้ว 16,349 รายการเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.08 การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 1.5 หมื่นรายการรวมทั้งสิ้น 6.1 หมื่นรายการ โดยมีเครื่องหมายสินค้าระดับประเทศ 29 รายการ ผลิตภัณฑ์ที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 13 รายการ พันธุ์พืชคุ้มครองระดับชาติ 15 รายการ มรดกทางวัฒนธรรมระดับชาติ 17 รายการ และโปรแกรมซอร์ฟแวร์ แอนิเมชั่นกว่า 3,000 รายการ การดำเนินการของศูนย์บริการทรัพย์สินทางปัญญาเมืองเฉิงตู มีเครือข่ายการให้บริการครอบคลุมทั้งการให้การคุ้มครองผ่านหน่วยงานของรัฐ และการคุ้มครองผ่านกระบวนการกฎหมาย ภายใต้โครงสร้างการบริหารซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 30 แห่งทั่วเมืองเฉิงตูให้บริการและคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาครอบคลุมทั้งเรื่องสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า

การประชุมสัมมนาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เมืองเฉิงตู ปี 2553

ศูนย์บริการทรัพย์สินทางปัญญาเมืองเฉิงตู ศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาเมืองเฉิงตู สมาคมผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติเมืองเฉิงตู สมาคมผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีเมืองเฉิงตู ได้ร่วมกันจัดการประชุมสัมมนาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เมืองเฉิงตู ปี 2553 (Intellectual Property Rights Seminar2010) ในหัวข้อ นวัตรกรรม การคุ้มครอง และการพัฒนา (Innovation Protection Development) การประชุมจัดขึ้นในวันที่ 26 เมษายน 2553 ณ อาคารสำนักงานซิสโก้CISCO โรงแรมแชงกลีร่า นครเฉิงตู โดยคณะผู้จัดได้ให้เกียรติเชิญสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตูเข้าร่วมฟังการประชุมซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1. ความพยายามและจริงจังต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในจีน โดยเฉพาะในเรื่องของการบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองอย่างเข้มงวด เพื่อเพิ่มความมั่นใจของรัฐบาลต่างชาติและบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างประเทศให้พอใจและสบายใจมากยิ่งขึ้น รองรับนโยบาย "เชิญเข้ามา"ซึ่งทำให้จีนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการปรับใช้ให้เข้ากับนโยบาย"ก้าวออกไป"ในปัจจุบัน ซึ่งจีนต้องเร่งรัดพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อแสดงบทบาทและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้สังคมโลกเห็นว่าจีนมีศักยภาพ

2. บทบาทและภาพลักษณ์ใหม่นี้ต้องสร้างผ่านการกระตุ้นให้ประชาชน และบริษัทในประเทศเห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเร่งด่วน จึงทำให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถจดทะเบียนขอรับสิทธิบัตรรวมทั้งประเทศได้มากในอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่าร้อยละ 20 ลำพังเพียงเมืองเฉิงตูมีจำนวนถึง 26,130 รายการ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ36.33 แสดงให้เห็นว่าทั้งนักคิด นักประดิษฐ์ นักวิจัย ตลอดจนองค์กร และบริษัทต่างๆ เห็นความสำคัญที่แท้จริงของการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง ค่อยๆหลุดพ้นจากการละเมิดสินค้าของผู้อื่น ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากทีเดียวเพราะการปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบนี้ถือได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่มาก

3. ในส่วนประสิทธิภาพการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด โดยเห็นได้จากการคดีฟ้องร้องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในเมืองเฉิงตู ปี 2009 รวมทั้งสิ้น 539 คดี มีการชำระคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว 453 คดี คิดเป็นอัตราร้อยละ 68.8 มีการยึดและทำลายของกลางได้กว่า 1.6 ล้านชิ้น นอกจากนี้ด้านการให้บริการสังคมยังได้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเสฉวนจัดตั้งศูนย์อบรมและให้ความรู้ทรัพย์สินทางปัญญา โดยตลอดปีที่ผ่านมามีการอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งหมดกว่าร้อยครั้ง รวมจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 1.5 หมื่นคน มีการเปิดสายด่วนให้บริการคำปรึกษาทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา "12330" และเวบไซต์ www.cdip.com.cn ในการให้บริการแก่สาธารณชน

4. บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมงานประชุมในครั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญดังนี้

  • ควรเพิ่มความรุนแรงของบทลงโทษ เนื่องจากปัจจุบัน "การรักษาสิทธิ์มีต้นทุนสูง แต่การละเมิดสิทธิ์มีต้นทุนต่ำ" จึงควรหาวิธีการที่มีประสิทธิผล เช่นการตั้งค่าปรับในการละเมิดให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ 5,000 - 50,000 หยวน โดยยกตัวอย่างต่างประเทศซึ่งปรับตามจำนวนค่าเสียหาย ซึ่งเชื่อว่าวิธีนี่จะช่วยให้มีไตร่ตรองก่อนละเมิดมากขึ้น
  • ขั้นตอนการยื่นขอสิทธิบัตรจนถึงการประกาศอนุมัติใช้เวลาประมาณ 18 เดือนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการรั่วไหลของข้อมูล และมีการละเมิดมากที่สุด จึงขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาวิธีแก้ไขที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • ปัญหาการละเมิดหลักๆแบ่งเป็น 2 แบบคือ เจ้าของสินค้าและบริการไปจดทะเบียนเพื่อได้รับการคุ้มครองแล้วแต่ยังถูกละเมิด และ เจ้าของสินค้าและบริการไม่ได้ไปจดคุ้มครอง แต่ถูกคู่แข่งการค้านำไปจดมีปัญหากลายเป็นเราไปละเมิด

ภายใต้ภาวะระเบียบใหม่ของโลกยังมีปัญหาต่างๆอีกมากมายในกลไกการค้าที่ยังต้องพัฒนาระบบที่ดีและสมบูรณ์แบบขึ้นมารองรับ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ