รายงานภาวะตลาดสินค้าข้าวใน ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ : ยูเออี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 14:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สินค้า: ข้าว พิกัดศุลกากร (HS) : 1006
2. การนำเข้ารวมของประเทศยูเออี:

ปี 2007 ปริมาณ 1 ล้านตัน มูลค่า 684.6 ล้านเหรียญสรอ.

ปี 2008 ปริมาณ 1.3 ล้านตัน มูลค่า 1,517 ล้านเหรียญสรอ.

ปี 2009 ปริมาณ 1.4 ล้านตัน มูลค่า 1,744 ล้านเหรียญสรอ.

นำเข้าจากประเทศ : อินเดีย 64% ปากีสถาน 28% ไทย 7% สหรัฐฯ อียิปต์ เวียตนาม 0.4% ออสเตรเลีย ศรีลังกา บังคลาเทศ และอุรุกวัย 0.2% ตามลำดับ 3. การส่งออกของไทย:

ปี 2008 มูลค่า 94.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 133.9%

ปี 2009 มูลค่า 62.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวลดลง 33.5%

ปี 2010 (มกราคม-มีนาคม) มูลค่า 14.3 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวลดลง 30.7% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

4. ราคา F.O.B. จากประเทศผู้ผลิต (ราคานี้เป็นราคาเฉลี่ยต่อ 1 ตันในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553)
          ข้าวหอมมะลิ (ชั้นดี)        1,080-1,090    เหรียญสรอ.
          ข้าวหอมปทุม                 880- 890    เหรียญสรอ.
          ข้าวขาว                    680- 700    เหรียญสรอ.
          ข้าวขาว (5%)               675- 695    เหรียญสรอ.
          ข้าวบาสมาติ (อย่างดี)      1,400-1,600    เหรียญสรอ.
          ข้าวบาสมาติ (ผสม)        1,100-1,200    เหรียญสรอ.
5. การส่งออกต่อ(Re-export) :  ปี 2008 ส่งออกต่อ 514 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปประเทศ อิหร่าน อิรัค อินเดีย สหรัฐฯ โซมาเลีย สิงคโปร์ และเยเมน
6. ช่องทางการนำเข้าสู่ตลาด  :
          - ผู้นำเข้า                    :   ร้อยละ  60
          - นายหน้า (Trader)           :   ร้อยละ  20
  • ร้านค้าปลีก/ซูเปอร์มาร์เกต : ร้อยละ 20
7. ฤดูกาลสั่งซื้อ              : ตลอดปี   ฤดูกาลจำหน่าย : ตลอดปี
8. การแข่งขัน               :  เป็นการแข่งขันกันเองระหว่างผู้นำเข้า
9. ภาษีนำเข้าจากราคา CIF    :  ไม่มี (ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอาหาร)
10.สิทธิพิเศษศุลกากร          :  ไม่มี
11.เอกสารประกอบการนำเข้า   :  Invoice, Certificate of Origin ประทับ ตรารับรองจากหอการค้าไทย และ Legalize จากสถานทูตประเทศ สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ในประเทศไทย Bill of Lading และ Packing List

12. กฎระเบียบข้อบังคับอื่นๆ :

สินค้าข้าวต้องมีใบรับรองคุณภาพหรือสุขลักษณะ Health หรือ Sanitary Certificate มีป้ายฉลากระบุรายละเอียด ชื่อสินค้า ขนาดน้ำหนัก ประเทศต้นทางผู้ผลิตเดือน/ปีที่ผลิต และหมดอายุ พืชต้องมีใบรับรองปลอดโรค Phytosanitary Certificate ประกอบสำหรับวันหมดอายุข้าวสาร ที่จะต้องพิมพ์ บนถุงข้าว มีระยะเวลา 2 ปี

13. ความนิยมบริโภคข้าว:

ชนิดของข้าวที่ใช้บริโภคในประเทศแตกต่างกันออกไป แต่ที่นิยมบริโภคกันมากที่สุด คือ ข้าวบาสมาติ จากอินเดียและปากีสถาน เป็นที่นิยมบริโภค มากโดยชาวอินเดียและปากีสถานที่เป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก ทำงานอยู่ในประเทศนี้ นอกจากนั้นเป็นข้าวเมล็ดสั้น (Japonica) ข้าวหอมมะลิ ส่วนผู้มีรายได้น้อย จะรับประทานข้าวคุณภาพรองลงมา รวมทั้งข้าวขาว 5% จากไทย

ชาวอาหรับพื้นเมืองในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้รับอิทธิพลการบริโภคข้าวจากชาวต่างชาติที่ เข้ามาอาศัยทำงานอยู่ในประเทศ ซึ่งแต่ละชาติมีรสนิยมและวิธีการบริโภคข้าวแตกต่างกันไป พอสรุปได้ดังนี้

1.ชาวอาหรับพื้นเมือง (8 แสนถึง 1 ล้านคน) ในแถบอ่าวอาระเบียนซึ่งได้รับอิทธิพลการ บริโภคข้าวจาก ชาวอิหร่าน อินเดีย และปากีสถาน นิยมรับประทานข้าวบาสมาติซึ่งมีเมล็ดเล็ก-ยาว ซึ่งเหมาะ กับการหุงข้าวหมกต่างๆ หรือหุงข้าวสวยที่ปรุงรสด้วยเนย น้ำมันพืช ข้าวจะสวยร่วนซุยไม่เหนียวติดกัน

2. ชาวอิหร่าน เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย และอาศัยทำงานอยู่ในประเทศ สหรัฐอาหรับมาช้านาน ชาวอิหร่านที่ได้รับการ เปลี่ยนสัญชาติ เป็นชาวสหรัฐอาหรับฯ และยังคงวัฒนธรรม การบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก การปรุงอาหาร ด้วยข้าวเป็นอาหารนานาชนิดของ ชาวอิหร่านได้กลมกลืนเป็น วัฒนธรรมการบริโภคของชาวสหรัฐอาหรับฯ ชาวอิหร่านนิยมข้าวบาสมาติ

3. ชาวอินเดียและปากีสถาน (1.5 ล้านคน) เป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่อาศัยทำงาน และประกอบธุรกิจ อยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นิยม บริโภคข้าวบาสมาติ สำหรับคนงานผู้มีรายได้ น้อยจะซื้อข้าวไทย 5 % และข้าวจีนที่มีราคา ถูกกว่าข้าวบาสมาติรับประทาน

4. ชาวเอเซียตะวันออกไกลและชาวยุโรป ส่วนใหญ่เป็นชาวฟิลิปปินส์ จีน เกาหลี ไทย และญี่ปุ่น นิยมรับประทานข้าวเมล็ดขนาดกลาง-สั้น เช่น ข้าวจีน ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวอเมริกัน และข้าวญี่ปุ่น สำหรับชาวยุโรป ซึ่งไม่นิยม รับประทานข้าวเป็น อาหารหลักเช่นชาวเอเซีย มักจะเลือกรับประทาน ข้าวบาสมาติเช่นกัน

ดังนั้นข้าวไทยที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตสนำเข้านั้นส่วนใหญ่จะเป็น ข้าวขาว 5% สำหรับส่งออกต่อมากกว่า ส่วนข้าวหอมมะลิจากไทยที่นำเข้านั้น เพื่อ ใช้จำหน่าย ให้กับผู้บริโภคในประเทศ มีเพียงเล็กน้อย เพราะข้าวไทยเมื่อหุงเป็นข้าวสวยจะไม่ร่วนซุยเหมือนข้าวบัสมาติ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ จึงไม่นิยมรับประทาน ผู้บริโภคข้าวไทยมักจะเป็นชาวเอเซียตะวันออกไกล เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย แต่ในขณะนี้มีการนำเข้าข้าว หอมมะลิมากขึ้น เพราะใช้เสริฟ ในร้านอาหารไทย

14. การบรรจุหีบห่อ :

มีการหีบห่อหลากหลายแต่ทั่วไปนิยมบรรจุในถุงผ้าและกระสอบเฮฟวี่ซี บางบริษัทที่บรรจุข้าวในถุงกระดาษและกล่องกระดาษมีการระบุวิธีการหุงข้าว สูตรการปรุงข้าวหมก ไวตามินและสารอาหารที่ได้จากข้าว สินค้าข้าวไทยที่วางขายปลีก ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมีการบรรจุในถุงพลาสติกใส (Poly bag) น้ำหนัก 2.5-10 กก. และในกระสอบพลาสติกน้ำหนัก 5 และ 10 กก. และขณะนี้มีการวางจำหน่าย หลายยี่ห้อมากขึ้น ส่วนข้าวไทยคุณภาพรอง (ข้าวขาว 5 %) ที่ขายปลีกในซุปเปอร์มาร์เกต หรือในตลาดนิยม ใช้การตวง/ชั่งกิโลตามความต้องการของผู้ซื้อ ข้าวไทยที่นำเข้าเพื่อส่งออกต่อนิยมบรรจุด้วยกระสอบ พลาสติก (P/P double bags) น้ำหนัก 45 กก. ถ้าเป็นข้าวบาสมาติ จากอินเดียและปากีสถานนิยม บรรจุ กระสอบเฮฟวี่ซีน้ำหนัก 90 กก.

15. สรุป :

ดูไบมีตลาดส่งออกต่อที่สำคัญคือ ตลาดอิหร่านและอิรัค ซึ่งเป็นชาวตะวันออกกลางที่นิยมบริโภคข้าวจากไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยมากมักจะนำเข้าข้าวชนิด 5% เป็นหลัก และนำเข้าครั้งละเป็นจำนวนมาก ผู้นำเข้าจะขายส่งให้กับผู้ค้า ที่นำเข้าไปยังตลาดอิหร่าน เพื่อจำหน่ายต่อไป โดยมีผู้นำเข้าหลักๆ รายใหญ่อยู่ประมาณ 10 ราย นอกจากนั้นมีผู้นำเข้าจำนวนไม่มากนักที่นำเข้าไม่สม่ำเสมออีกประมาณ 30 ราย ปี 2552 ที่ผ่านมาข้าวไทยที่ผ่านตลาดดูไบมีปริมาณลดลง เนื่องจาก

1. ข้าวจะส่งตรงจากประเทศผู้ส่งออกไปขึ้นที่ท่าเรืออิหร่านโดยตรงแทนที่จะส่งผ่านดูไบ

2. รัฐบาลอิหร่านประกาศขึ้นภาษีนำเข้าข้าวจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 45 เพื่อปกป้องข้าวในประเทศ

3. รัฐบาลยูเออีกำหนดแผนรองรับการขาดแคลนอาหาร โดยกำหนดให้ตุนอาหารจำเป็น 15 รายการสำรองเก็บในประเทศให้พอใช้บริโภคเป็นเวลา 3 เดือน ทำให้การส่งออกต่อข้าวและอาหารชงักลง ทำให้อิหร่านนำเข้าจากแหล่งอื่นทดแทน

4. มีการส่งคนงานจำนวนมากกลับออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคข้าวไทยในประเทศนี้

ส่วนตลาดส่งออกต่อไปอิรัคคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีพ่อค้าอิรัคหลายรายที่รวบรวมส่งสินค้าอุปโภคบริโภครวมทั้งข้าวและน้ำตาลไปอิรัคมีบริษัทอยู่ในดูไบหลายบริษัท อีกทั้งหน่วยจัดซื้ออาหารของยูเอ็นไปอิรัคตั้งอยู่ในรัฐดูไบอีกด้วย

สำหรับข้าวหอมมะลิสำหรับเป็นที่นิยมใช้บริโภคในประเทศ ผู้บริโภคกลุ่มใหม่คือชาวจีนที่เข้าไปทำงานอยู่ในยูเออีเป็นจำนวนมากขึ้นประมาณ 120,000 คน

ข้าวหอมมะลิไทยมีจำหน่ายหลายยี่ห้อมากขึ้น แต่จากการสำรวจตลาดพบว่าเป็นข้าวปลอมปนเกือบทั้งสิ้น อาทิ การใช้ข้าวหอมมะลิไทยจำนวนเล็กน้อยปนข้าวขาว ข้าวปทุมปนข้าวขาว ผู้นำเข้าบางบริษัทใช้ข้าวเวียตนามบนบรรจุภัณฑ์ระบุว่า Thai Jamine Rice/ Made in Thailand

ภาวะที่น่าจับตามองของการนำเข้าข้าวและอาหารของประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับ คือความพยายามที่จะลดการพึงพิงการนำเข้า โดยการเข้าไปเช่าพื้นที่เพาะปลูกในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ พม่า เวียด นาม กัมพูชา ไทย และฟิลิปปินส์ โดยให้เงินลงทุนและเงินสนับสนุนเพื่อการเพาะปลูกประเทศละหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากเมื่อประเทศต่างๆที่ได้ไปลงทุนเพาะปลูกไว้สามารถส่งผลผลิตกลับคืนประเทศนายทุน จะกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ