ภาวะเงินเฟ้อในเม็กซิโก และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต้นปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 26, 2010 16:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อของประเทศสมาชิกว่า ได้มีอัตราเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเป็นร้อยละ 2.1 ในเดือนมีนาคม 2533 จากร้อยละ 1.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากภาวะราคาของพลังงานที่ได้ถีบตัวสูงขึ้นในอัตราร้อยละ 11.3 แต่หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารแสดงอัตราที่ได้ค่อย ๆ เริ่มลดลงตั้งแต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในเดือนสิงหาคม ปี 2552 ในอัตราร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นตัวแสดงได้ว่าภาวะเศรษฐกิจของโลกโดยรวมได้เริ่มการฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์การเงินปี 2551

สำหรับประเทศเม็กซิโกนั้น ได้แสดงอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงสุดในบรรดาสมาชิก OECD ในอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.6 เป็นอันดับสูงสุดที่สี่ รองจากประเทศไอซแลนด์ร้อยละ 7.5 ตุรกีร้อยละ 6.5 ฮังการีร้อยละ 5.6 และโปแลนด์ร้อยละ 3.7 โดยอัตราเงินเฟ้อของเม็กซิโกได้มีสาเหตุสำคัญจากราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ

ธนาคารกลางแห่งเม็กซิโก ได้รายงานว่าดัชนีราคาสินค้าบริโภคในเดือนมีนาคม 2553 ได้ถีบตัวสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 เดือนก่อนหน้านั้น เป็นอัตราร้อยละ 5.06 ซึ่งอาจจะมีผลเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางเม็กซิโกต้องประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในไตรมาสต่อไป ราคาสินค้าบริโภคในเม็กซิโกได้มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 16 รวมทั้งการเพิ่มภาษีรายได้และการกำหนดราคาพลังงานที่เพิ่มเมื่อเดือนมกราคม 2553 รัฐบาลเม็กซิโกมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการเหล่านี้ เนื่องจากภาวะวิกฤตการณ์การเงินและการผลิตน้ำมันที่น้อยลง ได้ทำให้รัฐบาลขาด แคลนรายได้และมีได้มีผลให้ต้องตัดงบประมาณเมื่อปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์จากธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างรัฐอเมริกัน (Inter-American Development Bank) ได้ให้ความเป็นว่า ภาวะเศรษฐกิจของเม็กซิโกได้แสดงตัวว่าได้เริ่มการฟื้นตัวอย่างค่อนข้างชัดเจน และเศรษฐกิจเม็กซิโกในปี 2553 จะมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 3 ถึง 3.5และการขยายตัวในอัตราดังกล่าว ย่อมพยากรณ์ได้ว่า จะต้องใช้เวลาอีกสองปี กว่าผลผลิตแห่งชาติของเม็กซิโกจะฟื้นตัวคืนได้ในระดับเท่าเทียมกับที่เคยผลิตได้ในปี 2550 ทั้งนี้เศรษฐกิจของเม็กซิโกจะฟื้นตัวในอัตราที่ช้ากว่าประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาอื่น ๆ เนื่องจากมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจการค้าที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากที่สุด

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ