"ข้าว" เขตปกครองตนเองกว่างซี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 15:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. นโยบายข้าว

ประชากรของเขตฯ กว่างซีมีอาชีพหลัก คือ การทำเกษตรกรรม โดยที่ทางการมีนโยบาย รักษาความมั่งคงทางด้านธัญญาหาร และส่งเสริมการปลูกข้าวของเกษตรกร รัฐบาลกลางของจีนจึงส่งเสริมและพัฒนาการเพาะปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตฯ กว่างซีที่การปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักของเกษตรกร รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม ดังนี้

1.1 หากปลูกข้าวในพื้นที่ 1 หมู่ (หรือเท่ากับ 2.3999 ไร่) เกษตรกรจะได้รับเงินอุดหนุนจากทางการเป็นเงิน 50-70 หยวน

1.2 เขตฯ กว่างซีมีการปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกได้รับเงินอุดหนุน 10 หยวน/หมู่และครั้งที่ 2 ได้รับเงินอุดหนุน 15 หยวน/หมู่

1.3 การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เครื่องจักรในการปลูกข้าว โดยได้รับเงินชดเชยร้อยละ 30-40 ของค่าใช้จ่ายที่ซื้อเครื่องจักรดังกล่าว

1.4 หากราคาข้าวต่ำกว่า 1.94 หยวน/กิโลกรัม ทางการจะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคา1.94 หยวน/กิโลกรัม

2. สถานการณ์ข้าวในภูมิภาค

ข้าวของเขตฯ กว่างซีต้องแข่งขันกับข้าวหอมมะลิของไทย ในปัจจุบันข้าวหอมมะลิของไทยเข้าสู่เขตฯ กว่างซีมากขึ้นเพราะมีภาพลักษณ์ดีและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยมีกลิ่นหอม รูปทรงสวย สีมันวาว และไม่มีเมล็ดข้าวหักเจือปน

อย่างไรก็ดี จากการที่ข้าวหอมมะลิของไทยมีราคาสูงกว่าข้าวท้องถิ่น ทำให้ข้าวท้องถิ่นยัง คงเป็นที่นิยมรับประทานของชาวกว่างซีมากที่สุด แต่ข้าวท้องถิ่นก็ได้รับผลกระทบจากความนิยมบริโภคข้าวไทยไม่น้อยเช่นกัน

3. การผลิต

3.1 พื้นที่

เขตฯ กว่างซีมีการเพาะปลูกข้าวอยู่ทั่วไป เกษตรกรประมาณร้อยละ 80 มีอาชีพปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองป๋อเป่ย เมืองเฉวินโจว เมืองกุ้ยผิง และเมืองหลิงซาน เป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของเขตฯ กว่างซี

3.2 ปริมาณและผลผลิต

ปี 2009 เขตฯ กว่างซีมีปริมาณการผลิตข้าวเปลือกถึง 10 ล้านตัน

4. การบริโภค

ชาวกว่างซีนิยมรับประทานข้าวพันธ์ธรรมดา (Inbrid Rice) มากกว่าข้าวพันธ์ผสม (Hybrid Rice) เนื่องจากมีรสชาดดีกว่า ถึงแม้ว่าข้าวพันธุ์ผสมจะให้ผลผลิต/หมู่สูงกว่าก็ตาม และนิยมข้าวขาวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิ และข้าวนึ่งได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มคน เนื่องจากมีราคาแพงกว่า

5. การจัดจำหน่ายในประเทศ

5.1 ช่องทางการจัดจำหน่าย

ข้าวมีการขายปลีกในตลาด ร้านค้า และซุปเปอร์มาร์เกต โดยผ่านทางตัวแทนจำหน่ายข้าว

5.2 ราคาจำหน่ายในประเทศ การจำหน่ายในซุปเปอร์มาเกต

ข้าวหอมมะลิ (92%) เกรดธรรมดา ราคาอยู่ระหว่าง 6.80- 10.36 หยวน/กิโลกรัม ส่วนเกรดดีอยู่ระหว่าง 11.90 — 15.00 หยวน/กิโลกรัม

ข้าวท้องถิ่น เกรดธรรมดา อยู่ระหว่าง 2.80 — 3.50 หยวน/กิโลกรัม และเกรดดีอยู่ระหว่าง 4.00 — 7.80 หยวน/กิโลกรัม

การจำหน่ายในตลาด

ข้าวท้องถิ่นอยู่ระหว่าง 2.30 - 5.53 หยวน/กิโลกรัม

6. นำเข้า-ส่งออก

ข้าวที่เพาะปลูกในเขตฯ กว่างซีส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการบริโภคภายในเป็นหลัก และมีส่งออกแต่ไม่มากนัก โดยส่งไปยังฮ่องกงและมาเก๊าประมาณ 8 แสนตัน/ปี

7. กฎระเบียบการนำเข้าและส่งออก

เขตฯ กว่างซีไม่สามารถกำหนดโควต้านำเข้า-ส่งออกข้าวได้เอง จำเป็นต้องดำเนินนโยบายตามรัฐบาลกลาง หลังจากเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนได้ก่อตั้งขึ้นแล้ว ข้าวที่นำเข้าจากประเทศอาเซียนยังคงต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 1 เนื่องจากเป็นสินค้าอ่อนไหว โดยจีนนำเข้าข้าวจากไทยในสัดส่วนร้อยละ 90 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนได้แถลงว่า ปี 2010 จีนมีโควตาการนำเข้าข้าวสาร 5.32 ล้านตัน ซึ่งในแต่ละปีการกำหนดโควตาการนำเข้าแตกต่างกัน และผู้ที่สามารถนำเข้าข้าวสารได้ คือ

1. รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับธัญญาหาร

2. วิสาหกิจที่มีมูลค่าการค้าสูงถึง 1 ร้อยล้านหยวนขึ้นไป

3. วิสาหกิจที่มีมูลค่าการนำเข้า- ส่งออกสูงถึง 25 ล้านดอลลาสหรัฐ

8. กฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวกับข้าวและผลิตภัณฑ์

ทางการกว่างซีสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนม ฯลฯ เนื่องจากเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งชาวกว่างซีนิยมบริโภคเป็นอย่างมากอีกประเภทหนึ่ง นอกจากนี้ ยังส่งไปจำหน่ายในมณฑลอื่นๆ อีก เช่น กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ฯลฯ

สคร.หนานหนิง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ