สถานการณ์สินค้าอาหารไทยในตลาดเยอรมนี ประจำเดือนพฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 14:04 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในช่วง 3 เดือนแรกปี 2553 การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารมียอดการขายเป็นมูลค่า 25,287.3 ล้านยูโร เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ เนื่องจาก ที่ผ่านมาร้านค้าประเภท Discounter โดยเฉพาะ Aldi และ Lidl ที่รวมกันมีส่วนแบ่งตลาดในเยอรมนีกว่าร้อยละ 40 ได้แข่งลดราคาสินค้าหลายรายการลงมาก จึงทำให้ยอดขายโดยรวมลดลงด้วย สินค้าอาหารที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในเยอรมนีจะเป็น นมและผลิตภัณฑ์ ในช่วงไตรมาสแรกปี 2553 มียอดขายเป็นมูลค่า 4,421.4 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 2.4 ขนมปังและอาหารทำจากแป้งมูลค่า 2,441.8 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 3.3 เนื้อไก่ชำแหละมูลค่า 750.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8

สินค้าส่งออกของไทย

ในช่วง 3 เดือนแรกปี 2553 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรไปเยอรมนีเป็นมูลค่า 131.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 สินค้าส่งออกรายการสำคัญ ๆ ได้แก่ ไก่แปรรูป กุ้งแช่แข็ง ข้าวหอมมะลิ และสัตว์น้ำประเภทครัสตาเซีย (ปู และปลาหมึก) สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ได้แก่ กู้แปรรูป สับปะรดกระป๋อง ปลาทูน่ากระป๋อง เป็นต้น

แหล่งนำเข้าของเยอรมนี

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเยอรมนี มีส่วนแบ่งตลาดและของประเทศคู่แข่งสำคัญๆ ดังนี้

          ไก่แปรรูป      เบลเยี่ยม   20.0%  เนเธอร์แลนด์  18.9%  ไทย         12.2%
          กุ้งแช่แข็ง      เวียดนาม   16.8%  บังคลาเทศ    14.4%  เนเธอร์แลนด์  12.3%   ไทย  10.7%
          ข้าว          อิตาลี      30.5%  เนเธอร์แลนด์  18.4%  เบลเยี่ยม     12.0%   ไทย  10.7%
          กุ้งกระป๋อง     ไทย       26.8%  เนเธอร์แลนด์  20.5%  เดนมาร์ค     11.1%
          สับปะรดกระป๋อง ไทย       40.0%  เนเธอร์แลนด์  22.0%  เคนยา       17.0%   อินโดนีเชีย 14.0%
          ปลาทูน่ากระป๋อง ฟิลิปปินส์    23.7%  เนเธอร์แลนด์  18.7%  เอควาดอร์    17.5%   ไทย  4.3%

จากการที่ในปี 2552 ที่ผ่านมาตลาดโลกมีความต้องการสินค้าลดลงอย่างมาก เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการด้านโลจิสติก การขนส่งสินค้าทางทะเลได้ลดปริมาณเรือบรรทุกสินค้าลงมาก เมื่อตลาดกลับมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นมากและอย่างรวดเร็ว ทำให้ขาดเรือบรรทุกสินค้า ไม่เพียงพอกับปริมาณที่ต้องขนส่ง ทำให้การนำเข้าสินค้าทั่วโลกติดขัด มีระยะเวลาการส่งมอบที่ยาวนานขึ้น ในส่วนของเยอรมนี ผู้นำเข้า ร้านค้าส่งค้าปลีกบางรายเริ่มมีปัญหากันบ้างแล้ว จะไม่มีสินค้าขาย รวมทั้งสินค้าอาหารของไทยที่ใช้การขนส่งทางเรือด้วย สำหรับสินค้าที่ขนส่งทางอากาศยังคงมีปัญหาอยู่บ้าง ที่สืบเนื่องจากขี้เถ้าภูเขาไฟที่เกาะไอซ์แลนด์ที่ลอยขึ้นสู่อากาศ ซึ่งปัจจุบันยังคงคุกรุ่น ปะทุต่อเนื่องและพ่นเถ้าถ่านมากบ้าง น้อยบ้างตลอดมาจนต้องมีการปิดสนามบินสำคัญๆ หลายๆ แห่งในยุโรปเป็นบางวัน หากเหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้สืบต่อไปก็จะทำให้การส่งออกสินค้าของไทยโดยรวมต้องลดลงอย่างแน่นอน

ปัญหาอุปสรรค

1. ความต้องการสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นมากและอย่างรวดเร็ว มีเรือบรรทุกสินค้าไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้ประกอบการเดินเรือประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการจอดพัก เรือไว้ในช่วงที่ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าลดลงมาก การเพิ่มขึ้นของการขนส่งเกิดขึ้นเร็วมากจนผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน

2. การปะทุ คุกรุ่งของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ยังคงรบกวนการขนส่งทางอากาศอยู่บ้าง เพราะมีการปิดบางสนามบินที่สำคัญๆ บ้าง

3. สินค้าไทยยังคงมีปัญหาอยู่ มีการตรวจพบสารเคมี สารพิษ สารต้องห้าม ตกค้างในผักและผลไม้สดจากไทย

4. สับปะรดกระป๋องของไทยเริ่มมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ทำให้ไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนดเวลา

5. สินค้าของไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่งสำคัญๆ คือ จีนและเวียตนาม ที่มีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยมา นอกเหนือจากปริมาณการผลิตที่มากกว่าสินค้าไทยมาก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ