ภาวะความต้องการเนื้อปลาบด(ซูริมิ)ในญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 17:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผู้ผลิตอาหารแปรรูปจากเนื้อปลาบดหรือซูริมิในประเทศญี่ปุ่น เช่นลูกชิ้นปลา ชิกูวะ คามาโบโกะ กำลังเผชิญกับปัญหาราคาต้นทุนสูงขึ้น เนื่องจากสาเหตุสำคัญหลายประการ

1. แหล่งวัตถุดิบในประเทศน้อยลง โดยเฉพาะปริมาณการจับปลาในเขตฮอกไกโดที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญของญี่ปุ่นลดลง เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนไม่เอื้ออำนวยต่อการทำประมง

2. ญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อปลาบดจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น ไทย จีน และอินเดีย เกินกว่าครึ่งของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด แต่เนื่องจากชนิดของปลาที่เป็นวัตถุดิบในภูมิภาคนี้มีคุณภาพระดับต่ำถึงปานกลาง ทำให้ราคาขายในท้องตลาดปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตหมดความสนใจและลดปริมาณการผลิต ทำให้ปริมาณการนำเข้าของประเทศญี่ปุ่นลดลงตาม

3. ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าปลา Alaska Pollock จากสหรัฐฯซึ่งเป็นปลาในแถบน้ำเย็นมีคุณสมบัติในการผลิตปลาบดที่ให้คุณภาพดี การจับปลาจะทำปีละ 2 ครั้ง ราคาซื้อขายจะกำหนดจากการต่อรองระหว่างชาวประมงท้องถิ่นกับบริษัทประมงของญี่ปุ่นหรือบริษัทตัวแทนนำเข้า ทั้งนี้ ราคาซื้อขายได้ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2004 เนื่องจากมีการจำกัดปริมาณการจับปลาเพื่อการอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม ราคาซื้อขายปรับตัวลดลงบ้างในช่วงผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจโลก และกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในปัจจุบันถึงร้อยละ 8—17 เนื่องจากปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นจนเกิดปัญหาต้นทุนการผลิตดังกล่าว

ชาวญี่ปุ่นบริโภคอาหารทำจากปลาเป็นเมนูหลัก เฉพาะการแปรรูปจากเนื้อปลาบดในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 600,000 ตัน และมีประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับต้นๆ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ปลาที่นิยมนำมาผลิตปลาบดที่จัดว่ามีคุณภาพดีที่สุดคือ ปลาทรายแดง แต่ปัญหาที่ประเทศไทยประสบอยู่คือ การขาดแคลนปลาสดที่จะสามารถแปรรูปวัตถุดิบได้ทันที และการผลิตปลาบดจากปลาแช่เยือกแข็งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีสีคล้ำกว่ากรณีใช้ปลาสด ส่งผลต่อการจัดระดับคุณภาพของเนื้อปลาบดตามมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นผลให้ราคาขายต่ำ ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถพัฒนาวิธีการเก็บรักษาปลาให้สดนานทันต่อการผลิต หรือยกระดับมาตรฐานคุณภาพของเนื้อปลาบดได้ ก็เชื่อว่าจะยังเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่นและสามารถยกระดับราคาผลิตภัณฑ์ได้สูงขึ้นด้วย

ปริมาณการผลิตและจำนวนการบริโภคลูกชิ้นปลาในประเทศญี่ปุ่น

จากการสำรวจข้อมูลของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries) พบว่าปริมาณการผลิตลูกชิ้นปลาในประเทศญี่ปุ่นต่อปีประมาณ 600,000 ตัน โดยจำนวนเงินที่ผู้บริโภคซื้อลูกชิ้นปลาโดยเฉลี่ยต่อปีประมาณ 9,000 — 10,000 เยนต่อครอบครัว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ