สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บสินค้า (RECALL) เตียงเด็ก (CRIBS)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 2, 2010 12:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานคณะกรรมาธิการความปลอดภัยของสินค้าบริโภคในสหรัฐฯ (U.S. Consumer Product Safety Commission : CPSC) ได้ประกาศเรียกเก็บ (Recall) เตียงเด็ก (CRIBS) ประเภทด้านข้างเลื่อนขึ้นลง (Drop-Side Cribs) และประกาศเตือนให้เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ ดังนี้

1. Gracoฎจำนวนประมาณ 217,000 ชิ้น จำหน่ายโดยบริษัท LaJobi Inc. ซึ่งเป็นผู้นำเข้าในมลรัฐนิวเจอร์ซี สินค้าดังกล่าวผลิตจากประเทศจีนและเวียดนามและมีจำหน่ายทั่วประเทศสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 ถึงเดือนมีนาคม 2553

2. Simplicity ทั้งแบบด้านข้างสามารถเลื่อนขึ้นลงได้ และแบบ Fixed-Side ของบริษัท Simplicity Inc. ที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งปัจจุบันได้เลิกกิจการไปแล้ว

3. C&T International, the Sorrelle and Golden Baby จำนวน 170, 000 ชิ้น ซึ่งผลิตจากประเทศอิตาลี ลัตเวีย บราซิล จีน และเวียดนามซึ่งมีจำหน่ายทั่วประเทศสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 จนถึงเดือนมีนาคม 2553

สาเหตุที่ CPSC สั่งเรียกเก็บ

เนื่องจากเตียงเด็กภายใต้แบรนด์ข้างต้นทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บ สืบเนื่องจากชิ้นส่วนที่เป็นตัวล็อค ยึดตึดกับด้านข้างของเตียง ไม่มีความปลอดภัย เมื่อชำรุด/แตก เป็นผลให้ด้านข้างเตียงเลื่อนลงลงมาและเกิดช่องว่าง (Space) เมื่อเด็กม้วนตัว สามารถกลิ้งตกลงมาและติดอยู่ในช่องระหว่างเตียงกับฟูก/เบาะ ทำให้ขาดอากาศหายใจ ซึ่งในอดีตมีรายงานเด็กเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าว ส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บ ฟกช้ำ

สำหรับเตียงเด็กภายใต้แบรนด์ Simplicity สาเหตุเกิดจากการหักงอของชิ้นส่วนท่อเหล็ก (Tubular Metal) ซึ่งเป็นฐานรองฟูก (Mattress Support Frame) ยุบลงมาทำให้เด็กที่อยู่บนฟูก ตกหล่นลงมาได้รับบาดเจ็บ

รูปแบบ ราคา และการจำหน่ายสินค้า

แบรนด์ Graco ลักษณะเป็นเตียงไม้สำหรับเด็ก ประเภท Drop Side Cribs (ด้านข้างเลื่อนขึ้นลงได้) เป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน เวียดนาม จำหน่ายทั่วสหรัฐฯ ในราคา 140 -200 เหรียญสหรัฐฯ เตียงเด็กแบรนด์ Simplicity ที่ถูกเรียกเก็บมีทั้งประเภท Drop Side Cribs และประเภท Fixed-Side จำหน่ายที่ห้าง Walmart, Target, Babies R Us ทั่วสหรัฐฯ ในราคา 150 - 300 เหรียญสหรัฐ

ข้อคิดเห็น

ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สำนัก CPSC ได้เรียกเก็บเตียงเด็กแบบด้านข้างเลื่อนขึ้นลงมาแล้วจำนวน 11 ครั้ง ซึ่งมีจำนวนถึง 7 ล้านชิ้น และมีจำนวนเด็กเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายทั้งผู้ซื้อและผู้นำเข้า/ผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียกเก็บสินค้า จำนวนมากและทำให้ผู้ผลิตเสียชื่อเสียง อีกทั้งอาจจะเป็นคดีความเมื่อถูกผู้เสียหายฟ้องร้อง

ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่ต้องการส่งสินค้าของเล่น หรือของใช้สำหรับเด็กไปจำหน่ายในสหรัฐฯ จะต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบของสหรัฐฯ และจะต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงความปลอดภัยของสินค้า จะต้องมีการทดสอบ หรือผ่านการรับรอง อีกทั้งจะต้องมีคำเตือนและคำแนะนำในการใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ