รัฐบาลญี่ปุ่นวางเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือก๊าซเรือนกระจก(Greenhouse Gas Emission)ลงร้อยละ 25 ของฐานปี 2533 (คศ. 1990) ภายในปี 2563 หรือภายใน 20 ปี แม้ว่าทุกฝ่ายจะตระหนักดีว่าเป้าหมายที่กำหนดสูงและยากจะบรรลุได้ แต่ต่างก็ตระหนักว่าปัญหาโลกร้อน เป็นภัยใกล้ตัวที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ จึงออกมาตรการสนับสนุนเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาของโลก ขณะเดียวกันความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซก็สร้างโอกาสใหม่ ให้แก่ภาคธุรกิจด้วย
ล่าสุดมหานครโตเกียวได้ออกคำสั่งของ นครโตเกียว (Tokyo Metropolitan Government Ordinance) กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ต้องวางมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน นอกจากนี้ได้แก้ไขกฎหมายการประหยัดพลังงาน (Energy-Saving Law) บังคับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งที่เป็นสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่นๆ ที่มีการใช้พลังงาน เทียบเท่ากับการใช้น้ำมันดิบ (crude oil) ปีละตั้งแต่ 1,500 กิโลลิตรขึ้นไป จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง โดยกำหนดอัตราการลดที่แตกต่างกันตามชนิดการประกอกการ เช่น สำนักงาน- ลดลงร้อยละ 8, โรงงาน - ลดลงร้อยละ 6 ระหว่างปีงบประมาณ 2553-2557 (เริ่ม 1 เมษายน-30 มีนาคม ปีถัดไป) หรือภายใน 5 ปี เทียบกับปริมาณคาร์บอนเฉลี่ยในช่วง 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2535-2550 และกำหนดให้บริษัทจัดส่งรายงานผลดำเนินการ และปริมาณพลังงานที่ใช้ต่อสำนักงานรัฐบาลกลางเป็นประจำ ซึ่งได้เริ่มบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553
การเปลี่ยนแปลงระเบียบและการแก้ไขกฎหมาย การประหยัดพลังงานนี้ ที่ชัดเจน คือทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น เพราะต้องติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ไปสู่การลดพลังงาน หรือต้องใช้จ่ายเพื่อซื้อเครดิตการปล่อยก๊าซคาร์บอน(Emission credit) จากรายที่ยังมีโควต้าเหลือ ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น Mitsubishi Estate Co. บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ให้เช่าอาคารขนาดใหญ่ และห้างสรรพสินค้า เช่น Takashimaya, Mitstukoshi นอกจากนี้ ยังต้องจัดทำแผนการลดพลังงานและ เอกสารหลักฐานการลดจำนวนก๊าซคาร์บอนด์ สำหรับรายงานต่อรัฐบาลด้วย จากการคำนวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่พบว่า เพื่อปฎิบัติตามระเบียบใหม่นี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดกลาง จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึง 70,000 เยนต่อสาขา ต้นทุนค่าใช้จ่ายจะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อขนาดประกอบการใหญ่ขึ้น
อย่างไรก็ดี ระเบียบใหม่ก็ช่วยสร้างโอกาสแก่ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการประหยัดพลังงาน เช่นเครื่องปรับอากาศประหยัดไฟ และกลุ่ม green electricity ทั้งหลาย การวิเคราะห์เบื้องต้นถึงผลกระทบเชิงบวกและลบต่อผู้ประกอบการญี่ปุ่น ดังนี้
กฎหมายและระเบียบด้านการลดก๊าซคาร์บอนที่เทศบาลนครโตเกียวบังคับใช้นี้ แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่เชื่อว่าจะสร้างกระแสและจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการจะร่วมมือกันพัฒนาไปสู่การนำมาสร้างมาตรฐานขั้นต่ำระดับใหม่ที่สูงขึ้น มีเงื่อนไขมากขึ้น เชื่อว่าการใช้มาตรการลด Co2 จะแพร่กระจายไปสู่สินค้าและบริการอื่นๆ โดยเฉพาะในการเลือกซื้อสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์เครื่องจักร ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ และไปสู่สินค้าอุปโภค-บริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่งในที่สุดจะแพร่ขยายวงกว้างออกไปสู่เงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องการประหยัดพลังงาน และการลดก๊าซคาร์บอนในขบวนการผลิตให้มากขึ้น รวมถึงภาครัฐของไทยต้องเตรียมจัดวางระเบียบ มาตรฐานการวัดที่เป็นสากล ในระยะอันใกล้ข้อมูลเหล่านี้อาจจะเป็นข้อมูลหนึ่งที่ต้องระบุบนบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ผู้บริโภคต้องการรับรู้ และใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อ การเตรียมการแต่เนิ่นๆ นอกจากจะแสดงความเป็นผู้นำเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะแสดงถึงระดีบพัฒนาการของผู้ประกอบการ และการเพิ่มอำนาจแข่งขันให้ธุรกิจและบริการของไทยด้วย
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th