จากเหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกของบริษัท บีพี ผู้ผลิตน้ำมันของอังกฤษระเบิด เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 ซึ่งได้สร้างความหายนะที่เลวร้ายที่สุดให้แก่สหรัฐฯ ทั้งในด้านระบบนิเวศอันกว้างใหญ่ตามแนวชายฝั่งและอุตสาหกรรมอาหารทะเลของสหรัฐฯ
ปัจจุบัน บริษัท บีพี ยังไม่สามารถอุดรอยรั่วของท่อน้ำมันใต้ทะเลลึกในบริเวณอ่าวเม็กซิโกได้ คาดว่าปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลจนถึงขณะนี้อาจสูงถึง 29 ล้านแกลลอน มากกว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจำนวน 11 ล้านแกลลอนจากเรือบรรทุกน้ำมันเอ็กซอน วัลเดซ นอกชายฝั่งรัฐอลาสก้าเมื่อปี 2532
อุตสาหกรรมอาหารทะเลของรัฐหลุยส์เซียน่ามีมูลค่าประมาณ 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (79,200 ล้านบาท) หรือผลผลิตอาหารทะเลของรัฐหลุยส์เซียน่าคิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของผลผลิตรวมอาหารทะเลรวมของสหรัฐฯ
รัฐหลุยส์เซียน่ามีผลผลิตกุ้ง (Brown Shrimp และ White Shrimp) ประมาณ 100 ล้านปอนด์ (45 ล้านกิโลกรัม) ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของผลผลิตกุ้งในประเทศสหรัฐฯ และมีผลผลิตหอยนางรม (Oyster) มากที่สุดในโลก หรือ ประมาณ 250 ล้านปอนด์ (114 ล้านกิโลกรัม) ต่อปี อีกทั้งยัง มีผลผลิตปูม้า (Blue Crab) มากที่สุดในโลก หรือ ประมาณ 46 ล้านปอนด์ (21 ล้านกิโลกรัม) ต่อปี หรือประมาณ ร้อยละ 26 ของผลผลิตรวมของประเทศสหรัฐฯ
1. รัฐหลุยส์เซียน่าซึ่งเป็นรัฐหน้าด่านที่เผชิญปัญหาน้ำมันรั่วไหลหนักที่สุด ในขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามการทำการประมง กุ้ง ปู และ หอย นอกชายฝั่งของรัฐหลุยส์เซียน่า เนื่องจากเกรงว่า อาหารทะเลจะได้รับผลกระทบจากสารเจือปนจากน้ำมันดิบ พื้นที่สั่งห้ามประมง คือ ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี ครอบคลุมเขต Lafourche และ Terrebonne ซึ่งส่งผลให้ชาวประมงขาดรายได้เป็นมูลค่ามหาศาล
2. ปริมาณการผลิตกุ้งของรัฐหลุยส์จะลดลง แต่ยังไม่สามารถประมาณได้ว่าจะ เป็นจำนวนมากเท่าไร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการอุดรูรั่วของท่อน้ำมัน และการทำความสะอาดบริเวณโดยรอบจากคราบน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของราคาจำหน่ายกุ้ง คาดว่าราคากุ้งใน 3-6 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15-20 และเกิดาภาวะเสียเปรียบต่อกุ้งนำเข้าจากต่างประเทศ
3. ผู้จัดจำหน่าย/ขายส่งกุ้งสหรัฐฯ จะหาทางป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นการลด ปริมาณกุ้งของรัฐหลุยส์เซียน่า ด้วยการหันไปเพิ่มการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศเพื่อนำมาทดแทนในส่วนที่ลดลง
ความพยายามของรัฐหลุยส์เซียน่าที่จะผลักดันและส่งเสริมการบริโภคอาหารทะเลในสหรัฐฯ ซึ่งผลิตโดยชาวประมงของรัฐหลุยส์เซียน่า เพื่อลดการพึ่งพาอาหารทะเลนำเข้าจากต่างประเทศ อาจจะสะดุดไม่ได้ตามเป้าหมาย ด้วยเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลน้ำมันดิบ ซึ่งจะส่งผลเสียซึ่งยังประมาณไม่ได้ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลของรัฐหลุยส์เซียน่า ซึ่งเพิ่งฟื้นตัวจากความเสียหายของพายุเฮอริเคนคัทรีน่าในปี 2548
ในระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐหลุยส์เซียน่า เป็นรัฐที่พยายามจะกีดกันหรือเข้มงวดกับการ นำเข้าอาหารทะเลเข้าไปจำหน่ายในหลุยส์เซียน่า โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา วุฒิสมาชิก David Vitter พรรค Republican แห่งรัฐ Louisiana นำเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานความปลอดภัยอาหารทะเลนำเข้า (Imported Seafood Safety Standard Act : S. 2934) ต่อวุฒิสภา ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าประการใด ดังนั้น เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในครั้งนี้ อาจจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คณะกรรมาธิการฯ เร่งการพิจารณาร่างพรบ.ดังกล่าว
น้ำมันดิบรั่วไหลจะส่งผลต่อลดการซื้ออาหารทะเลของรัฐหลุยส์เซียน่า และผลักดันให้มีการเพิ่มนำเข้าอาหารทะเล ปัจจุบัน ทางการรัฐหลุยส์เซียน่ากำลังเร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย (Food Safety) ของการบริโภคอาหารทะเลของรัฐหลุยส์เซียน่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาตลาด และในทางกลับกัน เพื่อการชะลอการนำเข้าอาหารทะเลจากต่างประเทศ
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก
ที่มา: http://www.depthai.go.th