ตลาดผู้ปลดเกษียณอายุการทำงาน และผู้สูงอายุในอิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 2, 2010 14:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อิหร่านเป็นประเทศที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ประมาณร้อยละ 5.4 ของประชากรทั้งหมดทั้งนี้ อิหร่านเป็นประเทศที่มีพื้นฐานวัฒนธรรมครอบครัวที่แข็งแกร่ง ดังนั้น ระบบการดูแลผู้สูงอายุใน

อิหร่านจึงมักจะเป็นการดูแลกันเองในครอบครัวและญาติมิตรจนกว่าจะเสียชีวิต โดยอายุเฉลี่ยของชายชาวอิหร่านคือประมาณ 69 ปี ในขณะที่อายุเฉลี่ยของหญิงอิหร่านประมาณ 72 ปี

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ปลดเกษียณอายุการทำงานในอิหร่านแบ่งได้ออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่

1. กลุ่มผู้ปลดเกษียณโดยผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างสามารถปลดเกษียณอายุพนักงานที่มีประวัติการทำงาน 30 ปีขึ้นไป

2. กลุ่มผู้ปลดเกษียณตนเอง พนักงานที่มีอายุ 60 ปีและมีประวัติการทำงาน 30 ปีสามารถยื่นคำร้องของปลดเกษียณตนเองได้

3. กลุ่มผู้ปลดเกษียณอายุการทำงานด้วยความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย พนักงานที่มีอายุครบ 50 ปีและมีประวัติการทำงานอย่างน้อย 25 ปี สามารถยื่นคำร้องขอปลดเกษียณตนเองได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสถานที่ทำงานที่ตนเองทำงานก่อน

4. กลุ่มผู้ปลดเกษียณอายุที่หมดประสิทธิภาพในการทำงาน พนักงานที่ได้รับอุบัติเหตุหรือประสบภัยระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้ร่างกายหมดประสิทธิภาพในการเข้ามาทำงานใหม่อีกครั้ง จะได้รับเงินเดือนของผู้ปลดเกษียณอายุเป็นค่าตอบแทนการทำงานทุกเดือน โดยคำนวนจากเงินเดือนและโบนัสที่ได้รับครั้งสุดท้าย

5. กลุ่มผู้ปลดเกษียณอายุที่ถึงเกณฑ์ คือ พนักงานที่มีอายุครบ 60 ปี

อัตราเงินบำนาญ

การคิดเงินบำนาญที่จ่ายให้กับผู้ปลดเกษียณคือ เงินเดือนและโบนัสเฉลี่ยที่ได้รับในช่วง 2 ปีสุดท้าย คูณกับ จำนวนปีที่ทำงานไม่เกิน 30 ปี หารด้วย 30 ปี หรือ 10,800 วัน

ปัญหาที่ประสบ

1. ผู้สูงอายุได้รับเงินเดือนช่วยเหลือในแต่ละเดือนน้อยเกินไป ไม่พอกับความต้องการและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกวัน สำหรับผู้สูงอายุที่มีประกันสังคมจะได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 2,540,000 เรียล (ประมาณ 250 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน) และผู้ที่อยู่ภายใต้ความดูแลขององค์กรผู้ปลดเกษียณอายุแห่งชาติจะได้รับเงินช่วยเหลือประมาณ 1,940,000 เรียล (ประมาณ 190 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน) (เงินช่วยเหลือในปี 2550)

2. ค่ารักษาพยาบาลในประเทศอิหร่านสูง ตลอดจนการบริการของพยาบาลและพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่ดีพอ ทำให้ผู้สูงอายุบางรายต้องยอมทนต่อโรคที่เป็นอยู่โดยไม่ไปรับการรักษาพยาบาล

รายงานจาก สคร ณ กรุงเตหะราน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ