นาย Eni Faleomavaega ผู้แทนของอเมริกันซามัวในสหรัฐฯ ขอให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดการสอบสวนการ ทุ่มตลาด ปลาทูน่ากระป๋องที่นำเข้าจากประเทศไทย โดยกล่าวหาว่าผู้ส่งออกไทยขายสินค้าในตลาดสหรัฐฯในราคาต่ำกว่าต้นทุน หรือมูลค่าตลาดที่ยุติธรรม (Fair Market Value) ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดกฏหมาย "ทุ่มตลาด" ทั้งนี้ขณะนี้ปลาทูน่ากระป๋องจากไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่เกือบ 30%
ข้อเรียกร้องดังกล่าว เนื่องในโอกาสที่ผู้แทนอเมริกันซามัว แสดงความขอบคุณบริษัทอเมริกัน StarKist (ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่ Pittsburg) ที่ไม่ปิดโรงงานปลาทูน่ากระป๋องที่ซามัว ถึงแม้จะลดคนงานลงถึง 600-800 คน (เหลือคนงานประมาณ 1,200 คน) และได้กล่าวพาดพิงถึงประเทศไทยว่า เป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยปลาที่นำมาใช้ส่วนใหญ่มาจากน่านน้ำแปซิฟิก และเป็นผู้นำในการส่งไปขายสหรัฐฯ จากความได้เปรียบของไทยคือค่าแรงที่ต่ำ (ประมาณ ชั่วโมงละ0.75 เหรียญฯ หรือ 24 บาท)
ข้อสังเกตุคือ เมื่อกันยายนปี 2552 บริษัท Chicken of the Sea (Thai Union Frozen Product) ของไทย ได้ปิดโรงงานปลาทูน่ากระป๋องในอเมริกันซามัว ซึ่งมาจากเหตุผลเดียวกับที่บริษัท StarKist ต้องลดคนงานลง คือ กฎหมายการจ้างงานที่ออกมาในปี 2550 เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น รวมทั้งประเทศไทยด้วย ปัจจุบันค่าจ้างคนงานโรงงานปลากระป่องในซามัว 4.76 เหรียญฯต่อชั่วโมง และในวันที่ 30 กันยายน ปีนี้จะขึ้นอีก 0.50 เหรียญฯ เมื่อถึงปี 2557 ค่าจ้างจะเป็น 7.25 เหรียญฯต่อชั่วโมง
นาย Faleomavaega ได้พยายามต่อสู้มาตลอดเพื่อให้โรงงานปลาทูน่ากระป๋องอยู่ได้ในซามัว เดือนกันยายนปี 2552 เขาได้เสนอร่างกฎหมายให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทที่ส่งอาหารทะเลให้ซามัวใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูป เพื่อจะทำให้คนงานยังมีงานทำต่อไป เพราะเศรษฐกิจภาคเอกชนมากกว่า 80% ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมประมงและแปรรูป เขาย้ำว่าประเทศไทยจะเข้าข่ายทุ่มตลาดหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป แต่ที่แน่ๆคือ อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องได้เปลี่ยนไปอย่างใหญ่หลวงในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ที่มา: http://www.depthai.go.th