ข้อมูลเบื้องต้น เงื่อนไขและข้อกฎหมาย ในการนำเข้าไฟแช๊คของตลาดชิลี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 14:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลตลาดเบื้องต้น

1.1 ขนาดตลาด ในปี 2550 2551 และ 2552 ชิลีนำเข้าสินค้าสินค้าไฟแช๊คและชิ้นส่วน (cigarette lighters & other lighters; parts) ตามพิกัด HS 9613 คิดเป็นมูลค่า 4.289 ล้านเหรียญสหรัฐ 5.877 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5.227 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 นำเข้าเป็นมูลค่า 1.243 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 41 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ -13.34 จำแนกตามออกเป็นกลุ่มย่อย ได้แก่

1.1.1 พิกัด 96131000 ไฟแช๊คแก๊สที่เติมแก๊สไม่ได้ 0.814 ล้านเหรียญสหรัฐ

1.1.2 พิกัด 96138000 ไฟแช๊คอื่นๆ 0.265 ล้านเหรียญสหรัฐ

1.1.3 พิกัด 96132000 ไฟแช๊คแก๊สที่เติมแก๊สได้ 0.164 ล้านเหรียญสหรัฐ

1.2 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน(ชิลีนำเข้า 1.006 ล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วนตลาดร้อยละ 80.95 ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ -13.34) ฝรั่งเศส(ชิลีนำเข้า 0.087 ล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วนตลาดร้อยละ 7.03 เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 4.48) สหรัฐ(ชิลีนำเข้า 0.087 ล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วนตลาดร้อยละ 6.98 เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 2,197.32) บราซิล(ชิลีนำเข้า 0.042 ล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วนตลาดร้อยละ 3.36 ปีก่อนหน้าไม่มีการนำเข้าจากบราซิล แหล่งนำเข้าลำดับรองลงไปได้แก่ อิตาลี เปรู ไต้หวัน และอินเดีย

1.3 ในส่วนของการนำเข้าจากไทย ชิลีมีการนำเข้าจากไทยเฉพาะในปี 2549 (ต่อจากนั้นยังไม่มีการนำเข้าจากไทย) เป็นชนิดไฟแช๊คแก๊สที่เติมแก๊สได้เท่านั้น โดยนำเข้าเป็นจำนวน 1,859 หน่วย คิดเป็นมูลค่าเพียง 489 เหรียญสหรัฐ ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 0.26 เหรียญสหรัฐ

1.4 เปรียบเทียบกับการนำเข้าไฟแช๊คแก๊สที่เติมแก๊สได้จากจีนในปี 2549 มีจำนวน 1,202,646 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 171,532 เหรียญสหรัฐ ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 0.14 เหรียญสหรัฐ

1.5 เฉพาะคู่แข่งสำคัญที่สุดในตลาดคือจีน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 ชิลีนำเข้าสินค้าพิกัด 9613 จากจีน จำแนกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้

  • พิกัด 96131000 ไฟแช๊คแก๊สที่เติมแก๊สไม่ได้ นำเข้าเป็นปริมาณ 35,452,169 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 2.830 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 0.08 เหรียญสหรัฐ
  • พิกัด 96138000 ไฟแช๊คอื่นๆ นำเข้าเป็นปริมาณ 3,076,575 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 0.695 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 0.19 เหรียญสหรัฐ
  • พิกัด 96132000 ไฟแช๊คแก๊สที่เติมแก๊สได้ นำเข้าเป็นปริมาณ 6,372,005 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 0.890 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 0.14 เหรียญสหรัฐ
  • พิกัด 96139000 ชิ้นส่วนไฟแช๊ค นำเข้าเป็นปริมาณ 8 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 162 เหรียญสหรัฐ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 20.25 เหรียญสหรัฐ
2. เงื่อนไขและข้อกฎหมายของการนำเข้าไฟแช๊ค

2.1 อัตราภาษีนำเข้า ร้อยละ 6

2.2 อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 19

2.3 มาตรฐานความปลอดภัย สินค้าไฟแช๊คแก๊สอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับทางการชิลีเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัย “Regulation NCh2539.Of2000” ซึ่งสรุปสาระได้ดังนี้

2.3.1 กฎข้อบังคับนี้เป็นขั้นตอนพิธีการออกใบรับรองมาตรฐานสำหรับไฟแช๊คที่ใช้แก๊สทุกชนิด

2.3.2 รายการที่กำหนดให้วิเคราะห์ทดสอบ ได้แก่

  • การจุดไฟ
  • ระดับความสูงเปลวไฟ
  • การปรับระดับความสูงเปลวไฟ
  • ความต้านทานต่อการประทุและการจุดเปลวไฟ
  • ความไหลเวียนของปริมาตร
  • ความเรียบร้อยของงานภายนอก
  • ความเหมาะสมกับเชื้อเพลิงที่ใช้
  • ความคงทนต่อการรั่วหายของเชื้อเพลิง
  • ความทนต่ออุณหภูมิสูง
  • ความทนต่อแรงกดดันภายใน
  • คุณสมบัติในการเผาไหม้
  • ความทนทานของวงจรการจุดไฟ
  • ความทนต่อการจุดไฟนาน
  • การสอนและคำแนะนำการใช้งาน
  • บรรจุภัณฑ์
  • การสอนวิธีเติมแก๊ส
  • การติดฉลากตราสินค้า ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยติดที่ตัวไฟแช๊ค ประกอบด้วยชื่อผู้นำเข้าเพื่อการติดต่อ และมีแผ่นเอกสารข้อมูลแนะนำเรื่องความปลอดภัยของสินค้า ผู้ผลิตในประเทศหรือผู้นำเข้าจะต้องมีคำแนะนำการใช้ไฟแช๊คไว้ว่า ไฟแช๊คนี้มิได้ทำมาสำหรับใช้ในการจุดอุปกรณ์แก๊สต่างๆรวมทั้งมิได้ทำมาสำหรับใช้ในการจุดเชื้อเพลิงเหลวต่างๆ

2.3.3 ระบบการทดสอบออกใบรับรอง

2.3.3.1 การทดสอบที่เป็นการควบคุมตามปกติ (Regular Control) ต้องผ่านการทดสอบดังกล่าวตามข้อ 2.3.2 ทั้งหมด โดยสินค้าที่ผ่านการทดสอบจะต้องไม่ทดสอบพบข้อผิดพลาดใดๆเลย จำนวนตัวอย่างที่ทดสอบจะขึ้นอยู่กับปริมาณการนำเข้า เช่น

  • การนำเข้า 501 — 3,200 หน่วย จะทำการทดสอบ 13 ตัวอย่างสินค้า
  • การนำเข้า 3201 — 35000 หน่วย จะทำการทดสอบ 20 ตัวอย่างสินค้า
  • การนำเข้ามากกว่า 35000 หน่วย จะทำการทดสอบ 32 ตัวอย่างสินค้า

โดยหากมีตัวอย่างสินค้าไม่ผ่านการทดสอบเพียงตัวอย่างเดียว สินค้าก็จะถูกปฏิเสธไม่ให้การรับรอง ซึ่งในกรณีที่ปฏิเสธไม่รับรอง ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสามารถร้องขอให้ทดสอบใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้ อาจจะมีการเก็บตัวอย่างสินค้าไปทดสอบเป็นจำนวน 2 เท่า ของการทดสอบครั้งแรก หรือเก็บตัวอย่างสินค้าจำนวนเท่าเดิม

2.3.3.2 การทดสอบและประเมินผลที่เป็นการควบคุมคุณภาพทางอุตสาหกรรม (Manufacturing quality control) และให้การรับรองโดยมีการเฝ้าระวังตรวจสอบควบคุมคุณภาพ ใช้สำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศ และมีหลักการทดสอบเช่นเดียวกับข้อ 2.3.3.1 แต่เก็บตัวอย่างสินค้าทดสอบน้อยกว่า และหากมีตัวอย่างสินค้าไม่ผ่านการทดสอบเพียงตัวอย่างเดียว สินค้าก็จะถูกปฏิเสธไม่ให้การรับรอง โดยจะมีช่วงการตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างน้อยทุก 1 ปี และจะมีการสุ่มตรวจสอบสินค้าในบริษัทที่ได้รับการรับรองแล้วอย่างน้อย 1 หน่วย ในทุก 6 เดือน

2.3.3.3 การทดสอบรับรองเป็นรายกองหรือรายล๊อตของสินค้า (certification by lots) มีหลักการทดสอบเช่นเดียวกับข้อ 2.3.3.1 แต่มีแผนการทดสอบแตกต่างออกไป โดยมีการจำแนกระดับตรวจความบกพร่องของสินค้าที่ทดสอบเป็นระดับบกพร่องจากมาตรฐานในขั้นวิกฤติมาก ขั้นวิกฤติ และขั้นมีความผิดพลาดเล็กน้อย โดยแต่ละขั้นจะมีขนาดการเก็บตัวอย่างไปทดสอบและมีระดับการให้การยอมรับแตกต่างกันไปตามกฎข้อบังคับที่ NCh44.Of78

2.3.3.4 การทดสอบตามระบบการตรวจสอบคุณภาพที่ใช้กับผู้ผลิตในประเทศรายที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขตามมาตรา 5 แห่งกฎข้อบังคับของกระทรวงเศรษฐกิจชิลี ที่ D.S. No. 298-2005 มีหลักการทดสอบเช่นเดียวกับข้อ 2.3.3.1 แต่มีจำนวนเก็บตัวอย่างสินค้าแตกต่างออกไป โดยจะมีการตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้า 2 ครั้ง อย่างน้อยภายในทุก 1 ปี

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซานติอาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ