วิกฤตการเงินในกรีก : สิ่งที่เกิดขึ้นได้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 2, 2010 14:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในกรีกแม้ว่าจะมองว่าห่างไกลจากญี่ปุ่นและไม่น่าส่งผลกระทบมากนักต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เพราะความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับกรีกในแง่การค้า การลงทุน มีมูลค่าไม่มาก แต่หากพิจารณากรีกในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป ผลการวิเคราะห์ก็จะเปลี่ยนไป ที่ชัดเจนคือ ทำให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลยูโร สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นกังวล คือ การใช้จ่ายเงินและภาระหนี้สินภาครัฐของกรีกที่สูงถึง 114.9% ของ GDP ในปี 2552 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 123.3% ของ GDP ในปี 2553 อาจทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่ระบบการเงินของประเทศ เพราะหนี้สินภาครัฐของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในภาวะเสี่ยงที่สูงกว่ากรีกมาก กล่าวคือ ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากที่มีสัดส่วน 218.6% ของ GDP เมื่อปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 245.6 ของ GDP ในปี 2557 สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประมาณ G7 ด้วยกัน กล่าวคือ หนี้สาธารณะของ สหราชอาณาจักรอยู่ที่ 68.7%, แคนาดา ที่ 78.2%, สหรัฐอเมริกา ที่ 84.8% และเยอรมนี ที่ 78.7% ในปี 2552 และหากเทียบกับประเทศกลุ่ม BRICS ก็พบว่าล้วนมีสัดส่วนของหนี้สาธารณะในระดับต่ำ เช่น บราซิล ที่ 68.5%, รัสเชียที่ 7.2%, อินเดียที่ 84.7 ขณะที่ จีนอยู่ระดับเพียง 20.2% ญี่ปุ่นจึงอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเข้าสู่วิกฤตการเงินคล้ายคลึงกับกรีกได้ในที่สุด

ธนาคารชาติญี่ปุ่นรายงานตัวเลขว่า ร้อยละ 93.9 ของพันธบัตรที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกขาย ถือโดยสถาบันและนิติบุคคลในญี่ปุ่น เช่น ธนาคาร บรัทประกันภัย กองทุนผู้รับบำนาญและครัวเรือน แม้กระนั้นก็ประมาทไม่ได้ว่าผู้ถือพันธบัตรจะไม่เกิดภาวะตื่นตระหนกแล้วเทขายคืนพันธบัตรรัฐบาลพร้อมๆกัน นักเศรษฐกิจการเงินจึงแนะว่า รัฐบาลควรคิดให้รอบครอบและวางระเบียบการออกพันธบตรใหม่ให้เข้มงวดขึ้น พร้อมๆ กับเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของประเทศด้วย โดยเฉพาะ ให้คิดทบทวนการย้ำนโยบาย "ไม่ขึ้นภาษี" เพื่อเพิ่มคะแนนนิยมต่อมวลชนในการหาเสียงเลือกตั้งเสียใหม่มิฉะนั้นญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญกับวิกฤตเฉกเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

ญี่ปุ่นทำการค้ากับสหภาพยูโรป คิดเป็นร้อยละ 12.4 ของการส่งออกทั้งหมด น้อยกว่าจีนประเทศเดียวที่มีสัดส่วนที่ 18.8% หรือภูมิภาคเอเชียโดยรวมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 54.1 % ผลกระทบทางตรงจากวิกฤติในกรีกและสหภาพยุโรปจึงไม่มาก แต่ในอีกด้าน ค่าเงินเยนที่แข็งขึ้น และมาตรการเข้มวงดที่สหภาพยูโรปนำมาใช้จะทำให้สินค้าญี่ปุ่นแพงขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อจากญี่ปุ่นลดลง และอาจส่งผลกระทบทางลบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่มีต่อญี่ปุ่นได้เช่นกัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ