ตลาดสินค้าอาหารประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 16:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. บทนำ

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารที่มีคุณภาพดี และมีชื่อเสียงที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการผลิตเพื่อการส่งออก มีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบ รวมถึงศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ที่สามารถพัฒนาคุณภาพ และรูปแบบของสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาดได้ ทำให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปในอันดับต้น ๆ ของโลกหลายรายการ อาทิเช่น ไก่แช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง ผักกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง และ ปลาทูน่ากระป๋อง เป็นต้น ภาพรวมการค้าสินค้าอาหารของยูเออีผ่านมา พอสรุปได้ดังนี้

                       Value : Billion $US         Increase + - %
     UAE             2006     2007      2008     2007/06    2008/07
       Import       6,079    7,296    10,556       16.7       30.9
       Export       2,227    2,461     3,235        9.5       23.9
    Re-export       1,205    1,387     1,999       13.1       30.6
2.การนำเข้า

ประชากรประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ : ยูเออี ทั้งสิ้นประมาณ 5 ล้านคน สินค้าอาหารร้อยละ 80 ขึ้นอยู่กับการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากภูมิอากาศและภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยการกสิกรรมเพาะปลูก ผักที่สามารถปลูกได้ในช่วงฤดูหนาวได้แก่ มะเขือเทศ ผักสลัด ถั่วฝักยาว แตงกว่า ผักชี และผักโขม เป็นต้น ประชากรในประเทศส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติจากหลายประเทศทั่วโลก อาหารที่นำเข้าจึงมีความหลากหลาย ดังนั้น ยูเออีนับได้ว่าเป็นตลาดนำเข้าอาหารที่สำคัญของไทยในภูมิภาคนี้

ยูเออีนำเข้าอาหาร (H.S. code 01-23) มูลค่าเพิ่มขึ้นตลอดในช่วง 3 ปี (2006-2008) ที่ผ่านมา กล่าวคือ ปี 2006 มูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2007 เพิ่มเป็นมูลค่า 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มร้อยละ 20 ปี 2008 เพิ่มเป็นมูลค่า 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวในเชิงมูลค่าร้อยละ 44.7 ปี 2009 มูลค่าประมาณ 11.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 11.2

กลุ่มอาหารที่นำเข้ามูลค่ามากน้อย 10 อันดับแรก พอสรุปได้ดังนี้

1. กลุ่มสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว และธัญพืช มูลค่าทั้งสิ้น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรืออัตราการขยายตัวร้อยละ 106 แหล่งนำเข้าที่สำคัญคือ อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐฯ และนำเข้าจากไทยมูลค่า 103 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่นำเข้าปี 2007 หรือขยายตัวในเชิงมูลค่าร้อยละ 145 สินค้าหลักของไทยคือข้าว

2. กลุ่มเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ และไก่ มูลค่ารวม 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มจากมูลค่า 736 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 47 แหล่งนำเข้าที่สำคัญจาก โอมาน อิหร่าน ออสเตรเลีย อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย เนเธอร์แลนด์ กาตาร์ ยอรมัน เป็นต้น และนำเข้าจากไทยปี 2008 มูลค่าสองแสนเหรียญสหรัฐฯ และไม่มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากไทยปี 2007

สินค้าหลักของไทยกลุ่มนี้ ได้แก่ ไก่และผลิตภัณฑ์ ซึ่งไทยยังติดปัญหาหลังจากที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศการระงับนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ปีกสดและผลิตภัณฑ์จากไทยตั้งแต่ปี 2004 เนื่องจากการเกิดโรคระบาดของไข้หวัดนก

ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของโรคครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 และ 25 กุมภาพันธ์ 2552 กรมปศุสัตว์ได้รายงานให้องค์กรสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ทราบว่าขณะนี้ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้หวัดนกแล้ว เนื่องจากประเทศไทยปลอดจากไข้หวัดนกเป็นเวลานานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว

สำนักส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมมือในการพยายามติดต่อ ได้มีการเข้าพบกับ หน่วยงานที่เกี่ยวกข้อง คือกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำของยูเออี เพื่อเจรจาและติดตามมาตรการอย่าง เพื่อยกเลิกการระงับการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทย

3. ผลไม้กลุ่มส้ม มะนาว แตงโม และถั่ว รวมมูลค่า 954 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 778 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 22 แหล่งนำเข้าที่สำคัญจากประเทศ อินเดีย สหรัฐฯ อัฟริกาใต้ อิหร่าน ฟิลิปปินส์ จีน ชิลี อิรัคและ อียิปต์

นำเข้าจากไทยมูลค่า 8.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มจากมูลค่า 7.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯร้อยละ 2.5

4. ผลิตภัณฑ์นม เนย ไข่ และน้ำผึ้ง รวมมูลค่า893 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากมูลค่า 630 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าที่สำคัญจาก ซาอุดิอาระเบีย เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย เดนมาร์ค โอมาน ฝรั่งเศส และบราซิล เป็นต้น มูลค่านำเข้าจากไทย 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มจากมูลค่า สามแสนเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวขึ้นร้อยละ 467

5. กลุ่มน้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ และไขมันพืช/สัตว์ รวมมูลค่า 787 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 101 จากมูลค่า 391 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าที่สำคัญ เนเธอร์แลนด์ เคนย่า ไทย อินเดีย มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย โปรตุเกส และ เอธิโอเปีย นำเข้าจากไทยมูลค่าสี่แสนเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 1 แสนเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 300

6 . ผักสด มูลค่า 726 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 557 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 30 แหล่งนำเข้าที่สำคัญจาก ประเทศอินเดีย แคนาดา จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย จีน ออสเตรเลีย พม่า เนเธอร์แลนด์ อียิปต์ และอิหร่าน เป็นต้น มูลค่านำเข้าจากไทย 9.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 7.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯร้อยละ 21.5

7. ชา แกแฟและเครื่องเทศรวมมูลค่า 659 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มจากมูลค่า 475 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 39 นำเข้าจากประเทศ ศรีลังกา อินเดีย กัวเตมาลา เวียตนาม จีน อิหร่าน และเคนย่า นำเข้าจากไทยมูลค่า 6 แสนเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มจากมูลค่า 4 แสนเหรียญสหรัฐฯหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25

8. น้ำมันสกัดจากเมล็ดพืช ต้นไม้ และผลไม้ สำหรับใช้ทั่วไป ใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอางค์ มูลค่า 564 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวในเชิงมูลค่าร้อยละ 34 จากมูลค่า 4.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าสำคัญจากประเทศ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย เดนมาร์ค กัวเตมาลา เวียตนาม จีน และนำเข้าจากไทยมูลค่า 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 2 แสนเหรียญสหรัฐฯหรือขยายตัวร้อยละ 10

9. อาหารแปรรูปอื่นๆ มูลค่า 495 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มจาก มูลค่า 419 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 18 แหล่งนำเข้าจากประเทศสหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ อียิปต์ ตุรกี เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ไทย สเปน เยอรมัน และมูลค่าที่นำเข้าจากไทยปี 2008 ประมาณ 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ

10. แป้ง นม เส้นพาลต้า เส้นหมี่ ผลิตภัณฑ์จากแป้ง มูลค่า 370 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 246 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 51 นำเข้าจากประเทศ ซาอุดิอาระเบีย อังกฤษ เยอรมัน สหรัฐฯ ไอร์แลนด์ อิตาลี โอมาน เนเธอร์แลนด์ ตุรกี และมาเลเซีย มูลค่านำเข้าจากไทยปี 2008 ประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

3. ช่วงเวลาการนำเข้า

โดยส่วนใหญ่จะมีการสั่งซื้อตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดส่งออกต่อ (Re-export) และตลาดจะซบเซาในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตามอาจพอสรุปช่วงเวลาการนำเข้าได้ดังนี้

  • Peak Period ของการส่งออก คือ กันยายน- พฤษภาคม
  • Low Period ของการส่งออก คือ มิถุนายน — สิงหาคม
4. การส่งออกต่อ(Re-export)

สินค้าที่นำเข้าเพื่อบริโภคในแต่ประเทศ ที่เหลือประมาณร้อยละ 50-65 จะกระจาย (Re-Export) ไปยังประเทศสมาชิกอ่าวอาหรับอื่นๆ กลุ่มประเทศซีไอเอส อินเดีย และอัฟริกาตะวันออก ปี 2008 มีการส่งออกต่อมูลค่าประมาณ 54.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ตลาดหลักที่ส่งออกต่อ (Re-export) ได้แก่ อิหร่าน (ร้อยละ 39) โอมานและอิรัค (ร้อยละ 11) จีน (ร้อยละ 5.3) โซมาเลีย (ร้อยละ 3.0) ซาอุดิอาระเบีย มัลดีฟ กาตาร์และคูเวต (ร้อยละ 2) และเยเมน(ร้อยละ 1.2) ตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ อินเดีย เคนย่า อัลจีเรีย บาห์เรน ซูดาน กาปีสถาน และเติร์กเมนนิสสถาน

5. การผลิตในประเทศ

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โดยทั่วไปจะเน้นการใช้แรงงาน (labor intensive) ในขณะที่ยูเออีประสบปัญหาค่าแรงสูงและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ ส่วนทางด้านทักษะแรงงานส่วนใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ยังเป็นแรงงานที่มีฝีมือในระดับกลาง ที่ยูเออีนำเข้าแรงงานจากกลุ่มประเทศเอเซียใต้

เทคโนโลยีและการลงทุน

รัฐบาลกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับให้ความสำคัญพัฒนาในอุตสาหกรรมอาหารอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่แผน Food security โดยลงทุนทำการเกษตรในประเทศต่างๆเพื่อส่งสินค้ากลับไปประเทศ โดยร่วมลงทุนในเทคโนโลยีการเกษตรและปรับปรุงผลิตผลทางการเกษตร ในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ ได้เข้าไปตั้งฟาร์มเลี้ยงแกะ แพะ รวมทั้งฟาร์มไก่ในประเทศปากีสถาน และซูดานเป็นต้น

รัฐบาลยูเออีให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยปี 1994 ได้อุดหนุนเงินจำนวน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งโรงงานผลิต/บรรจุอาหาร 150 แห่ง อาทิ น้ำมันปรุงอาหาร น้ำตาลทราบ แป้งสาลี เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ อาหารว่างและขบเคี้ยว มักกะโรนี และผลิตภัณฑ์นม/เนย เพื่อสำหรับบริโภคในประเทศและสำหรับส่งออก

ปี 2008 ยูเออี ส่งออกมูลค่า 220 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวในเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยะ 51.2 หรือมูลค่า 145.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2007 ที่ผ่านมา ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อิรัค (ร้อยละ 23) อิหร่าน (ร้อยละ 20) โอมาน (ร้อยละ 9) ซาอุดิอาระเบียน ซาอุดิอาระเบีย (ร้อยละ 4) คูเวต อียิปต์ เยเมน (ร้อยละ 3) อัฟกานิสถานและปากีสถาน (ร้อยละ 2 ) ตามลำดับ

6. สินค้าและคู่แข่งขันในตลาดที่สำคัญ

อาหารแปรรูป/กระป๋องของไทยในตลาดยูเออี มีสัดส่วนสูงที่สุดคือ ทูน่ากระป๋อง รองลงมาได้แก่ ผลไม้กระป๋อง มะขามเปียกและผลไม้อบแห้ง เครื่องดื่ม ปลาและผลิตภัณฑ์แช่แข็ง เส้นหมี่และบะหมี่สำเร็จรูป

ปลาทูน่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สะดวกในการนำไปประกอบอาหาร เป็นอาหารที่รับประทานได้ทุกเพศและศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอิสลามที่อาหารจะต้องผลิตถูกต้องตามหลักศาสนา และได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาล ทำให้ปริมาณการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องในตลาดนี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รูปแบบการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ปลาทูน่าในน้ำมันพืช และปลาทูน่าในน้ำเกลือ ทั้งที่ใช้แบรนด์ของไทยเองในการส่งออก และรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ของยูเออี ปลาซาร์ดีนกระป๋องไทยเคยมีสัดส่วนครองตลาดประมาณร้อยละ 80 แต่ปัจจุบันได้ถูกสินค้าจากฟิลิปปินส์ช่วงชิงตลาดส่วนใหญ่ไป

สินค้าสับปะรดคู่แข่งของไทย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งได้เปรียบไทยในด้านต้นทุนการผลิต และการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีทางการผลิตสินค้าสับปะรดกระป๋อง จากบริษัทยักษ์ของสหรัฐอเมริกา(Del Monte) และจีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามอง

สินค้ากระป๋องอื่นๆที่มีศักยภาพได้แก่ ข้าวโพดอ่อน และหน่อไม้ ลำไย ลิ้นจี่ และเงาะ

7. กฏระเบียบ ภาษี และเอกสารประกอบการนำเข้า

ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี มีมาตรฐานสินค้าอาหารเรียกว่า Emirates Standards & Measurements Organization (ESMO) ควบคุมดูแลและวางกฎระเบียบโดย National Food Safety Committee (NFSC) มีหลักเกณฑ์และกฎระเบียบการนำเข้าอาหารสรุปได้ดังนี้

7.1 ภาษีนำเข้าจากราคา CIF : หากเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารไม่มีภาษีนำเข้า อาหารแปรรูปร้อยละ 5 และไม่มีการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP)

7.2 เอกสารประกอบการนำเข้า :

  • Invoice Certificate of Origin ประทับตรารับรองจาก หอการค้าไทย และ Legalize จากสถานทูตประเทศสหรัฐ อาหรับเอมิเรตส ในประเทศไทย Bill of Lading และ Packing List

7.3 สินค้าอาหารต้องมีใบรับรองคุณภาพหรือสุขลักษณะ Health หรือ Sanitary Certificate (ออกโดยหน่วยงานสาธารณสุขของไทย)

7.4 สินค้าเนื้อสัตว์ ต้องผ่าน การฆ่าตามหลักศาสนาอิสลาม และมีใบรับรอง Halal Certificate จากองค์การศาสนาอิสลาม ในประเทศผู้ส่งออก

  • หากใช้น้ำมันเป็นส่วนผสมต้องระบุชนิดของน้ำมัน

7.5 ฉลากอาหาร :

  • ฉลาก บนบรรจุภัณฑ์ต้องมีรายละเอียด ชื่อสินค้าส่วนผสม ขนาดบรรจุประเทศต้นทางหรือผู้ผลิต วันผลิต และวันหมดอายุ พร้อมภาษาอาระบิคข้อความบนฉลากอ่านง่ายชัดเจน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ทั้งนี้ข้อความต้องชัดเจนไม่บิดเบือน
  • วัน/เดือน/ปีอายุอาหาร (shelf life) ต้องมีอย่างน้อย 6 เดือนข้อความที่พิมพ์จะต้องไม่หลุดลอก ลบออกได้ (printed, imposed หรือ ink jetted)
  • การพิมพ์วันผลิตและหมดอายุมีดังนี้ dd/mm/yy สำหรับอาหารที่มีอายุอาหารน้อยกว่า(shelf life) 6 เดือน สำหรับอาหารที่มี shelf life มากกว่า 6 เดือนจะต้องระบุดังนี้ mm/yy
8. สรุป

8.1 ข้อได้เปรียบของอาหารแปรรูปไทย คือ ไทยมีแหล่งวัตถุดิบที่สมบูรณ์ โรงงานผลิตมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากลสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับของตลาดได้อย่างสม่ำเสมอมีศักยภาพในด้านการผลิตของประเทศยังมีสูง มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการส่งมอบ และยืดหยุ่นในการบริการลูกค้า

8.2 ข้อด้อยของสินค้าไทย ในส่วนของผู้ผลิตและส่งออกขนาดเล็กและกลางขาดความรู้เกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาการตัดราคา ไม่ให้ความสนใจลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์มากนักหรือมีน้อมาก อีกทั้งขาดบุคลากรมืออาชีพที่มีความสามารถด้านการตลาด

8.3 สินค้าส่งของไทยมีราคาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังคงมีคุณภาพดีและได้รับความสนใจจากผู้นำเข้า

8.4 คู่แข่งสำคัญของไทยโดยเฉพาะมาเลเซีย จีนและเวียตนามมีความสามารถผลิตสินค้าได้มาตรฐานมากขึ้น และมีราคต่ำกว่าสินค้าประเภทเดียวกันจากไทย

8.3 กลยุทธ์

8.3.1 เร่งพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพื่อส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้า

8.3.2 ศึกษาความต้องการของตลาดอยู่เสมอ

8.3.3 ให้ความสำคัญกับข้อกำหนดคุณภาพ มาตรฐานสินค้านำเข้าที่เข้มงวด โดยเฉพาะด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย ผลิตสินค้าตามมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าที่กำหนดไว้ และฉลากอาหาร

8.3.4 เข้าร่วมงาน Exhibition เกี่ยวกับอาหารที่สำคัญของยูเออีเพื่อเผยแพร่สินค้า และศึกษาตลาด

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ