รายงานสรุปตลาดผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 15:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวมแนวโน้มตลาดประเทศญี่ปุ่น
  • บ้านและที่พักอาศัยสร้างใหม่รวมในปีพ.ศ. 2553 (ม.ค.- มี.ค.) มีจำนวน 186,486 หลัง ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 193,843 หลัง
  • สมาคมอลูมิเนียมแห่งประเทศญี่ปุ่นร่วมกับนักวิศวกรและสถาปนิกชั้นนำ สร้างบ้านต้นแบบจากวัสดุอลูมิเนียม เพื่อเป็นการนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค และสนับสนุนอุตสาหกรรมอลูมิเนียมของประเทศ โครงสร้างที่ใช้วัสดุอลูมิเนียมได้แก่ เสา คาน ประตู หน้าต่าง ผนังภายนอก และหลังคา สมาคมยังได้รับการรับรองจากองค์การ NEDO (New Energy and Industrial Technology Development Organization) ให้เริ่มโครงการAlumi Eco House Project ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องในการปรับปรุงคุณสมบัติวัสดุ เช่น ลดปัญหาเสียงรบกวน เป็นต้น
  • บริษัท ทอสเทม(Tostem) ประเทศญี่ปุ่นเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “หน้าต่างติดฝ้า (Sky theater)” ในเดือนมีนาคม 2553 สามารถช่วยเพิ่มความสว่างได้มากกว่าแบบติดผนังถึง 3 เท่า ลดความร้อนสะสมภายในบ้านด้วยกระจกที่มีคุณสมบัติกันแดดและตัดรังสี UVได้สูง และมีฉนวนกันความร้อนออกจากภายในบ้านในช่วงฤดูหนาว จึงผ่านการรับรองตามมาตรฐานประหยัดพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการดูแลรักษา เนื่องจากกระจกด้านนอกถูกเคลือบด้วยฟิล์มที่สามารถชำระล้างสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ออกได้ในขณะฝนตก กรอบด้านนอกทำจากอลูมิเนียมที่เคลือบสีพิเศษจึงทนทานต่อทุกสภาพอากาศ
วัสดุเหล็กก่อสร้าง
  • อุปสงค์ของวัสดุเหล็กก่อสร้างรวมในปีพ.ศ. 2553 (ม.ค.- ก.พ.) ปริมาณ 1.68 ล้านตันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.5 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • การนำเข้าวัสดุเหล็กก่อสร้างในปีพ.ศ. 2553 (ม.ค.-มี.ค.) มูลค่า 375.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 16 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • นำเข้าจากประเทศไทยมูลค่า 44.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าการนำเข้ารวมทั้งหมด ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเปรียบเทียบระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • นำเข้าจากประเทศในภูมิภาคเดียวกับไทยคือ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
  • การส่งออกวัสดุเหล็กก่อสร้างในปีพ.ศ. 2553 (ม.ค.-มี.ค.) มูลค่า 84 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง ร้อยละ 26 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • ส่งออกไปยังประเทศไทยมีจำนวน 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของการส่งออกรวมทั้งหมด ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 63 เมื่อเปรียบเทียบระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • ส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 9 เท่า และร้อยละ 86 ตามลำดับ
วัสดุอลูมิเนียมก่อสร้าง
  • อุปสงค์และอุปทานวัสดุอลูมิเนียมก่อสร้าง ในประเทศญี่ปุ่น ปีพ.ศ. 2553 (ม.ค.- ก.พ.) มี
ปริมาณ 74,580 ตัน และ 74,554 ตัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 และ ร้อยละ 6 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • การนำเข้าวัสดุอลูมิเนียมก่อสร้าง(Hs 7308) ในปีพ.ศ. 2553 (ม.ค.-มี.ค.) มีจำนวน 118.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.6 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • นำเข้าจากประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งมูลค่า 78.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 66.5 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด อย่างไรก็ตามการนำเข้าในช่วงดังกล่าวปรับตัวลดลงร้อยละ 17 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • นำเข้าจากคู่แข่งสำคัญ คือ ประเทศจีน ซึ่งแนวโน้มปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 17
  • การส่งออกวัสดุลูมิเนียมก่อสร้างของญี่ปุ่น ในปีพ.ศ. 2553 (ม.ค.-มี.ค.) มีจำนวน 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 26 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • ส่งออกไปยังประเทศไทยมูลค่า 0.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 5 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด ปรับตัวลดลงร้อยละ 33 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) ประกาศตัวเลขประมาณการบริโภคเหล็กของโลก (global apparent steel use) ในปีนี้ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการเหล็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจใหม่ เช่นจีนและอินเดีย รวมทั้งคาดการณ์ว่าความต้องการเหล็กในปีหน้าจะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 5.3 ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคเหล็กของโลกทะลุระดับ 1,300 ล้านตันซึ่งเป็นสถิติสูงสุด อย่างไรก็ตามการประมาณการครั้งนี้ยังไม่ได้คำนวนถึงผลกระทบของราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

อนึ่งการวางแผนการปรับปรุงสาธารณูปโภคในแต่ละประเทศที่จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์เหล็กของโลก ได้แก่

  • การสร้างหรือปรับปรุงทางรถไฟด่วน : เวียดนาม (ยาว 1,600 กม.) บราซิล (ยาว 500 กม.) จีน (ปรับปรุงยาว 16,000 กม.)
  • การสร้างทางรถไฟบรรทุกสินค้า : อินเดีย (ยาว 2,800 กม.)

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ