ผลกระทบวิกฤติหนี้กรีซต่อเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเช็ก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 8, 2010 11:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การเข้าสู่ระบบเงินตราสกุลEURO

สาธารณรัฐเช็กมีแผนที่จะเข้าสู่ระบบเงินตราสกุล EURO หรือ EUROZONE ประมาณปี 2015 ซึ่งเดิมวางแผนไว้ปี 2012 แต่ก็เลื่อนออกไปอีกเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ต่อต้านการใช้เงินยูโรมาตลอด เมื่อเกิดวิกฤติหนี้ของกรีซ ยิ่งทำให้คนเช็กเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่กรีซเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลยูโรจากผลสำรวจพบว่าประมาณร้อยละ 60 ของคนเช็กไม่ต้องการให้รัฐสนับสนุนเงินให้กรีซ เพื่อช่วยปลดหนี้ตามมติของสหภาพยุโรป ถึงแม้เช็กจะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องช่วยเหลือเนื่องจากยังไม่ได้เป็นสมาชิกของ EUROZONE ก็ตาม ปัจจัยดังกล่าว อาจส่งผลให้สาธารณรัฐเช็กเลื่อนการเข้าสู่ระบบเงินตราสกุลยูโรออกไปจากที่วางแผนไว้

อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐเช็กมีงบประมาณขาดดุลในปี 2552 สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ กล่าวคือสูงถึง ร้อยละ 7 ของ GDP ในขณะที่ปี 2551 การขาดดุลมีเพียงร้อยละ 2.1 ของ GDP เท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขในการเข้าสู่ระบบเงินตราสกุลยูโร คือ งบประมาณของประเทศจะขาดดุลได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของ GDP

ผลกระทบต่อภาคการเงิน

วิกฤติหนี้ของกรีซ ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อระบบการเงินของเช็ก โดยนักวิเคราะห์มองว่า ธนาคารของเช็กถือ Greek bonds ไว้เพียงไม่เกิน 25 พันล้านเช็กคราวน์ หรือประมาณร้อยละ 0.5 ของเงินทุนสำรองเท่านั้น ซึ่งสาธารณรัฐเช็กอาจจะทำการเก็งกำไรยากสำหรับพันธบัตรดังกล่าวในตลาดหุ้น แต่ผลกระทบก็ถือว่าน้อยมาก ในการนี้ นักวิเคราะห์มองว่าประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบทางการเงินมากกว่า ได้แก่ บัลแกเรีย โรมาเนีย และเซอร์เบีย ที่มีธนาคารกรีกตั้งอยู่

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกของสาธารณรัฐเช็ก

อุตสาหกรรมการผลิตของเช็กค่อยๆฟื้นตัวขึ้นภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ภาคอุตสาหกรรมของเช็กโตขึ้นประมาณร้อยละ 7.5 ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของสหภาพยุโรป เนื่องจากอุตสาหกรมการผลิตของเช็กส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก และตลาดที่สำคัญได้แก่ เยอรมัน และประเทศในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป แต่เมื่อผลกระทบของวิกฤติหนี้ของกรีซกระจายไปทั่วประเทศสมาชิกทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็จะส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเช็กเป็นไปได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตามสาธารณรัฐเช็กก็ยังมีความเสี่ยงน้อยกว่า ไอร์แลนด์ สเปน และโปรตุเกส

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่า ในฐานะที่เช็กเป็นประเทศหลักในสหภาพยุโรปที่ผลิตและส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อาจได้รับผลกระทบในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากวิกฤติหนี้ของกรีซ ทำให้แต่ละประเทศออกมาตรการมาเพื่อรณรงค์ให้ประชากรประหยัดกันมากขึ้น โดยใช้กรณีของกรีซเป็นตัวอย่าง และการดำเนินมาตรการดังกล่าวอาจทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายในสิ่งที่ฟุ่มเฟือยลง เช่น การเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ เป็นต้น สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเช็กอย่างแน่นอน

ผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของสาธารณรัฐเช็ก

กรีซเป็นคู่ค้าอันดับที่ 45 ของการค้าระหว่างประเทศของเช็ก โดยมีมูลค่าการค้ารวม (การนำเข้าและการส่งออก) ประมาณ 403 ล้านยูโร (เปรียบเทียบกับการค้าระหว่างสาธารณรัฐเช็กกับไทย อยู่ในอันดับที่ 24) สัดส่วนการค้าระหว่างเช็กกับกรีซในปี 2552 มีเพียงร้อยละ 0.25 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของเช็ก ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า วิกฤติหนี้ของกรีซในปัจจุบันจะไม่กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของสาธารณรัฐเช็ก แต่อย่างไรก็ตาม หากผลของวิกฤติหนี้ของกรีซแพร่กระจายไปยังมวลสมาชิกของสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ก็จะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของเช็กเพิ่มขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักของเช็ก และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 85 ของการส่งออกทั้งหมดของเช็ก

สินค้านำเข้าหลักจากกรีซ ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผักและผลไม้กระป๋อง น้ำมันมมะกอก เป็นต้น สำหรับสินค้าส่งออกไปยังกรีซส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไฟฟ้า

ผลกระทบต่อการเลือกตั้งทั่วไป

จากกรณีตัวอย่างของกรีซ ทำให้นโยบายเกี่ยวกับวินัยทางการเงินและการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของประเทศ เป็นหัวข้อสำคัญที่ได้รับการวิพากย์วิจารณ์โดยทั่วไปของผู้ที่จะเตรียมลงคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่ของสาธารณรัฐเช็ก ที่มีขึ้นในช่วงวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2553 ผลการสำรวจประชามติ จากหลายสถาบัน ซึ่งออกมาก่อนการเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่แสดงออกว่าจะลงคะแนนเสียงให้กับพรรคฝ่ายขวา ซึ่งเสนอนโยบายเข้มงวดในการดำเนินการเกี่ยวกับการเงินของประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่า กรณีของกรีซเป็นตัวอย่างของความผิดพลาดของรัฐบาล และคนเช็กกลัวว่าถ้าเลือกพรรคที่มีนโยบายไม่รัดกุมในเรื่องวินัยทางการเงิน อาจทำให้สาธารณรัฐเช็กล้มละลายได้เช่นกัน

ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมายังสาธารณรัฐเช็ก

ผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติหนี้ของกรีซไม่มี เนื่องจากกรีซไม่ใช่คู่แข่งของไทยในตลาดนี้ สินค้าที่เช็กนำเข้าจากกรีซส่วนใหญ่ ไม่ใช่สินค้าที่ไทยผลิตและส่งออก จึงไม่สามารถทดแทนกันได้ อย่างไรก็ตาม หากผลของวิกฤติหนี้ของกรีซแพร่กระจายไปทั่วสหภาพยุโรป และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสาธารณรัฐเช็กเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นเหมือนโดมิโนล้มไปยังการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยมายังสาธารณรัฐเช็ก 6-7 รายการแรก ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 70-80 ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังเช็กทั้งหมด เป็นสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อการส่งออกของเช็ก ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า หม้อแปลงฟฟ้า ผลิตภัณ์ยาง เป็นต้น หากเช็กประสบปัญหาในการส่งออก ไทยก็จะได้รับผลกระทบจากการส่งออกวัตถุดิบเช่นกัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงปราก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ