กรมส่งเสริมการส่งออกจัดกิจกรรมเร่งขยายธุรกิจกิจสปาไทยในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 16:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืด ยอดขายตกต่ำเพราะชาวญี่ปุ่นต่างรัดเข็มขัด ตัดลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ตลาดสินค้าแบรนด์ซบเซา บางรายหันไปเลือกซื้อใช้จ่ายซื้อสินค้ามือสอง บ้างก็สนใจร้านประเภท Discount store และร้าน 100 เยน แม้กระนั้นก็พบว่าสินค้าประเภทที่ให้ความสุขทางใจที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ความงาม ความรู้สึกผ่อนคลาดและลดความตรึงเครียด รวมถึงสินค้าที่ให้เป็นของขวัญของฝาก ที่แสดงความห่วงใย เช่นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม body care และสปา กลับได้รับความสนใจ และมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น

เพื่อรับกับกระแสดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว จึงเร่งบุกตลาดเพื่อหวังผลักดันผลิตภัณฑ์สปาไทยชนิดใหม่ๆ และผู้ผลิตรายใหม่ๆ ให้สามารถเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น พร้อมๆ กับผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สปาไทยที่เข้าไปวางขายในตลาดญี่ปุ่นแล้ว ให้สามารถขยายตลาดเข้าไปยังผู้ใช้ผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม resort, ryokan (โรงแรมแบบญี่ปุ่นตามเมืองที่เป็นแหล่งน้ำพุร้อน) และ สถานบริการเสริมความงาม (Esthetic/ Beauty Salon) ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วไปในเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยว เพราะการเข้าไปยังตลาดกลุ่มผู้ใช้เหล่านี้ จะช่วยทำให้สินค้า และธุรกิจบริการสปาไทยเป็นที่รู้จักแพร่กระจายในวงกว้าง และยังช่วยสร้างความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ และรูปแบบธุรกิจของไทย เป็นการเพิ่มยอดส่งออกด้วยการเชื่อมสินค้าไทย กับธุรกิจบริการของญี่ปุ่น ในลักษณะ win-win ไปด้วยกัน

กิจกรรมที่กำหนดจะจัดในเดือนพฤษภาคม 2553 ประกอบด้วย 3 กิจกรรมซึ่งยังคงเน้นกิจกรรม B to B ได้แก่

  • เข้าร่วมแสดงสินค้าในงาน Beauty World Japan จัดขึ้นที่ Tokyo Big Sight, East Hall 6 ระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2553 มีบริษัทไทยเข้าร่วม 11 ราย
  • การจัดคณะผู้แทนการค้าธุรกิจสปาจากไทยเยือนญี่ปุ่น โดยจะจัดเจรจาธุรกิจ ระหว่างวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2553 ณ ASEAN-Japan Centre, Shin Onarimon Bldg., 6-17-19 Shimbashi, Minato-ku, Tokyo มีผู้ผลิตไทยเข้าร่วม 10 โดยจะมีการจัดสาธิตวิธีใช้ และจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อให้ความรู้และความเข้าใจถึงความต้องการของผู้ซื้อแก่คณะด้วย
  • การจัดสัมมนาธุรกิจสปาไทยให้แก่สมาชิกของ All Japan Total Beauty Union (AJTBU) ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยร้านเสริมความงามประมาณ 100 แห่ง จะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์สปาไทย และหารือความร่วมมือในการนำสปาไทยไปให้บริการใน Beauty Salon ของญี่ปุ่น ซึ่งหากเป็นที่พอใจ ก็น่าจะนำไปสู่ความร่วมมือและสั่งซื้อในลักษณะ Collective order และผลิตภัณฑ์สปาไทยเข้าไปใช้ในสถานบริการของกลุ่ม AJTBU ภายในกิจกรรม จะมีการจัด mini exhibition ผลิตภัณฑ์สปาใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าตลาดญี่ปุ่นเพื่อให้ผู้ใช้ได้ทำความคุ้นเคยและเลือก

ในปี 2552 ญี่ปุ่นนำเข้าเครื่อสำอาง ผลิตภัณฑ์สปา และน้ำหอม (HS : 3301-33.7, 3401-3404) มูลค่า 1060.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ ช่วง 3 เดือนแรกปี 2553 นำเข้า 254.76 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นการนำเข้าจากไทยมูลค่า 281 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2552 เพิ่มขึ้น 48 % จากปี 2551 และช่วง 3 เดือนแรกปี 2553 นำเข้าจากไทย 51.78 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้น 128.2 % จากช่วงเดียวกันของปี 2552

ธุรกิจสปาไทยเป็นสาขาที่มีศักยภาพสูงและมีโอกาสขยายได้อีกมากโดยเฉพาะในภาวะที่สังคมกำลังให้ความสำคัญต่อสุขภาพ และการแสวงหาความสุขทางจิตใจ ตลาดผลิตภัณฑ์และบริการที่เรียกรวมๆ ว่า สปา จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะสินค้าและบริการสำหรับผู้หญิง แต่รวมถึงผู้ชายซึ่งใส่ใจเรื่องสุขภาพ ความงามของผิวพรรณและบุคคลิกภาพมากขึ้น เรื่อยๆ และยังขยายไปสู่สัตว์เลี้ยง ขอบข่ายของสินค้าและบริการยังกว้างขวางขึ้นด้วย จากผลิตภัณฑ์ การให้บริการ เมนูอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างบรรยากาศและความรู้สึกที่ดี เป็นต้น ความสำเร็จของการเข้าตลาด เริ่มต้นที่ตัวของผู้ผลิต กล่าวคือ สินค้าต้องมีคุณภาพดี มีจุดเด่นที่จะใช้เป็นจุดขายเพื่อแยกแยะสินค้าออกจากคู่แข่งให้ได้ การขายสินค้า ควบคู่กับรูปแบบการให้บริการและการฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อให้ผู้ซื้อได้รับรู้ข้อมูลของตัวสินค้าและบริการอย่างครบถ้วนแล้วนำไปสื่อสารกับผู้บริโภคเป็นการเพิ่มโอกาสขยายตลาด และทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ