ข้อมูล SR Mark ในชิลี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 14:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ชิลีเป็นประเทศที่มีระดับการสร้างธรรมาภิบาล (Good Governance) ที่จัดได้ว่าสูงที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ การบริหารประเทศมีความโปร่งใสไม่น้อยไปกว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย การสร้างบรรษัทอภิบาล หรือ CSR จึงเป็นเรื่องที่ทั้งภาครัฐและเอกชนในชิลีให้ความสนใจมากขึ้น โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับ CSR ในชิลีที่น่าสนใจดังนี้

ทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนในชิลียังมีความตื่นตัวด้าน CSR โดยเปรียบเทียบกับนานาประเทศในภูมิภาคอเมริกาในระดับปานกลาง ทางภาครัฐมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้คือ กระทรวงเศรษฐกิจ (Ministry of Economy) โดยมีการตั้งสโลแกนว่า CSR in Chile : Building social trust

ชิลีเริ่มกระบวนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี ยังผลให้ในปัจจุบันชิลีมีระบบเศรษฐกิจที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงขึ้นจากเดิมมากโดยมีการลงทุนทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ในปี 2008 ชิลีมี Per capita PPP สูงถึง 14,673 เหรียญสหรัฐ โดยมี GDP สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมาจนถึงปี 2008

Heritage Foundation 2008 Index of Economic Freedom จัดชิลีไว้ในอันดับที่ 8 ของโลก รองจากแคนาดาเพียง 1 อันดับ (แคนาดาอยู่อันดับ 7) โดยเป็นอันดับนำสุดของลาตินอเมริกา

International Institute for Management Development 2008 Competitiveness Index จัดอันดับชิลีไว้เป็นที่ 26 ของโลก

ชิลีจึงจัดเป็นประเทศแห่งโอกาสทางการค้าประเทศหนึ่งในโลก โดยถือว่า CSR เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากชิลีกำลังมีแนวคิดใหม่ในเรื่องการทำประเทศให้ทันสมัย ทำให้เป็นสังคมที่มีความเป็นโลกาภิวัฒน์สูง มีมาตรฐานทางสังคมที่สูงขึ้น และทำธุรกิจการค้าต่างๆให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น

ชิลีทำประเทศให้ทันสมัยโดยการปรับปรุงการทำงานของสถาบันต่างๆให้มีความโปร่งใส ลดความเข้มงวดเจ้าระเบียบของระบบการบริหารงานของรัฐ และเพิ่มความรวดเร็วในการอนุมัติโครงการของรัฐต่างๆ เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนมากขึ้น

ในการพัฒนาสังคมให้มีความเป็นโลกาภิวัฒน์มากขึ้น และเป็นสังคมที่ใส่ใจในสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น ทำให้สังคมชิลีเป็นสังคมที่เรียกร้องต้องการมาตรฐานต่างๆทางสังคมพิถีพิถันยิ่งขึ้น อาทิเช่น ในเรื่องการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี การมีสุขอนามัยที่ดี การพัฒนาประชาคมชิลี การมีสวัสดิการของแรงงานที่ดี และการมีบริการต่างๆที่ดี

ที่ผ่านมา CSR ในชิลี ถือเป็นเรื่องของการกุศล หรือการทำบุญเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเป็นอภินันทนาการของธุรกิจนั้นๆเป็นการเฉพาะตัว แต่ปัจจุบันสังคมชิลีเริ่มถือว่า CSR เป็นกิจกรรมที่เป็นแกนหลักของธุรกิจ โดยมีการลงทุนในเรื่องนี้ในระยะยาว และเป็นกลยุทธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอันที่จะสนับสนุนการสร้างคุณค่าให้ตัวธุรกิจ โดยธุรกิจต่างๆในชิลีที่มีปฏิบัติการในทางที่เป็นผลให้เกิดสิ่งแวดล้อมเสียหายในทางสังคมและเศรษฐกิจ จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป

ดังนั้นในปัจจุบันนี้ การปฏิบัติเพียงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานภาคบังคับขั้นต่ำของรัฐในเรื่องคุณภาพและการปกป้องสิ่งแวดล้อมจะไม่เป็นการเพียงพออีกต่อไป ธุรกิจต่างๆทุกวันนี้จะต้องถือว่า CSR เป็นมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจในอันที่จะ เพิ่มมูลค่าให้สังคมในแง่วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับปรุงความสามารถทางการแข่งขันของตนจากการสร้างบรรยากาศของความปรารถนาดีซึ่งกันและกันท่ามกลางผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ

ในเรื่องของการพัฒนาประชาคมชิลี ร้อยละ 60 ของชาวชิลีเชื่อว่าภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ โดยที่ผ่านมา ภาคธุรกิจในชิลีรับผิดชอบต่อสังคมโดยการช่วยเหลือในเรื่องการศึกษา การฝึกอบรม และการสร้างเครือข่ายในสังคม

ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ชิลีถูกจัดอันดับ Environmental Performance Index โดยมหาวิทยาลัย Yale ในปี 2008 ให้เป็นประเทศที่มีผลงานทางสิ่งแวดล้อมดีเป็นอันดับที่ 29 ของโลก ในเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่างๆ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล ในประเด็นแรงงานชิลีเน้นการมีสถาบันทางแรงงานที่มุ่งปรับปรุงสิทธิต่างๆของแรงงานและข้อบังคับบริษัทในเรื่องพันธะต่างๆที่ต้องมีต่อคนงาน ในเรื่องการฝึกอบรม การพัฒนาวิชาชีพของแรงงาน

ภาครัฐของชิลีมีการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวกับ CSR ในการให้ Tax incentives แก่ธุรกิจ เฉพาะกรณีการช่วยเหลือในกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและการเรียนการศึกษา และการบริจาคและการให้บริการแก่กลุ่มประชาชนผู้ยากจนมากและผู้ที่ทุพลภาพ แต่ยังไม่มีสิ่งจูงใจทางภาษีสำหรับประเด็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม การป้องกันการกดขี่ทางเพศ การแก้ไขปัญหาติดยาเสพติด การแก้ปัญหาการติดโรคเอดส์ และการช่วยเหลือชนพื้นเมืองอินเดียนดั้งเดิม แต่อย่างไร

ในปัจจุบัน การมอบเครื่องหมาย CSR ยังเป็นเพียงกิจกรรมของภาคเอกชน ได้แก่ CSR Award ของสถาบันต่างประเทศต่างๆในทางสากล อาทิเช่น Fortune - 100 Best Places to Work Fortune - Most Admired Companies, "Green Power Partner of the Year" by the EPA's Green Power Partnership เป็นต้น และ CSR Certificate ของภาคเอกชนในชิลี ได้แก่ “Fair Chile” ดำเนินการโดยมูลนิธิเอกชน คือ Fundacion Trekkingchile และ Georg Kraus Stiftung มีหลักเกณฑ์ สนับสนุนธุรกิจต่างๆที่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในกิจกรรมการแสวงหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง และการค้าขาย รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ ได้แก่ โรงแรม ภัตตาคาร และธุรกิจบริการจัดการท่องเที่ยว บริษัทที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรอง “Fair Chile” จะประกันต่อลูกค้าได้ว่าได้ทำการช่วยเหลือในการพัฒนาโครงการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆในชิลี โดยธุรกิจที่ได้รับประกาศนียบัตรจะได้รับการส่งเสริมจาก Fair Chile ผ่านทาง website, สื่อสิ่งพิมพ์โฆษณา ป้ายรับรองสำหรับติดเผยแพร่ที่สำนักงานและในงานแสดงสินค้าและบริการต่างๆ และในเวทีแถลงข่าวต่างๆของบริษัท เป็นต้น หลักการในการให้ประกาศนียบัตรคือ ธุรกิจที่แตกต่างกันจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทางที่ต่างกัน จึงไม่สามารถคำนวณค่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากธุรกิจต่างชนิดกัน ดังนั้น Fair Chile จึงใช้ขนาดของธุรกิจและจำนวนลูกจ้างในธุรกิจ เป็นปัจจัยในการคำนวณความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ธุรกิจที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการจะต้องบริจาคเงินค่ารักษาสิ่งแวดล้อมสำหรับลูกจ้าง 1 คน เป็นค่าปลูกต้นไม้สัญลักษณ์ (symbolical tree = ใช้สำหรับเป็นสัญลักษณ์แทนในการคำนวณเงินค่าบริจาค) 0.1 ต้น ต่อ 1 วัน และอย่างต่ำแต่ละบริษัทจะต้องบริจาคเงินค่ารักษาสิ่งแวดล้อมเป็นค่าต้นไม้สัญลักษณ์อย่างต่ำ 0.5 ต้น ต่อ1 วัน อัตราค่าปลูกต้นไม้สัญลักษณ์ต้นละ 0.80 เหรียญสหรัฐ ประกาศนียบัตรจะมีอายุตั้งแต่วันที่ยื่นขอประกาศนียบัตรจนถึงสิ้นปีของทุกปี ตัวอย่างเช่น บริษัทที่มีลูกจ้าง 7 คน ที่ขอรับประกาศนียบัตร “Fair Chile” จะต้องบริจาคเงินปลูกต้นไม้สัญลักษณ์วันละ 0.7 ต้น เป็นเงินวันละ 0.7 x 0.8 = 0.56 เหรียญสหรัฐ หรือเดือนละ 0.56 x 30 = 16.8 เหรียญสหรัฐ ขั้นตอนการรับประกาศนียบัตรคือ ขั้นแรก จ่ายเงินบริจาค ขั้นตอนที่สองคือ กรอกและยื่นใบสมัคร พร้อมแนบหลักฐานการจ่ายเงินบริจาค ขั้นตอนที่สามคือ Fair Chile จะส่งตราประทับรับรองประกาศนียบัตรมาให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ

โดยสรุป CSR ในชิลียังเป็นประเด็นที่สังคมโดยทั่วไปตระหนักในความสำคัญในระดับปานกลาง โดยธุรกิจภาคเอกชนมีส่วนร่วมในระดับปานกลาง และเป็นการเข้าร่วมรับผิดชอบโดยสมัครใจ เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่บริษัท เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบ และรังสรรค์บรรยากาศแห่งความปรารถนาดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การบริจาคเงินช่วยโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสังคม การให้ทุนฝึกอบรมและศึกษาเล่าเรียน การส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ การสนับสนุนโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน เป็นต้น แต่การสนับสนุนส่งเสริมในภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์ที่น้อย กล่าวคือ ส่วนใหญ่รัฐให้ความช่วยเหลือในด้านการปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าการลงทุนให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น จัดการบริหารงานภาครัฐมีความโปร่งใส ลดขั้นตอนการบริหารจัดการภาครัฐให้น้อยลง ดำเนินขั้นตอนการอนุมัติโครงการให้รวดเร็วขึ้น และมีมาตรการให้สิ่งจูงใจทางภาษี

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซานติอาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ