ข้อมูลตลาดปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพในชิลี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 15:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การนำเข้า

สินค้าปุ๋ยตามพิกัดศุลกากร 31 เป็นสินค้านำเข้าสำคัญลำดับที่ 21 ของตลาดชิลี ในปี 2005 2006 และ 2007 ชิลีนำเข้าปุ๋ยทุกชนิด (ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอนินทรีย์) เป็นปริมาณ 911,531 ตัน 902,501 ตัน และ 1,067,870 ตัน คิดเป็นมูลค่า 257 ล้านเหรียญสหรัฐ 253 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 405 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ราคานำเข้าเฉลี่ยในปี 2007 กิโลกรัมละ 0.38 เหรียญสหรัฐ มูลค่าการนำเข้าในปี 2007 สูงขึ้นจากปี 2006 ร้อยละ 35 ประเทศแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวเนซูเอลา จีน เม็กซิโก รัสเซีย อาร์เจนตินา บุลกาเรีย สเปน เนเธอแลนด์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วงปี 2005 — เดือนเมษายนปี 2008 ชิลีไม่มีการนำเข้าปุ๋ยชนิดใดๆจากประเทศไทย

ปุ๋ยที่ชิลีนำเข้าส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยอนินทรีย์หรือปุ๋ยเคมีซึ่งในปี 2007 ชิลีนำเข้าปุ๋ยเคมีผลิตจากไนโตรเจน ฟอสเฟต และโปแตสเซียม เป็นปริมาณ 1,051,706 ตัน คิดเป็นมูลค่า 402.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 0.382 เหรียญสหรัฐ ในปี 2007 มูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.23 ของมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยทุกชนิด

ในส่วนของปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำจากซากพืชและสัตว์ ตามพิกัด HS CODE 31010000 ในปี 2005 2006 และ 2007 ชิลีนำเข้าเพียงปริมาณ 1,374 ตัน 1,575 ตัน และ 16,163 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.765 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.953 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 3.077 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ การนำเข้าในปี 2007 สูงกว่าการนำเข้าในปี 2006 ร้อยละ 925 ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 4.2 ในเชิงมูลค่า ราคาในปี 2005 2006 และ 2007 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.01 เหรียญสหรัฐ 1.87 เหรียญสหรัฐ และ 0.19 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ราคานำเข้าชิลีเฉลี่ยในปี 2007 ลดต่ำกว่าราคาในปี 2006 ถึงร้อยละ 89.84 จึงทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ในปี 2007 มูลค่าการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.76 ของมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยทุกชนิด ประเทศคู่แข่งขันในตลาดนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ของชิลี ได้แก่ สเปน สหรัฐอเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส เม็กซิโก บราซิล เนเธอร์แลนด์ เปรู ออสเตรเลีย แคนาดา จีน และเวเนซูเอลา

ในช่วง มกราคม — เมษายน 2008 ชิลีนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ไปแล้วเพียง 199 ตัน ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 98 การนำเข้าในช่วงเวลาดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 0.397 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 2.97 เนื่องจากราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัมสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 2.05 เหรียญสหรัฐ หรือสูงกว่าช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 7,417 (ราคาเฉลี่ยในช่วงมกราคม-เมษายน 2007 เพียงกิโลกรัมละ 0.03 เหรียญสหรัฐ หรือ 3 เซนต์)

2. การส่งออก

ชิลีมีการส่งออกปุ๋ยชนิดต่างๆ ด้วยเช่นกัน ในปี 2007 เป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่ามากเป็นลำดับที่ 23 ในปี 2005 2006 และ 2007 ชิลีส่งออกปุ๋ยทุกชนิดเป็นปริมาณ 684,179 ตัน 646,740 ตัน และ 694,043 ตัน คิดเป็นมูลค่า 177 ล้านเหรียญสหรัฐ 188 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 214 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ บราซิล เปรู เม็กซิโก สหรัฐ อัฟริกาใต้ เบลเยี่ยม อาร์เจนตินา โคลัมเบีย ญี่ปุ่น และสเปน ตามลำดับ ชิลีส่งออกปุ๋ยมายังประเทศไทยเช่นกันโดยไทยเป็นตลาดลำดับที่ 16 ของชิลี ในปี 2005 2006 และ 2007 ชิลีส่งออกปุ๋ยมาประเทศไทยคิดเป็นปริมาณ 754 ตัน 1,490 ตัน และ 4,697 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.227 ล้านเหรียญสหรัฐ 0.511 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 1.565 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ในปี 2007 ราคาปุ๋ยที่ชิลีส่งออกมาไทยกิโลกรัมละ 0.33 เหรียญสหรัฐ ปุ๋ยที่ชิลีส่งออกส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยเคมี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.89 ของปุ๋ยที่ส่งออกทั้งหมดในเชิงมูลค่า

ในส่วนของปุ๋ยอินทรีย์ ในปี 2005 2006 และ 2007 ชิลีส่งออกเป็นปริมาณ 1,246 ตัน 1,178 ตัน และ 765 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.542 ล้านเหรียญสหรัฐ 0.349 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 0.209 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ราคาส่งออกเฉลี่ยในปี 2005 2006 และ 2007 กิโลกรัมละ 0.44 เหรียญสหรัฐ 0.30 เหรียญสหรัฐ และ0.27 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับซึ่งมีแนวโน้มลดลง

ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2005 ถึงเดือนเมษายนของปี 2008 ปรากฏว่าชิลีมีการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำจากซากพืชและสัตว์ ตามพิกัด HS CODE 31010000 มายังประเทศไทยเพียงเฉพาะในปี 2006 เท่านั้น โดยชิลีส่งออกมายังไทย 0.7 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,702 เหรียญสหรัฐ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.86 เหรียญสหรัฐ

3. กฎระเบียบในการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์สู่ตลาดชิลีที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย

3.1 ภาษี ได้แก่ภาษีนำเข้า ร้อยละ 6 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19

3.2 หน่วยงาน Agricultural and Livestock Farming Service, Ministry of Agriculture : SAG เป็นหน่วยงานควบคุมการผลิต นำเข้า จัดจำหน่ายและการใช้สินค้ากลุ่มนี้รวมทั้งสินค้ายาปราบศัตรูพืช การนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จะต้องเป็นไปตามกฎข้อบังคับของชิลี โดย SAG จะเป็นผู้ทำการตรวจสอบสินค้าปุ๋ยที่ผลิต นำเข้า จัดจำหน่ายและใช้ ดังต่อไปนี้

  • สินค้าที่นำเข้าเป็นบรรจุภัณฑ์จะต้องพิมพ์ฉลากรายละเอียดอย่างไม่สามารถลบเลือนได้ ระบุส่วนประกอบต่างๆของผลิตภัณฑ์ (เช่น ปริมาณอินทรีย์วัตถุ ฯ) โดยให้ระบุเป็นสัดส่วนร้อยละ ในกรณีที่นำเข้าเป็น bulk ข้อมูลดังกล่าวนี้จะต้องมีระบุในใบกำกับสินค้า
  • สินค้าที่นำเข้าจะต้องผ่านการตรวจสอบโดยห้องปฏิบัติการซึ่งผู้นำเข้าสามารถที่จะเลือกทดสอบกับห้องปฏิบัติการใดก็ได้ที่ SAG ให้การรับรอง และเมื่อผลิตภัณฑ์ผ่านการวิเคราะห์และ SAG ให้การรับรองผลการวิเคราะห์ว่าตรวจผ่านแล้วจึงจะสามารถจัดจำหน่ายสินค้าดังกล่าวได้
  • ผู้ผลิต นำเข้า จัดจำหน่ายและใช้ จะต้องติดต่อแจ้งกับ SAG ถึงรายละเอียดการประกอบการ แจ้งทำเลที่ตั้งสถานที่ประกอบการ
  • SAG สามารถที่จะเข้าทำการทดสอบผลิตภัณฑ์ได้ตลอดเวลาตามขั้นตอนต่างๆทางการตลาดของสินค้า และสามารถระงับการจำหน่ายสินค้าได้ถ้าพิสูจน์ได้ว่าส่วนประกอบทางกายภาพและทางเคมีไม่ตรงกับข้อมูลที่ระบุตามฉลากหรือพบว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบที่สามารถทำลายการเกษตรของประเทศ (Organic pollutants) และผลตกค้างที่เป็นอันตราย (Residue effects) ได้แก่ DDT, aldrin, chlordane, dieldrin, endrin และ heptachlor เป็นต้น
  • การติดต่อ SAG

Agricultural and Livestock Farming Service

Ministry of Commerce

Paseo Bulnes 140

Santiago-Centro, Santiago, Chile

Tel.: (56-2) 345-111, 695-0805

Website: www.sag.cl

4. โอกาสในการส่งออก

โอกาสในการส่งออกไปชิลีมีไม่มาก เนื่องสินค้าจากไทยจะต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 6 ในขณะที่ประเทศคู่แข่งขันส่วนใหญ่มีข้อตกลงการค้าเสรี รวมทั้งอุปสรรคด้านระยะทางขนส่ง และการแข่งขันกับการผลิตในประเทศ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ชิลีตระหนักในความสำคัญต่อภาคการเกษตรที่ปลอดสารเคมีมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่การเกษตรสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ทางการเพาะปลูกลงไปมากจากการบริหารจัดการใช้ที่ดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพและการที่ผิวดินถูกกัดเซาะไปมาก ตลอดจนการใช้ยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีมาอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดมลภาวะในแหล่งดินและน้ำธรรมชาติ ชิลีมีพื้นที่ทำการเกษตรแบบ Organic agriculture กว่า 3,300 แฮกตาร์ หน่วยงาน SAG ของกระทรวงเกษตรชิลี เป็นผู้บังคับใช้ข้อบังคับในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารประเภท Organic มาตั้งแต่ปี 1999 โดยยึดถือแนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่กฏข้อบังคับดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นแนวทางปฏิบัติมากกว่าที่จะเป็นกฎหมาย และมีการบังคับใช้อย่างไม่เคร่งครัดนัก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซานติอาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ