แคนาดากับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 7, 2010 16:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

หลังจากที่ประเทศแคนาดาประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ในปี 2552 นั้น ปัจจุบันแคนาดาเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว โดยหลายสถาบันการเงิน และนักวิจัย/วิเคราะห์เศรษฐกิจคาดการณ์ว่า แคนาดาจะมีอัตราการเติบโต (GDP Growth) ระหว่างปี 2553 ประมาณร้อยละ 3 และปี 2554 ประมาณร้อยละ 3.5

ทั้งนี้ การประเมินอัตราดังกล่าว เป็นผลรวมจากปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจในแคนาดา ดังนี้

1. เนื่องจากแคนาดามีสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุด (Largest Trading Partners) การที่เศณษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวนั้น ย่อมส่งผลให้แคนาดามีการส่งออก (ซึ่งเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากช่วงวิกฤติในปี 2552) ขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบกระตุ้นต่อเนื่องมายังภาคการผลิตและโรงงาน (อาทิการก่อสร้าง และยานยนต์) (จากการประเมินของ Sify News นั้น สหรัฐฯ มีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 3.2 ระหว่างม.ค. -มี.ค. 25531)

2. ประเทศแคนาดามีระบบการเงินการธนาคารที่มั่นคงมาก ธนาคารแห่งชาติ และอื่นๆ ในแคนาดามีเสถียรภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤติในปี 2552 นั้น การธนาคารแคนาดา ได้แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงดังกล่าว และได้ประคองเศรษฐกิจประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ (Moody's ได้จัดอันดับให้ระบบการธนาคารแคนาดามีความแข็งแกร่งมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก2)

3. ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดกิจกรรมและความเคลื่อนไหวทางธุรกิจในทุกภาค ซึ่งก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หน่วยงานวิจัย Harris/ Decima- Investor's Group ได้จัดการประเมินความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence) ณ ก.พ. 2553 แล้ว พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 89 มีความเชื่อว่าเศรษฐกิจแคนาดามีเสถียรภาพ และกำลังพัฒนาดีขึ้น

4. การปรับตัวสูงขึ้นของสกุลเงินเหรียญแคนาดา นั้น มีเหตุปัจจัยหลักจากของการปรับราคาขึ้นของสินค้าพื้นฐานทั่วโลก (Global Commodity) ซึ่งแคนาดาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ซึ่งการปรับราคาสินค้าดังกล่าว เป็นตัวบ่งชี้ของอุปสงค์ในสินค้านั้นๆ จากทั่วโลก ซึ่งจะมีผลกระตุ้นภาคการผลิตแคนาดาได้ อย่างไรก็ตาม อัตราที่สูงขึ้นของสกุลเหรียญแคนาดาจะส่งผลลบทันทีให้กับภาคส่งออกในทุกหมวดสินค้า

5. ภาครัฐของแคนาดาได้มีการส่งเสริมธุรกิจในประเทศ โดยมีการปล่อยกู้ทางธุรกิจในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งจะเกิดกิจกรรม/ การดำเนินธุรกิจในประเทศได้ ทั้งนี้ หากภาคเอกชนมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงตามภาครัฐฯ แล้ว ปัจจัยบวกดังกล่าวจะส่งผลกระตุ้นทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ