สถานการณ์ตลาดลำไยไทยในพื้นที่จีนตะวันตก(เสฉวน ฉงชิ่ง)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 27, 2010 14:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน

นายกสมาคมส่งออกผลไม้ไทยเผยว่าจีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทย โดยคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตในประเทศ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจีนอนุญาตให้ผลไม้ไทยนำเข้าได้จำนวน 23 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ ลิ้นจี่ มะพร้าว มะละกอ มะเฟือง มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ เงาะ สับปะรด ละมุด เสาวรส น้อยหน่า มะขาม ขนุน สละ ลองกอง ส้มเขียวหวาน ส้ม ส้มโอ จากสถิติตัวเลขการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านมณฑลกวางตุ้ง ในช่วงปี 2007-2009 ปริมาณการนำเข้าและมูลค่าได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

ตาราง1.1 : ตัวเลขการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านมณฑลกวางตุ้ง ในช่วงปี 2007-2009
   ปี     ปริมาณ(ตัน)   มูลค่า(ล้านเหรียญสหรัฐ)    เพิ่มขึ้น      มูลค่าเพิ่ม
 2007     227,632        187.50            16.5%       38.0%
 2008     282,831        239.20            24.0%       27.3%
 2009     476,413        405.96            68.4%       69.6%
ที่มา :  สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครกวางโจว,มีนาคม 2553

2. เส้นทางลำไยสู่จีนตะวันตกในปัจจุบัน
          ช่องทางการนำเข้าผลไม้ไทยสู่ตลาดมณฑลเสฉวน และมหานครฉงชิ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าผ่านทาง ตลาดกลางผลไม้เจียงหนาน  เมืองกวางโจว ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของจีนที่นำเข้าผลไม้จากไทยมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด  โดยในปัจจุบันเส้นทางการขนส่งผลไม้ไทยมายังเสฉวน และฉงชิ่งมี 3 เส้นทางหลักคือ
          1. เส้นทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังผ่านท่าเรือฮ่องกง หรือท่าเรือเสอโข่วไปยังตลาดเจียงหนาน แล้วจึงกระจาย มายังเสฉวน และฉงชิ่ง รวมใช้เวลาประมาณ 10 วัน
          2. เส้นทางสาย R9 จากมุกดาหารผ่านลาว เวียดนาม เข้าสู่จีนทางด้านด่านผิงเสียงผ่านเมืองหนานหนิงแล้วจึงกระจาย มายังเสฉวน และฉงชิ่ง รวมใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน
          3. เส้นทางสาย R3A จากเชียงของ ผ่านลาว เข้าสู่จีนด่านบ่อหารมณฑลยูนนานผ่านเมืองคุนหมิง แล้วจึงกระจาย มายังเสฉวน และฉงชิ่ง รวมใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน
          จากผลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2552 พบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์การส่งออกทุเรียน มังคุด และลำไยทางบกสูงกว่าทางทะเลร้อยละ 6.5, 3.6 และ 3 ตามลำดับ โดยต้นทุนที่แตกต่างกันเกิดจากต้นทุนค่าขนส่งเป็นหลักที่สำคัญได้แก่ ค่าขนส่ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าบรรจุภัณฑ์ ถึงแม้ต้นทุนการขนส่งทางถนนจะสูงกว่าทางทะเล แต่ในทางปฏิบัติสามารถลดต้นทุนลงได้หากมีการพัฒนาใช้ตู้ขนาด 45 ฟุตแทนขนาด 40 ฟุต และมีการขนส่งสินค้าเที่ยวกลับมาด้วย อีกทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาค่าระวางเรือสูงเกือบเท่าตัวในช่วงฤดูผลไม้กระจุกตัว

3. ผู้ค้าผลไม้ไทยในมณฑลเสฉวน และมหานครฉงชิ่ง
          มณฑลเสฉวนและมหานครฉงชิ่ง เป็นศูนย์กลางกระจายผลไม้ไทยในจีนภาคตะวันตกซึ่งประกอบด้วย 6 มณฑล 5 เขตปกครองตนเอง และ 1 มหานคร จำนวนประชากรประมาณ 370 ล้านคนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ โดยในปี 2009 อัตราการขยายตัวของการค้าปลีก (retail sale) ใน 12 มณฑลจีนตะวันตกรวมกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 บริษัทจำหน่ายผลไม้ไทยที่สำคัญได้แก่
          3.1  บริษัท Jundong Fruits Co.,Ltd
          เป็นบริษัทจำหน่ายส่งผลไม้ไทยรายใหญ่ที่สุดในมณฑลเสฉวน มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ พ่อค้าปลีก เจ้าของร้านผลไม้ทั่วไปในมณฑลเสฉวนและมณฑลใกล้เคียง ผู้จัดการใหญ่บริษัท Mr.Wang lin Dong ได้ให้ข้อมูลตัวเลขการนำเข้าลำไยไทยในมณฑลเสฉวนมีปริมาณ 5,000 ตัน/ปี และมหานครฉงชิ่ง 4,000 ตัน/ปี  บริษัทของตนได้นำเข้าลำไยสดจากไทยประมาณ 3,500 ตัน/ปี มาจำหน่ายในราคา 18.5 หยวน/กิโลกรัม และยังไม่มีการนำเข้าลำไยอบแห้งจากไทย  ปัจจุบันบริษัทฯนำเข้าผลไม้ไทยผ่านเส้นทางบก R3E (กรุงเทพฯ-เชียงของ-คุนหมิง) สาเหตุที่บริษัทหันมาเลือกใช้การขนส่งในเส้นทางนี้เนื่องจาก พิจารณาจากต้นทุนขนส่งซึ่งอยู่ที่ 15,000 - 18,000 หยวน/ตู้  ถึงแม้จะมีค่าต้นทุนขนส่งที่สูงกว่าทางเรือประมาณ 5,000 หยวน แต่ก็สามารถประหยัดในเรื่องค่าดำเนินพิธีการในด่านบ่อหารได้ถึง 20,000 หยวน หักลบกันแล้วประหยัดได้กว่า 15,000 หยวน ซึ่งคุ้มกว่าการส่งทางเรือในอดีต  นอกจากนี้บริษัทยังมีตัวแทนรับซื้อผลไม้ในไทยคือบริษัท General Manager-Thai Dongfang Fruits Co.,Ltd ผู้จัดการMr. Xu Jiang (โทร 66-81-8320455) เป็นผู้จัดการสินค้าต้นน้ำ ส่วนปลายน้ำตนเป็นผู้ดำเนินการ

          3.2 บริษัทGolden Wing MAU Co.,Ltd.
          บริษัทจำหน่ายส่งผลไม้ไทยรายใหญ่ในประเทศจีน มีเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าตามหัวเมืองใหญ่กว่า 25 เมืองทั่วประเทศจีนเช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เซียะเหมิน เฉิงตู ฉงชิ่ง เป็นต้น โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ ห้างสรรพสินค้าในเมือง เช่น LOTUS , AUCHAN , WALMART ,  ITO YOKADO, METRO, JUSCO, VANGUARD เป็นต้น บริษัทมีแบรนด์สินค้าของตัวเองคือ "JOY TREE" "JOY" "ENJOY FRESH" และ "YUM" ในสินค้าประเภททุเรียน แอปเปิ้ล ลิ้นจี่   Mr.Ou Yang Shi Feng ผู้จัดการดูแลภูมิภาคจีนตะวันตก ได้ให้ข้อมูลว่าผลประกอบการบริษัทในปัจจุบันมีมูลค่า 800 ล้านหยวน/ปี โดยสามารถจำหน่ายลำไยสดไทยได้  2,000 ตัน/ปี จำหน่าย แอปเปิ้ลได้ถึง 20 ตัน/วัน ทุเรียน 30-50 ตัน/วัน  ปัจจุบันบริษัทนำเข้าผลไม้ไทยส่วนใหญ่ผ่านกวางโจว แต่ในอนาคตหากเส้นทางบก R3A มีการพัฒนาการดำเนินการในพิธีการศุลกากรที่สะดวกรวดเร็วและสมบูรณ์ขึ้น บริษัทของตนก็มีแผนที่จะเปลี่ยนมาใช้เส้นทางดังกล่าวในการขนส่งผลไม้ไทยมาจีนเขตตะวันตก เนื่องจากสามารถประหยัดเวลาไปได้กว่า 38 ชั่วโมงหากเปรียบเทียบกับเส้นทางเรือผ่านกวางโจวแล้วส่งมาในเขตจีนตอนใน"

          3.3 ตลาดค้าส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า
          ตลาดค้าส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 1996 ตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้รับการประเมินให้เป็นอันดับ 1 ในยี่สิบของตลาดผลไม้ของจีน เนื่องจากเป็นตลาดขายส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของมหานครฉงชิ่ง  ได้รับรางวัลเป็นตลาดด้านผลิตภัณฑ์ผลไม้ Top 20 ของประเทศจีน  และสามารถสร้างยอดค้าขายเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 4 แสนตัน  เฉลี่ยสูงสุดถึงวันละ1,600 ตัน Miss.Chen เลขานุการผู้จัดการใหญ่ตลาดค้าส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า ให้ข้อมูลว่าตลาดนำเข้าลำไยสด 5,500 ตัน/ปี มังคุด 2,200ตัน /ปี กล้วยไข่1,800ตัน/ปี และทุเรียน 800 ตัน/ปี มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ และร้านค้าผลไม้ไม้ทั่วมหานครฉงชิ่งและเมืองใกล้เคียง
          เนื่องจากมณฑลเสฉวนและฉงชิ่งไม่ใช่เมืองการค้าชายแดน ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลปริมาณการนำเข้าสินค้าจากด่านศุลกากร การรวบรวมข้อมูลจึงต้องทำการสอบถามไปยังบริษัทค้าส่งผลไม้ไทยในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นสามารถสรุปได้โดยคร่าวๆว่าการนำเข้าลำไยสดไทยในมณฑลเสฉวนและมหานครฉงชิ่งมีประมาณ  11,000 ตัน/ปี ตามตาราง 1.2

ตาราง 1.2 : ปริมาณและราคาลำไยสดไทยบริษัทค้าส่งผลไม้ไทยรายสำคัญ ในเขตดูแลสคร.เฉิงตู
       บริษัท                   ปริมาณ/ปี     ราคาขายส่ง      ราคาขายปลีก
                                (ตัน)    (หยวน/กิโลกรัม)   (หยวน/กิโลกรัม)
1.Jundong Fruits Co.,Ltd       3,500         12              20
2.Golden Wing MAU Co.,Ltd.     2,000       10-20          18.5-25
3.ตลาดค้าส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า     5,500         16             20-30
รวม (หนึ่งหมื่นหนึ่งร้อยตัน)          11,000          -               -
หมายเหตุ:  เป็นปริมาณและราคาที่ได้จากการสอบถามผู้จัดการบริษัทช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2553


4. พฤติกรรมผู้บริโภค ราคาและคู่แข่งในตลาด
          ลำไยไทยในสายตาผู้บริโภคชาวจีนมีคุณภาพดีที่สุด และเป็นผลไม้ยอดนิยมของชาวจีน เนื่องจากมีผลโต รสหวาน ชาวจีนนิยมบริโภคทั้งผลสด และอบแห้ง สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในแผงร้านผลไม้ทั่วไปตามหัวมุมและตลาดสดเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนและมหานครฉงชิ่ง จากการสำรวจราคาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ราคาลำไยสดในแผงร้านผลไม้ทั่วไปในเฉิงตูกิโลกรัมละ 24 หยวน หรือประมาณ 120 บาทไทย ในห้างสรรพสินค้าราคากิโลกรัมละ 37.6 หยวน หรือ 188 บาทไทย ส่วนลำไยอบแห้งราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 หยวน หรือ ประมาณ 100 บาทไทย ทั้งนี้ราคาดังกล่าวไม่คงที่ จะมีการปรับขึ้น-ลง ตามฤดูกาล   ลำไยอบแห้งมีขายทุกฤดูกาล คนจีนนิยมนำไปต้มรับประทานแทนชา และนำไปประกอบอาหาร ใส่ในซุปต่าง ๆ ทำให้รสชาติกลมกล่อม เป็นลำไยคุณภาพปานกลางและขนาดไม่ใหญ่มากนัก ไม่ใช่ลำไยคัด
          แม้ว่าประเทศจีนในบางพื้นที่จะสามารถปลูกผลไม้ไทยเช่นมังคุด ลำไย มะขาม ได้เองเนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตร้อน แต่จีนในเขตภาคตะวันตกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อไม้ผลเมืองร้อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น พืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นไม้เมืองหนาว ยกเว้นบางมณฑลเช่น ยูนนาน กวางสี ไหหลำ ซึ่งเริ่มปลูกผลไม้เมืองร้อนบ้างแต่คุณภาพยังไม่ดีเท่าประเทศไทย เนื่องจาก สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ รวมถึงเทคนิคในการเพาะปลูกซึ่งยังต้องอาศัยเวลาในการพัฒนา
          เอกลักษณ์คุณภาพลำไยไทยคือ รสหวาน อร่อย เนื้อหนา เม็ดเล็ก ขณะที่ลำไยต่างชาติเช่นเวียดนาม จะมีเม็ดในใหญ่กว่า เนื้อฟ่ามบางและไม่หวาน ซึ่งมีราคาถูกกว่าลำไยไทยกว่าครึ่งคือประมาณ 6.5 หยวน/กิโลกรัม  นายหวัง เจิง ผู้จัดการบริษัทChongqing Fruit Trading Co.,Ltd. ผู้จำหน่ายผลไม้ไทยรายสำคัญในตลาดขายส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า กล่าวว่า " ลำไยไทยที่นำเข้าแบ่งเป็น 5 เกรด ตามคุณภาพของสินค้าซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าเนื่องจากคุณภาพดี  ส่วนลำไยเวียดนามในตลาดฉงชิ่งมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ตัวเมืองรอบนอกที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อไม่สูงมาก โดยบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดลำไยในเมืองหลักของมหานครฉงชิ่งประมาณร้อยละ 30 "
          ปัญหาอีกข้อที่พบคือปัญหาการปลอมปนมากในช่วงที่ลำไยราคาแพง จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจับตามอง เพื่อควบคุมคุณภาพตลาดลำไย ซึ่งหากไทยสามารถควบคุมคุณภาพลำไยได้ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก็จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์สินค้าไทยเพื่อครองใจผู้บริโภคชาวจีนเช่นปัจจุบัน

5. โอกาสทางการตลาดในอนาคต
          5.1 การลดต้นทุนโลจิสติกส์ เป็นยุทธศาสตร์การแข่งขันทางการค้าที่สำคัญของไทยในปัจจุบัน สำนักโลจิสติกส์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่าปัจจุบันไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงถึงร้อยละ 25-30 การหาเส้นทางขนส่งผลไม้ไทยสู่จีนภาคตะวันตกที่มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่งลงจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
          5.2 การสร้างความเชื่อมั่น  ลำไยไทยได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคอยู่แล้วว่ามีคุณภาพดีกว่าของเวียดนาม แต่ราคาสูงกว่า 2-3 เท่า ทำให้กลุ่มผู้บริโภคแคบกว่า คือเป็นกลุ่มที่ต้องการบริโภคของดี มีคุณภาพ ทั้งนี้ผู้จำหน่ายเองก็พยายามตอบสนองผู้บริโภค ด้วยการพยายามลดต้นทุน ประกอบกับสำนักงานฯได้จัดกิจกรรมส่งเสริม เน้นสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพผลไม้ไทย และคุณประโยชน์ต่างๆอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผลไม้ไทย รวมทั้งลำไยไทยมีการขยายตัวด้านการนำเข้าและกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
          5.3 กิจกรรมส่งเสริมผลไม้ไทย สคร.เฉิงตูได้จัดกิจกรรมส่งเสริมผลไม้ไทยในปี 2553 เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมผลไม้ไทยร่วมกับห้าง ITO YOKADO และ ISETAN ห้างระดับบนในนครเฉิงตู จัดกิจกรรมร่วมกับตลาดขายส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า มหานครฉงชิ่ง รวมถึงมีการเผยแพร่กิจกรรมผ่านสื่อต่างๆในจีน การจัดทำวัสดุและเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยระบุคุณประโยชน์ต่างๆเป็นภาษาจีน ทำให้ผลไม้ไทยได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในจีนตะวันตก


          สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ