ญี่ปุ่นยังคงติดตามคดี กรณีเกี๊ยวซ่าแช่แข็งนำเข้าจากจีนปนเปื้อนยาฆ่าแมลงที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ที่ทำให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นรวม 10 คนเกิดอาการป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลเมื่อช่วงปลายปี 2550 และต้นปี 2551 โดยในเดือนเมษายน 2553 นี้ ตำรวจญี่ปุ่นได้เดินทางไปประชุมร่วมกับตำรวจจีน หลังจากที่ทางการจีนจับกุมผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงงาน Tianyang Food ผู้ผลิตเกี๊ยวซ่า ดังกล่าวในจีนที่สารภาพว่าได้ฉีดยาฆ่าแมลงลงในเกี๊ยวซ่าแช่แข็งเมื่อเดือนตุลาคม 2550
ผลจากปัญหาสารปนเปื้อนดังกล่าว นอกจากญี่ปุ่นต้องการให้จีนสืบสวนข้อเท็จจริงและหาผู้กระทำผิดแล้ว ยังต้องการให้จีนซึ่งเป็นนำเข้าอาหารรายสำคัญของญี่ปุ่น เข้มงวดเรื่องความปลอดภัยของอาหาร รวมทั้งการเจรจาทำความตกลงที่นำไปสู่การดำเนินการร่วมกันในการตรวจสอบสถานที่ กระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างในระดับเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ ปัญหาสารปนเปื้อนในเกี๊ยวซ่าแช่แข็งที่ผลิตในจีนช่วงปี 2551 ทำให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นโดยทั่วไปขาดความเชื่อมั่นในอาหารแช่แข็ง และอาหารประเภทอื่นที่นำเข้าจากจีน ที่แม้มีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนต่ำตลอดจนบริษัทที่ลงทุนผลิตอาหารในจีน และผู้นำเข้าความพยายามปรับปรุงระบบการจัดการเพื่อควบคุมคุณภาพ เช่น การติดตั้งกล้องในโรงงาน จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพ แต่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยยังระแวงในความปลอดภัยด้านอาหารจากจีน
นอกจากนี้ ปัญหาสารปนเปื้อนดังกล่าวยังส่งผลให้ ผู้บริโภคญี่ปุ่นบางส่วนหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารแช่แข็ง โดย Japan Frozen Food Association ยอดการจำหน่ายอาหารแช่แข็งในตลาดญี่ปุ่น ปี 2552 มีมูลค่า 832.7 พันล้านเยน ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 6 ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยลดลงทั้งอาหารที่ผลิตใน ประเทศ และสินค้านำเข้า กล่าวคือ ผลผลิตรวมอาหารแช่แข็งในประเทศลดลงร้อยละ 5 มีมูลค่า 636.4 ผักแช่แข็งนำเข้าลดลงร้อยละ 5 มีมูลค่า 104.6 พันล้านเยน ขณะที่อาหารปรุงสำเร็จนำเข้าลดลงถึงร้อยละ 18 มูลค่าเหลือ 91.5 พันล้านเยน อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 จีนยังคงเป็นแหล่งนำเข้าอาหารแช่งแข็ง อันดับ 1 ของญี่ปุ่น แต่มูลค่าลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 17 และยังอยู่ในระดับครึ่งหนึ่งของปี 2550
ปัญหาสารปนเปื้อนในเกี๊ยวซ่าจากจีน เป็นกรณีตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนถึงการต้องการของญี่ปุ่นต่อความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารในระดับสูง ทั้งในส่วนของผู้บริโภคที่ยังหวาดระแวง และภาครัฐที่นอกจากมีกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงอยู่แล้ว เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะนำไปสู่วิธีปฏิบัติ หรือมาตรการที่เข้มงวดขึ้น รวมทั้งสื่อมวลชนในญี่ปุ่นก็แสดงความเห็นว่าลำพังการจับกุมผู้กระทำผิดไม่ช่วยให้การหวาดวิตกเรื่องความปลอดภัยของอาหารหมดไป
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th