“ส่งออก” ปั้นเชฟมือทองป้อนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 15:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กรมส่งเสริมการส่งออก จัดแถลงข่าวโครงการ “เชฟไทยสู่ครัวโลก” มุ่งเน้นพัฒนาทักษะของบุคลากรในการประกอบอาชีพด้านธุรกิจอาหารให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นเพื่อสามารถทำงานในระดับมาตรฐานสากล ตลอดจนส่งเสริมการบริโภคอาหารไทยในตลาดต่างประเทศ

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยหลังเป็นประธานในงานแถลงข่าว “เชฟไทยสู่ครัวโลก” ว่า โครงการ “เชฟไทยสู่ครัวโลก” เป็นโครงการการสานต่อนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการส่งเสริมการขยายตัวจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ โดยมีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะพ่อครัวแม่ครัวอาหารไทยเพื่อ พัฒนาทักษะด้านธุรกิจร้านอาหารให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น โดยได้รับการตอบรับและความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำเป็นอย่างดี อาทิเช่น บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท รีเทลลิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด

โครงการ “เชฟไทยสู่ครัวโลก” ได้คัดเลือกผู้สมัครทั่วประเทศกว่า 800 คน คัดเหลือเพียง 170 คน และได้ทำการเก็บตัวผู้เข้าอบรม 170 คนเป็นระยะเวลา 5 วัน เพื่อติดเข้มให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจอาหาร โดยได้รับเกียรติจากวิทยกร ผู้ชำนาญ และเชี่ยวชาญต่างสาขา อาทิ เชฟระพีพัฒน์ บริบูรณ์ จากโรงเรียสอนการประกอบอาหารเลอ กอร์ดองเบลอ ดุสิต และเชฟเอียน พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย เจ้าของร้านอาหารไทยในนิวยอร์ก ผู้ผ่านการแข่งขันระดับโลกในรายการเชฟกะทะเหล็ก จนเป็นสาเหตุหลักในการที่ทำให้ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ได้มีมุมมอง นำมาปรับเปลี่ยนเมนูที่สร้างสรรค์ กว่า 30 เมนู อาทิ มัสมั่นฟรุตตี้ ปลากระพงย่างซอสเขียวหวาน ข้าวซอยโรล ลาซานญ่ากับซอสผัดไทย สาคูใส้ปลาเทราต์ คุ๊กกี้ต้มยำกุ้ง และเค้กข้าวเหนียวมะม่วง

“ปัจจุบันไทยขาดแคลนเชฟมืออาชีพที่ทำงานอยู่กับร้านอาหารไทย เพราะโดยส่วนใหญ่เชฟจะใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของตนเองที่ผ่านมาในการปรุงอาหาร ขาดความเข้าใจในพื้นฐานการทำงานที่ทันสมัยรวมถึงกฎ กติกา ทางด้านสุขอนามัยสมัยใหม่ อีกทั้งพ่อครัว แม่ครัวไทยมีการเปลี่ยนงานบ่อย ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องจำยอมรับพ่อครัวแม่ครัวต่างชาติมาดูแลห้องครัวแทน และนั่นคืออุปสรรคอันสำคัญในการขยายตัวอาหารไทยพร้อมกับการคงเอกลักษณ์ของอาหารไทย โครงการนี้จึงเป็นการส่งเสริมนโยบาย “การนำครัวไทยไปสู่ครัวโลก โดยการพัฒนาทักษะของแรงงานในการประกอบอาชีพด้านอาหาร เพื่อให้มีขีดความสามารถป้อนตลาดแรงงานในประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศที่มีความต้องการแรงงานฝีมือด้านอาหารไทยอยู่มากได้” นางศรีรัตน์ กล่าวสรุป

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ