ถนนทุกสายมุ่งสู่จีนตะวันตก ตลาดขนาดใหญ่ 370 ล้านคน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 25, 2010 17:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จีนภาคตะวันตกประกอบด้วย 6 มณฑล 5 เขตปกครองตนเอง และ 1 มหานคร จำนวนประชากรประมาณ 370 ล้านคนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ โดยในปี 2009 อัตราการขยายตัวของการค้าปลีก (retail sale) ใน 12 มณฑลจีนตะวันตกรวมกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 อันเป็นผลของนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายใน นโยบายมุ่งตะวันตกต่ออีก 10 ปี และนโยบายขยายการเปิดเสรี ของรัฐบาลกลางจีนและรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้ดินแดนแผ่นดินตอนในวันนี้มีการติดต่อค้าขายกับตลาดโลกมากขึ้น เกิดการหลั่งไหลเข้ามาของเงินลงทุนจากต่างประเทศ บริษัทชั้นนำระดับโลกที่เข้ามาลงทุนในจีนตะวันตกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เส้นทางขนส่งทางบก----อีกหนึ่งทางเลือกสู่จีนตะวันตก

การขนส่งจากไทยสู่จีนตะวันตกแต่เดิมส่วนใหญ่ผ่านเส้นทางเรือเข้าเซี่ยงไฮ้และกวางโจว การใช้เส้นทางรถเริ่มมีคนสนใจมากขึ้นเนื่องจากมีจุดเด่นในเรื่องการประหยัดเวลาลงกว่าครึ่ง แต่ติดปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูง และขั้นตอนพิธีการด่านศุลกากร ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่กระทบต่อการใช้เส้นทางดังกล่าว เส้นทางบกที่เปิดใช้อยู่ปัจจุบันที่สำคัญมีเส้น 4 เส้นทาง ดังนี้

1.R3E (กรุงเทพฯ-เชียงของ-คุนหมิง)ระยะทาง 1,887 กิโลเมตร

2.R8 (กรุงเทพฯ-หนองคาย-หนานหนิง)ระยะทาง 1,631 กิโลเมตร

3.R9(กรุงเทพฯ-มุกดาหาร-หนานหนิง)ระยะทาง 2,266 กิโลเมตร และ

4.R12 (กรุงเทพฯ-นครพนม-หนานหนิง)ระยะทาง 1,769 กิโลเมตร

ผ่านมณฑลยูนนาน (ด่านเมืองบ่อหาร) และกวางสี (ด่านเมืองผิงเสียง) สินค้าที่ผ่านเข้าด่านทางบกดังกล่าวส่วนมากเป็นสินค้าเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง และแกซธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของจีนตะวันตกในการออกสู่ทะเล ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของไทยในการมุ่งสู่ตลาดจีนตะวันตก โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาการพัฒนาศักยภาพการค้าระหว่างประเทศ ผ่านเส้นทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลในพื้นที่เศรษฐกิจดังกล่าวให้ความสำคัญมาตลอด

แนวโน้มการใช้เส้นทางบกสู่จีนตะวันตก----ตัวเลือกที่น่าสนใจของนักธุรกิจ

นางมาลี โชคล้ำเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เผยว่า"เขตปกครองตนเองฯหนิงเซียะได้เข้ามาเปิดศูนย์กระจายสินค้าหนิงเซียะในไทย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางรับซื้อสินค้าไทย และเจรจาธุรกิจระหว่างกัน เพื่อเป็นการให้นักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนทัศนคติและการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางไทยยังได้มีการหารือในเรื่องระบบโลจิสติกส์ โดยแนะนำการใช้เส้นทางขนส่งสินค้า R3A ผ่านเส้นทางรถ กรุงเทพฯ- เชียงราย-คุนหมิง-เฉิงตู-หนิงเซียะ ถึงแม้ว่าอาจต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากเป็นการเดินทางบนบกซึ่งต้องผ่านหลายเมืองหลายมณฑล แต่ประหยัดเวลาได้มากขึ้น ซึ่งดีต่อผลในระยะยาว เพื่อขยายการค้าระหว่างไทย กับหนิงเซียะให้มากขึ้น และยังเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยกระจายสินค้าไทยไปยังจีนด้วย"

ล่าสุดวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง ได้กล่าวถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 เชียงของ - ห้วยทราย สะพานเชื่อมโยงจังหวัดเชียงราย - บ่อแก้ว ตามแนวเส้นทางสาย อาร์ 3 เอ (R3A) ต่อไปถึงเมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเหนือ - ใต้ (North - South Economic Corridor) ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) งบประมาณในการก่อสร้างรัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนฝ่ายละครึ่งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าในปี 2555 จะสามารถเริ่มใช้สะพานดังกล่าวได้

นายโอวหยางซือเฟิง ผู้จัดการบริษัทGolden Wing MAU Co.,Ltd. ดูแลภูมิภาคจีนตะวันตก ผู้จำหน่ายผลไม้ไทยรายสำคัญในประเทศจีน ได้ให้ข้อมูลการตลาดผลไม้ไทยในจีนว่า " ปัจจุบันบริษัทนำเข้าผลไม้ไทยส่วนใหญ่ผ่านกวางโจว แต่ในอนาคตหากเส้นทางบก R3A มีการพัฒนาการดำเนินการในพิธีการศุลกากรที่สะดวกรวดเร็วและสมบูรณ์ขึ้น บริษัทของตนก็มีแผนที่จะเปลี่ยนมาใช้เส้นทางดังกล่าวในการขนส่งผลไม้ไทยมาจีนเขตตะวันตก เนื่องจากสามารถประหยัดเวลาไปได้กว่า 38 ชั่วโมงหากเปรียบเทียบกับเส้นทางเรือผ่านกวางโจวแล้วส่งมาในเขตจีนตอนใน"

นายหวัง เจิง ผู้จัดการบริษัทChongqing Fruit Trading Co.,Ltd. ผู้จำหน่ายผลไม้ไทยรายสำคัญในตลาดขายส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า กล่าวว่า "บริษัทของตนถือเป็นรายแรกที่บุกเบิกเส้นทางโลจิสติกส์ผ่านทางหลวงเส้นมุกดาหาร---สะหวันเขต(ลาว)--ด่านPuZhai(เวียดนาม-กวางสี)--ฉงชิ่ง เพราะเป็นเส้นทางที่ช่วยลดระยะทาง และเวลาในการขนส่งลงกว่าร้อยละ 15 คือ จากเดิมขนส่งทางเรือ 7-10 วัน ลดลงเหลือ 4-5 วัน แนวโน้มเช่นนี้คาดว่าจะทำให้อีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการค้าผลไม้ระหว่างไทย-ฉงชิ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 50-60 แต่ควรจะพัฒนาระบบศุลกากรตรงด่านชายแดนให้มีมาตรฐานมากกว่าปัจจุบัน"

เป็นเรื่องน่าสังเกตว่าไทยส่งออกสินค้าผลไม้ไปจีนเป็นอันดับที่ 15 มีมูลค่าการส่งออก 198.47 ล้านเหรียญสหรัฐ การขนส่งผลไม้ไทยส่วนใหญ่นำเข้าทางเรือผ่านกวางโจว ซึ่งเป็นตลาดเดิมที่มีขนาดใหญ่และสินค้าไทยสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้มั่นคงระดับหนึ่งแล้ว การบุกเบิกตลาดใหม่เช่นจีนตะวันตกจึงเป็นโอกาสของไทยที่ไม่ควรรอช้า และควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย

แหล่งที่มาข้อมูล

1. การสำรวจตลาดและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการค้าผลไม้ไทยของ สคร. เฉิงตู

2. อักษรศรี พาณิชสาสน์: กรณีศึกษาเส้นทางสู่ทะเลของจีนตะวันตก, 2010

3. ธนิต โสรัตน์: ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรถขนส่งเชียงแสนเชิงการตลาด, 2006

4. หนังสือพิมพ์มติชน: สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4, 5 พ.ค. 2010

5. อักษรศรี พาณิชสาสน์: ถนนการค้าสู่จีน, 2010

6. http://images.google.com.hk/images

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ