ตลาดเครื่องประดับและอัญมณีของสหรัฐฯเจริญเติบโตสูงสุดในปี 2550 ซึ่งมียอด จำหน่ายสูงถึง 228.50 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดการค้าเครื่องประดับและอัญมณีได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ โดยในปี 2551 ตลาดหดตัวร้อยละ -2.0 และ ร้อยละ -8.0 ในปี 2552
ปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลุดพ้นภาวะถดถอยแล้ว ตลาดการค้าเครื่องประดับเริ่ม ขยายตัวในอัตราต่ำ นักวิเคราะห์และคนในวงการตลาดค้าเครื่องประดับและอัญมณีของสหรัฐฯ ได้แสดงความเห็นและคาดการณ์แนวโน้มเครื่องประดับอัญมณีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นไปจนถึงสิ้นปี 2553 และ ในปีต่อไป ในด้าน พฤติกรรมผู้บริโภค ภาวะตลาดค้าปลีก การให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ช่องทางจัดจำหน่าย จำนวนผู้ประกอบการ และ สินค้าเครื่องประดับกลุ่มใหม่ สรุปได้ ดังนี้
ปัจจุบัน ผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้ผ่านมรสุมเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯมาอย่างโชกโชนในช่วงระหว่างปี 2550-2552 ภาวะดังกล่าวได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบริโภค จากที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไปเป็นแบบใช้จ่ายประหยัด ซื้อหาสินค้าราคาย่อมเยา หรือกล่าวได้ว่า ผู้บริโภคสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีความเคยชินกับการใช้จ่ายแบบประหยัด เป็นนิสัยไปแล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์ตลาดมีความเชื่อว่า ภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคแบบฟุ่มเฟือยหรือมือเติบเช่นในช่วงปี 2548-2550 จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคตของสหรัฐฯ จะซื้อเครื่องประดับที่มีราคาระดับกลางหรือราคาย่อมเยา ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคจะขายเครื่องประดับราคาแพงที่เก็บหรือสะสมไว้ เพื่อนำเงินที่ได้รับไปใช้จ่าย และซื้อเครื่องประดับในราคาที่ย่อมเยา
ปัจจุบัน ตลาดค้าปลีกเครื่องประดับและอัญมณีของสหรัฐฯ ยังขยายตัวในอัตราต่ำ โดยเฉพาะบริษัท Zales ผู้นำตลาดค้าปลีกเครื่องประดับรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ (มียอดจำหน่าย 1,780 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ ร้านสาขา 1,247 แห่งทั่วประเทศ และในเปอร์โตริโก้) ประสบภาวะยอดขายลดลง ต่อเนื่อง และปิดร้านสาขาจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่วงการ ค้าปลีกเครื่องประดับกำลังจับตามอง และถูกวิพากวิจารณ์ อย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากสถานะการค้าของห้าง Zales เลวร้ายลงไปอีก จะส่งผลกระทบต่อตลาดค้าเครื่องประดับเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าหนี้หรือ พ่อค้าที่ขายเครื่องประดับให้แก่ห้าง Zales ในขณะเดียวกัน จะเป็นการสร้างโอกาสให้คู่แข่งของห้าง Zales ซึ่งได้แก่ Sterling' Jewelers, Helzberg Diamonds, Kay Jeweler และ Fred Meyer เป็นต้น
ในช่วง 2 ปีทีผ่านมา (2551-2552) สถาบันการเงินไม่ปล่อยเงินกู้ หรือเข้มงวดต่อการให้กู้ เป็นผลให้ผู้บริโภคขาดอำนาจในการซื้อเครื่องประดับมาใช้ หรือ พ่อค้าขายส่ง ผู้นำเข้า และ ร้านค้าปลีก ขาดอำนาจในการซื้อเครื่องประดับมาจำหน่าย ปัจจุบัน สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากโครงการปลดหนี้ (Troubled Asset Relief Program : TARP) ของประธานาธิบดี BarackObama ซึ่งช่วยกระตุ้นให้สถาบันการในระดับท้องถิ่นเงินปล่อยเงินกู้มากขึ้นให้พ่อค้าขายส่ง ผู้นำเข้า และ ร้านค้าปลีก ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นตลาดแบบครบวงจร ตั้งแต่ผู้ผลิต คนกลาง ร้านค้า และ ผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ผลิต/ส่งออกในต่างประเทศสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการลดลงของยอดขายซึ่งผ่านช่องทางปกติ คือ ร้านค้าปลีกเครื่องประดับ และ ห้างสรรพสินค้า แต่เป็นผลดีให้เกิดช่องทางใหม่ในการจัดจำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณีในสหรัฐฯ แยกเป็น 2 ช่องทาง คือ (1) การขายแบบ Private Sales ซึ่งเป็นการขายแบบเชิญเพื่อนสนิท ลูกค้าสำคัญ หรือ ลูกค้าประจำ มาชมและเลือกซื้อสินค้า วิธีการนี้ได้รับความนิยมเพิ่มเป็นลำดับ และ (2) การขายทาง Online Selling เป็นช่องทางใหม่ที่ร้านค้าปลีกหันมาใช้เพื่อจำหน่ายเครื่องประดับ แทนการเปิดร้านสาขาเพิ่มเติม ร้านค้าปลีกเครื่องประดับบางรายลดจำนวนสาขาลง และหันมาเพิ่มการขายทาง Online แทน
ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงเครื่องประดับราคาแพง (Fine Jewelry) และไม่ต้องการซื้อเครื่องประดับราคาถูก (Costume Jewelry) ดังนั้น จึงเป็น ช่องว่างให้เกิดสินค้าเครื่องประดับกลุ่มที่ให้ความพอใจและผู้บริโภคสามารถ ซื้อได้ นักวิเคราะห์ตลาดเชื่อว่า เครื่องประดับประเภทลูกปัด (Designed Bead Jewelry) และ เครื่องประดับเงิน (Silver Jewelry) จะเป็นเครื่องประดับที่มีความเหมาะสมและตรงความต้องการของผู้บริโภค และจะเป็นกลุ่มเครื่องประดับได้รับความนิยมและจำหน่ายได้ดี
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเครื่องประดับ และร้านค้าและผู้ประกอบการค้าเครื่องประดับการเลิกกิจการจำนวนมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ตลาดเชื่อว่า จะมีการรวมกิจการ (Consolidation) เพื่อลดการแข่งขันในตลาด ซึ่งอาจจะเป็นในลักษณะที่มีนักลงทุนนอกภายนอกตลาดเครื่องประดับ เช่น กลุ่ม Private Equity หรือ Hedge Fund Investor เข้าซื้อกิจการร้านค้าเครื่องประดับ ดังนั้น การขายกิจการให้นักลงทุน จึงเป็นทางรอดทางหนึ่งของร้านค้าปลีกเครื่องประดับในสหรัฐฯ
ปัจจุบัน ตลาดเครื่องประดับเริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ การนำเข้าเครื่องประดับจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 มีมูลค่า 1,308.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.84 โดยนำเข้าจากประเทศไทยเป็นมูลค่า 182.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 63.00
คาดการณ์แนวโน้มตลาดและสินค้าเครื่องประดับ 6 ประการข้างต้น เป็นเครื่องชี้ถึง ภาวะตลาดเครื่องประดับของสหรัฐฯ ซึ่งผู้ผลิต/ส่งออกเครื่องประดับและอัญมณีของไทยควรเฝ้าและติดตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของตลาดเครื่องประดับในสหรัฐฯ และหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับแผนการขยายตลาดส่งออกเครื่องประดับไทยในสหรัฐฯ
แหล่งข้อมูลและข่าวสารของตลาดเครื่องประดับในสหรัฐฯ ที่สำคัญ คือ การเข้า ร่วมงาน/ชมงานแสดงสินค้าเครื่องประดับในสหรัฐฯ วารสาร/นิตยสารที่สำคัญของตลาดเครื่องประดับในสหรัฐฯ รวมทั้ง สมาคมการค้าเครื่องประดับในสหรัฐฯ สคร.ชิคาโกใคร่ขอแนะนำช่องทางสำคัญ และแหล่งข้อมูล ดังต่อไปนี้
1. งานแสดงสินค้าเครื่องประดับในสหรัฐฯ
1.1 JCK Jewelry Show : www.jcklasvegasshow.com
1.2 JA Jewelry Show : www.ja-newyork.com
1.3 G.L.D.A. Tocson Gem & Jewelry Show : www.InterGem.com
2. วารสาร/นิตยสารเครื่องประดับในสหรัฐฯ
2.1 นิตยสาร National Jeweler : www.nationaljewelernetwork.com
2.2 นิตยสาร Jewelers Circular Keystone: www.jck online.com
3. สมาคมการค้าเครื่องประดับสหรัฐฯ
3.1 Jewelers of America : www.jewelers.org
3.2 Jewelers Vigilance Committee: www.jvclegal.org
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก
ที่มา: http://www.depthai.go.th