เทศบาลรัฐอัจมานประเทศยูเออีออกประกาศห้ามร้านค้าใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้า ยกเว้นถุงพลาสติกชีวภาพชนิดที่ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ (biodegradable Plastics) ทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตต้องแบกภาระค่าถุงพลาสติกเพิ่มขึ้น 6-10%
จากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ในยูเออีระบุว่าผู้อำนวยการกรมสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของเทศบาลรัฐอัจมาน (Director of Public Health and Environment Department of Ajman Municipality and Planning Department) ซึ่งตั้งอยู่ทางส่วนเหนือของยูเออี ประกาศเข้มจะเริ่มใช้กฎหมายลงโทษเอาผิดกับเจ้าของร้านค้า ซุปเปอร์มาร์เกตหรือผู้ประกอบการที่นำถุงพลาสติกธรรมดาใส่ของให้ลูกค้า ยกเว้น biodegradable Plastic bags หรือถุงพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษปรับเป็นเงิน 50,000 เดอร์แฮม หรือประมาณ 435,000 บาท
ปัจจุบันพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์นั้นก่อให้เกิดขยะมากที่สุด หากเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นให้ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ จะทำให้ปัญหาขยะลดลงได้ กระแสการสร้างจิตสำนึกการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ที่ผ่านมามักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ หรือกว่าจะสำเร็จก็ต้องใช้เวลายาวนานมาก ทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ค่อยเอาจริงเอาจังและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ล่าสุดกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำของยูเออี (Ministry of Environment & Water) ได้ประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ 2555 (ค.ศ.2012) รัฐบาลยูเออีจะห้ามใช้ถุงพลาสติกถุงพลาสติกธรรมดาทั่วไปที่ผลิตจากน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลาสติกหรือโพลีเทน Polythene ซึ่งจะใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 100 - 450 ปี และหน่วยงาน Emirates Authority for Standardisation and Metrology (ESMA) กำลังยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากลของ ISO 17088:2008 (Specification for Compostable Plastics)
รัฐอัจมานได้ขานรับและเริ่มบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังตามประกาศฉบับที่ 3 ปี ค.ศ. 2010 โดย Sheikh Rashid bin Humaid Al Nuaimi, ประธานเทศบาลรัฐอัจมาน และจะมีผลบังคับใช้นับจากวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป หากมีผู้ฝ่าฝืนใช้ถุงพลาสติกทั่วไปใส่ของและอาหารให้ลูกค้าจะถูกลงโทษปรับเป็นเงิน 50,000 เดอร์แฮม หรือ ประมาณ 435,000 บาท แต่ทั้งนี้เทศบาลรัฐอัจมานจะให้เวลาผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆปรับตัวโดยใช้ถุงพลาสติกธรรมดาให้หมดภายในเวลา 4 เดือน เมื่อพ้นจากนี้ไปจะใช้บังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจัง
พลาสติกชีวภาพ(Bioplastics) เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกบนพื้นฐานของกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากพลาสติกชีวภาพชนิดที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ(biodegradable Plastics) เป็นวัสดุที่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่มูลค่าของการผลิต กระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพยังใช้พลังงานและทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าพลาสติกธรรมดาถึงร้อยละ 20
จากข้อมูลของ United Nations Trade Statistics แสดงมูลค่าการค้าพลาสติกและผลิตภัณฑ์ของยูเออีในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ดังนี้
Value: Million $US
2007 2008 2009 2008/07 2009/08 Value Value Value % +- % +- Import 2,752.00 3,401.00 2,468.00 23.6 -27.4 Export 1,385.00 1,981.00 1,781.00 43 -10.1 Re-export 379 490 377 29.3 -23.1 Total trade 4,516.00 5,872.00 4,626.00 30 -21.2
ภาพรวมของตลาดยูเออีที่มีความต้องการพลาสติกลดลงทั้งนำเข้าเพื่อใช้ในประเทศและผลิตสินค้าสำหรับส่งออก ซึ่งข้อมูลการดังกล่าวสอดคล้องกับการที่กลุ่ม EU ประกาศขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้วัสดุ polyethylene terephthalate ส่งออกจากประเทศยูเออี ปากีสถานและอิหร่าน โดยจะเรียกเก็บภาษีป้องกันการทุ่มตลาดเพิ่มขึ้นตันละประมาณ E142.97 หรือ 640.89 เดอร์แฮม เป็นเวลา 4-6 เดือน หรืออาจจะต่อไปอีก 5 ปี
ไทยส่งออกเม็ดพลาสติกไปยูเออีมีมูลค่ามากในกลุ่ม 10 สินค้าแรก กล่าวคือ ปี 2550 ส่งออก 81.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2551 มูลค่า 88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.2 ปี 2552 มูลค่า 85.6 ล้านเหรียญศหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 2.7 และในช่วง 4 เดือนแรกไทยปี 2553 ส่งออกมูลค่า 33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ที่ผ่านมา
ขณะนี้รัฐอัจมากเป็นแหล่งผลิตถุงพลาสติกที่สำคัญของยูเออี มีโรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติกมากกว่า 25 โรงงาน การที่รัฐอัจมานเริ่มใช้กฎหมายเลิกใช้ถุงพลาสติกก่อนรัฐอื่นๆนั้นก็เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้โรงงานเหล่านั้นสามารถผลิตถุงพลาสติกชีวภาพที่ได้คุณภาพสากล European standard EN13432 หรือ ASTM D6400 สำหรับราคาของถุงพลาสติกชีวภาพสูงกว่าถุงพลาสติกธรรมดา กิโลฯละ 6-10% กล่าวคือราคาค่าถุงพลาสติกธรรมดากิโลฯละ 6.50 เดอร์แฮม(1.77 เหรียญสหรัฐฯ) ในขณะที่ถุงพลาสติกชีวภาพกิโลฯละ 7.00 เดอร์แฮม (1.90 เหรียญสหรัฐฯ)
คาดว่าความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพนับจากปี 2009-2014 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ต่อปี ซึ่งการนำพลาสติกชีวภาพมาใช้งานจนถึงการกำจัดหลังการใช้พลาสติกชนิดนี้แล้ว สามารถแตกสลายทางชีวภาพ(biodegradable) ได้อย่างสมบูรณ์ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตได้จากวัตถุดิบการเกษตรที่ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นทรัพยากรที่สามารถปลูกขึ้นใหม่ทดแทนได้ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรืออ้อย ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ได้แก่ ถุง กระสอบพลาสติก และแผ่นฟิล์ม ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ไทยจึงเป็นประเทศที่ถูกจับตามองว่าน่าจะมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการผลิตพลาสติกชีวภาพแห่งใหม่ของโลก
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ
ที่มา: http://www.depthai.go.th