อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาคืนชีพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 16:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

โครงการ Cash for Clunker

นับแต่โครงการ Cash for Clunker เพื่อกอบกู้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี Barack Obama (รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุนซื้อรถเก่า 4,500 เหรียญแก่ผู้ที่ซื้อรถใหม่ที่เป็นรถแบบประหยัดน้ำมัน) ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่าน มีผลกระตุ้นยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นถึงจำนวน 690,000 คัน หรือมองในมุมกลับ สามารถกำจัดรถเก่าที่ไม่ประหยัดน้ำมันได้ถึงเกือบ 7 แสนคัน การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ กลับมาคืนชีพได้อีกครั้งยอดจำหน่ายของรถยนต์ในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ร้อยละ 6.25 เดือนกุมภาพันธ์ ร้อยละ 13.26 เดือนมีนาคม ร้อยละ 24.41 และ เดือนเมษายน ร้อยละ 19.82 เป็นลำคับ

ตลาดอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์

การขยายตัวของตลาดจำหน่ายรถยนต์ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบทางตรงต่อการเพิ่มความต้องการอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ สหรัฐฯ หันไปพึ่งการนำเข้าเป็นหลัก เนื่องจากกำลังผลิตในประเทศไม่เพียงพอ โรงงานผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในสหรัฐฯ จำนวนมาก เลิกกิจการไป หรือย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย

การนำเข้าอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาแรกของปี 2553 (มกราคม-มีนาคม) มีมูลค่า 22,216.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 42.97 โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ เม็กซิโก แคนนาดา ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลี และ จีน

การนำเข้าจากประเทศไทย

การขยายตัวนำเข้าอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ในอัตราสูงของสหรัฐฯ เป็นผลดี ต่อประเทศไทย ซึ่งเป็นผลให้เกิดการขยายตัวการนำเข้าของสหรัฐฯจากไทยเป็นเงาตามตัวไปด้วย โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 (มกราคม-มีนาคม) สหรัฐฯ นำเข้าอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์จากประเทศไทยเป็นมูลค่า 395.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 91.91 และมีสัดส่วนตลาดนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์ในสหรัฐฯ ร้อยละ 1.78

ข้อคิดเห็นเสนอแนะ

1. โครงการ Cash for Clunker ส่งผลกระทบในการชะลอการขยายตัวของตลาด ชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทซ่อมบำรุง (Replacement Parts) เนื่องจาก ผู้บริโภคไม่ซ่อมรถ แต่นำไปขายให้ Car Dealer เพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแทน ดังนั้น ความต้องการชิ้นส่วนซ่อมบำรุงลดลงไปจำนวนมาก ซึ่งสมาคม Automotive Aftermarket Industry Association คาดการณ์ว่า การขยายตัวของชิ้นส่วนซ่อมบำรุงในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ2.5 - 3.0

2. อุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยซึ่งสหรัฐฯ นำเข้าและเพิ่มขึ้นในอัตราสูงใน ปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วน OEM (Original Equipment Manufacturing) ซึ่งนำไปใช้ประกอบรถยนต์ ผู้ผลิต/ส่งออกของไทย ได้บริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทย เช่น Goodyear, Lear Seating, Federal Mogul, Siemens, Yazaki และDenso เป็นต้น

3. ตลาดนำเข้าสินค้าอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ประเภท OEM ของสหรัฐฯ จะขยายตัวสูงและต่อเนื่องไปจนถึงปี 2554 เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์สหรัฐฯ ให้ความสำคัญด้าน Outsourcing ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่ต้องการขยายตลาดอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ OEM (Original Equipment Manufacturing) ไปยังสหรัฐฯ จะต้องยกระดับโรงงานให้ได้ตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะมาตรฐาน QS และ ISO/TS16949 และมาตรฐานสินค้า เช่น SAE, UL และ DOT

4. ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐ (BIG 3 คือ GM, Ford และ Chrysler) ได้ยกระดับ การผลิต เพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ การออกแบบรถยนต์ให้มีขนาดเล็กลง การประหยัดน้ำมัน และการใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับรถต่างประเทศได้ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์มีการเปลี่ยนแปลงในด้านขนาด และข้อมูลเฉพาะของสินค้า (Specification) ดังนั้น ผู้ผลิต/ส่งออกไทยจะต้องศึกษาส่วนประกอบของรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ของสหรัฐฯ เพื่อนำไปผลิตชิ้นส่วนมาสนองความต้องการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชิ้นส่วนสำหรับรถขนาด Mini Car รถแบบ Hybrid และ Electric Car ซึ่งจะเป็นกลุ่มรถยนต์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นสูงในอนาคต

5. ตัวแทนการขายเป็นกลไกสำคัญในด้านการกระจายสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ทั้ง ประเภท Replacement Parts และ OEM Parts ในสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่ต้องการขยายตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐฯ ควรพิจารณาการจัดจ้าง/แต่งตั้งตัวแทนการขาย (Sales Representative) เพื่อทำหน้าที่นำสินค้าไปเสนอขายหรือเป็นผู้ประสานงานกับกลุ่มผู้ซื้อในสหรัฐฯ

6. ปัจจุบัน การซื้อขายชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทซ่อมบำรุงและประดับยนต์ ผ่านทาง Online ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ผู้ผลิต/ส่งออกไทยควรพิจารณาการเสนอขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการขายสินค้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ทาง On-line ของสหรัฐฯ รายสำคัญ ได้แก่ www.AutoPartsWarehouse.com , www.jcwhitney.com, www.partsunlimited.com และควรพิจารณาในเรื่องการจัดเก็บสินค้า (Inventory) ไว้ในสหรัฐฯ เพื่อจัดส่งให้ลูกค้าได้รวดเร็วทันการสั่งซื้อ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ