ข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดตั้ง Distribution Center ที่นิคม Ceticos Paita ประเทศเปรู

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 15:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ลักษณะการดำเนินงาน

เป็นองค์กรมหาชนที่กระจายอำนาจจากศูนย์กลางของรัฐบาลส่วนท้องถิ่น Piura ในประเทศเปรู ซึ่งสถานะขององค์กรได้รับการรองรับโดยกฎหมายมหาชน โดยให้มีการบริหารจัดการโดยตัวเอง ภายใต้กฎข้อบังคับของ MINCETUR และการกำกับดูแลโดยรัฐบาลท้องถิ่น

CETICOS PAITA เป็นศูนย์ของการส่งออก แปรรูป อุตสาหกรรม การตลาด ที่ภายในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ถือเป็น Customs Zone ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศเปรู

2. วัตถุประสงค์

เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศโดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการบริโภคเพิ่มขึ้น มีการส่งออกเพิ่มขึ้น และเกิดการพัฒนาองค์รวมทางด้านสังคมและเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยมี Ceticos Paita เป็นเครื่องมือหลัก และเป็นตัวกระตุ้น การส่งออกและการดำเนินธุรกรรม Internationalization อย่างมีประสิทธิภาพและมีศักยภาพทางการแข่งขัน

3. ทำเลที่ตั้ง

ตั้งอยู่ ณ กม. ที่ 3 ของทางหลวง Paipa- Sullana และ Paita — Piura อยู่ห่างจากท่าเรือ Paita 3 กม. ซึ่ง ณ ที่นั้นจะมีสถาบันทางการเงินและการค้าต่างประเทศหลักเปิดให้บริการ มีสายเดินเรือสำคัญๆให้บริการติดต่อขนส่งสินค้ากับท่าเรือสำคัญอื่นๆของโลกได้ รวมทั้งมีเส้นทางคมนาคมขนส่งติดต่อกับชายฝั่งแปซิฟิคและกลุ่ม MERCOSUR

ทั้งนี้ CETICOS PAITA อยู่ห่างจากเมือง Piura 57 กม. อยู่ห่างจาก agues Verdes Huaquillas ซึ่งเป็นพรมแดนต่อกับเอกวาดอร์ทางตอนเหนือ 339 กม. อยู่ห่างจาก La Tina — Macara ซึ่งเป็นพรมแดนต่อกับเอกวาดอร์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 227 กม. และอยู่ห่างจากกรุงลิมา นครหลวงของประเทศ 1,037 กม.

4. ขนาด

พื้นที่สามารถขยายได้ถึง 939.66 เฮคแท ในชั้นแรกเปิดดำเนินการแล้ว 20.33 เฮคแท โดยประกอบด้วยสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นอาทิ ไฟฟ้า ประปา ท่อระบายน้ำทิ้ง ระบบโทรศัพท์ส่วนตัวและสาธารณะ อินเตอร์เนท สำนักงานบริหารจัดการและแผนกให้บริการต่างๆ ถังเก็บน้ำ บ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบปั๊มระบายน้ำ เครือข่ายถนน เครื่องชั่งน้ำหนัก กว้านยกของ และโรงอาหาร ฯ เป็นต้น สำหรับให้บริการนักลงทุน

5. กิจกรรมหลัก

สาขากิจกรรมที่ให้ดำเนินการในเขตการลงทุนนี้ ได้แก่

5.1 อุตสาหกรรม หรือการผลิตสินค้า ได้แก่ ธุรกรรมการแปรรูปวัตถุดิบและวัสดุในการผลิต ไปสู่สินค้าขั้นสุดท้าย สำหรับกลุ่มสินค้าที่การส่งออกในปี 1996 ไม่ถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องบางฉบับ อาทิ CIIU (Review 2) Nos. 3114,3115,3118,3122,3530 ม 3720 และ Supreme Decree No 005-97-ITINCI บริษัทสำคัญที่เข้าร่วมในนิคม ได้แก่ FREEKO PERU, PRODU EXPORT S.A.C., VITALINE S.A. เป็นต้น

5.2 ธุรกรรมการจัดเก็บในลักษณะ Werehouse ได้แก่ การจัดเก็บสินค้าเพื่อกระจายออกไปนอกเขตต่อไป รวมทั้งการเก็บวัตถุดิบ วัสดุกึ่งสำเร็จรูป ชิ้นส่วนประกอบ เพื่อการอุตสาหกรรมหรือการประกอบ รวมทั้งการเก็บสินค้าที่ผลิตได้ บริษัทสำคัญที่เข้าร่วมในนิคม ได้แก่ EDITORIAL PERU DESCENTRALIZADO S.A.C., EL PUNTO PERUANO E.I.R.L., COMERCIALIZADORA PERUANA, SUDAMERICANA IMPORT AND EXPORT, SUR IMPEX E.I.R.L., FABICO S.A., GOLDEN AMERICAN COMPANY S.R.L. เป็นต้น

5.3 ธุรกรรมการประกอบสินค้า (ASSEMBLY)

5.4 ธุรกรรมการซ่อมแซมเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม เหมืองแร่ ที่นำเข้าจากต่างประเทศหรือนอกเขตนิคม เพื่อกระจายสินค้าต่อไป ในลักษณะ Workshop

5.5 ธุรกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่นำเข้าในลักษณะ Garages เพื่อจำหน่ายต่อ โดยเป็นไปตามกฎหมาย Legislative Decree No 843 บริษัทสำคัญที่เข้าร่วมในนิคม ได้แก่ AUTO — PAITA S.R.L., SOUTH AMERICAN HOLDING, US-AUTO IMPORT E.I.R.L. เป็นต้น

5.6 ธุรกรรมการปรับสภาพ (Reconditioning) เครื่องจักรกล และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการอุตสาหกรรม เหมืองแร่ เป็นต้น โดยการปรับปรุงความแรง ดัดแปลงรูปแบบ ฯเป็นต้น

5.7 ธุรกรรมเกษตรอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าทางการเกษตร โดยการคัดจำแนก บรรจุหีบห่อ และผลิตทางอุตสาหกรรมเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายในการส่งออก ผลิตภัณฑ์ที่สามารถเป็นวัสดุในการผลิตที่มีมากในพื้นที่ได้แก่ แตงไทยประเภทเมลอน กล้วย มะม่วง มะนาว มะเขือเทศ พริก เครื่องเทศในการปรุงรส ฝ้าย และปลาทูนา เป็นต้น

6. ขนาดมูลค้าการค้าและธุรกิจของนิคม

ณ วันที่ 31 มกราคม 2551 บริษัทผู้ใช้บริการนิคมในกิจกรรมการผลิตได้ทำการส่งออกไปต่างประเทศเป็นมูลค่า 40,499,748.13 เหรียญสหรัฐ และส่งเข้าตลาดประเทศเปรู 160,296.30 เหรียญสหรัฐ กิจกรรมคลังสินค้าได้ทำการส่งออกต่อไปประเทศที่สามเป็นมูลค่า 36,354,222.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งเข้าตลาดประเทศเปรู 332,045.12 เหรียญสหรัฐ กิจกรรมอู่ซ่อมรถยนต์ได้ทำการส่งรถยนต์มือสองที่นำเข้าเข้าตลาดประเทศเปรูจำนวน 1,177 คัน ยังผลให้ได้รับภาษีเป็นมูลค่า 4,002,708.00 เหรียญสหรัฐ

7. วิธีการเข้าเป็นสมาชิกของ CETICOS PAITA ประกอบด้วย

7.1 ขั้นตอนการยื่นเอกสารคำขอเป็นสมาชิกต่างๆโดยมีคุณสมบัติตามที่กำหนด

7.2 ขั้นตอนการประมูลสาธารณะ (Public Auction) เพื่อรับการจัดสรรพื้นที่ให้เช่า หรือพื้นที่ที่จะขายให้ (ตามข้อกฎหมายเดิม สามารถทำได้แค่ให้เช่า แต่ CETICOS PAITA เพิ่งเริ่มเปิดขายพื้นที่แก่นักลงทุนได้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553)

7.3 การเป็นสมาชิกโดยทำสัญญาโอนสิทธิเพื่อใช้ประโยชน์ (contract in transfer in use หรือ contact of sale in use)

7.4 ได้รับ Approval of Installation

7.5 ได้รับ Approval of Functioning or Operating

7.6 การเป็นสมาชิกโดยทำสัญญาเป็นผู้ใช้บริการ (contract for the user)

8. อัตราค่าเช่า และราคาขายพื้นที่ (กรณีขาย)

8.1 กรณีเช่า ต้องทำสัญญาไม่ต่ำกว่า 1 ปี และสัญญาสิ้นสุดไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ขนาดพื้นที่ต่ำสุดเท่ากับ 1,000 ตารางเมตร โดยคิดค่าเช่าต่อเดือนดังนี้

8.1.1 อัตรา 0.50 เหรียญสหรัฐ/ตารางเมตร สำหรับพื้นที่ Block MZ “A”

8.1.2 อัตรา 0.35 เหรียญสหรัฐ/ตารางเมตร สำหรับพื้นที่ Block MZ “B” และ MZ “C”

8.1.3 อัตรา 0.40 เหรียญสหรัฐ/ตารางเมตร สำหรับพื้นที่ Block MZ “D”

ทั้งนี้ ทางนิคมให้อัตราค่าเช่าพิเศษในช่วงแรกตั้งกิจการจนถึงช่วงเปิดดำเนินกิจการ ดังนี้

  • อู่ซ่อมรถยนต์ 3 เดือนแรก เดือนละ 0.05 เหรียญสหรัฐ/ตารางเมตร
  • อู่ซ่อมคลังสินค้า 4 เดือนแรก เดือนละ 0.05 เหรียญสหรัฐ/ตารางเมตร
  • อุตสาหกรรม 8 เดือนแรก เดือนละ 0.05 เหรียญสหรัฐ/ตารางเมตร

8.2 กรณีขาย มีราคาดังนี้

8.2.1 60 เหรียญสหรัฐ/ตารางเมตร สำหรับพื้นที่ Block MZ “A” และ MZ “D”

8.2.2 55 เหรียญสหรัฐ/ตารางเมตร สำหรับพื้นที่ Block MZ “B” และ MZ “C”

9. ผลที่จะได้รับ

9.1 สินค้าที่นำเข้านิคมจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าโดยสามารถเก็บไว้ได้ตราบเท่าที่สัญญาของสมาชิกยังไม่หมดอายุ (จนถึงปี 2012) นอกจากกรณีการนำสินค้าดังกล่าวเข้าไปจำหน่ายในประเทศเปรู จะต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีต่างๆที่เกี่ยวข้อง

9.2 ได้รับการยกเว้นภาษีต่างๆ การจ่ายเงินเรี่ยไรอุดหนุนต่างๆทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ทั้งที่มีอยู่แล้ว หรือที่จะมีขึ้นต่อไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2022 อาทิเช่น

  • ภาษีทรัพย์สิน (Property Tax)
  • ภาษีรายได้ (Income Tax)
  • General Tax to the sales (IGV เรียกเก็บจากสินค้าที่นำเข้าประเทศเปรูโดยมีฐานภาษีคือ มูลค่ารวมของ Customs Tariff Value บวกภาษีศุลกากร บวก ภาษีอื่นๆที่เรียกเก็บจากการนำเข้าสินค้านั้น อัตราภาษี 16%)
  • Tax of Municipal Promotion (IPM เรียกเก็บจากสินค้าที่พึงเสียภาษี IGV มีฐานภาษีเดียวกันกับการเรียกเก็บภาษี IGV อัตราภาษี 2%)
  • Selective Tax to the consumtion (ISC เรียกเก็บจากการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการ (ตัวอย่างเช่น เชื้อเพลิง สุรา รถยนต์ น้ำอัดลม เบียร์ บุหรี่ เป็นต้น) อัตราภาษีคิดแตกต่างกันไปตามรายการสินค้า เช่น บุหรี่ เก็บภาษีแบบ Specific rate ประมาณมวนละ 0.025-0.10 โซล รถยนต์เรียกเก็บในอัตรา 0%, 10% และ 30%)

9.3 ในอนาคตที่ใกล้จะมาถึงที่จะมีการให้สัตยาบันในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างเปรูกับสหรัฐอเมริกา สินค้าที่ส่งออกจากนิคมไปยังตลาดสหรัฐจะมีข้อได้เปรียบในการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านอัตราภาษีนำเข้า

10. ความเห็นของสคต. ณ กรุงซานติอาโก ประเด็นต่างๆที่ควรพิจารณา ได้แก่

10.1 จุดแข็ง ได้แก่

10.1.1 สิทธิประโยชน์ตามข้อ 9

10.1.2 มีเส้นทางคมนาคมแบบ Multi Modal Transportation ในการนำสินค้าสู่ตลาดในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอเมซอนของบราซิล

10.1.3 เปรูเป็นตลาดส่งออกใหม่ของไทย ที่มีโอกาสในการขยายตลาดได้มาก สินค้าที่ไทยส่งออกไปเปรูมากได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรกลไฟฟ้า สิ่งทอ เศษดีบุก ของเล่นและอุปกรณ์การกีฬา ออพติกไฟเบอร์และเครื่องมือแพทย์ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าทอ แก้วและเครื่องแก้ว และอาหารแปรรูป เป็นต้น

10.1.4 เปรูเป็นแหล่งนำเข้าทรัพยากรและปัจจัยการผลิตของไทย สินค้าที่ไทยต้องการนำเข้าจากเปรูที่สำคัญ ได้แก่ สินแร่สังกะสี ทองแดง และเหล็ก อาหารสัตว์ทำจากเศษอาหาร ปลาและอาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ทองแดง สีฟอกย้อม เสื้อผ้า เคมีภัณฑ์ ไขมันสัตว์ โลหะมีค่า(เงิน) ผลิตภัณฑ์ อนินทรีย์เคมีและสารประกอบเคมี ผลไม้และถั่วต่างๆ ฝ้าย เศษโลหะอลูมินัม เศษทองแดง เสื้อผ้าทอ เป็นต้น เปรูเป็นประเทศผู้ผลิตแร่เงินรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นประเทศผู้ผลิตทองคำและทองแดงรายใหญ่เป็นอันดับหกของโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศผู้ผลิตแร่สังกะสีและตะกั่วรายสำคัญรายหนึ่งของโลก ตลอดระยะเวลา 8 ปีนับจากปี 2541-2548 การส่งออกแร่ธาตุดังกล่าวของเปรูคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 50 ของมูลการการส่งออกทั้งหมดของเปรู โดยเฉพาะในปี 2549 สัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 62 ทั้งนี้แร่ธาตุดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ไทยจำเป็นต้องใช้

10.1.5 อนาคตของตลาดเปรู มีการค้นพบว่าเปรูมีแหล่งของน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติมากพอที่จะส่งออกเชื้อเพลิงที่เป็นแหล่งกำเนิดของพลังได้ในอนาคตอันใกล้ กล่าวคือในปี 2004 เปรูได้เริ่มดำเนินโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติโครงการใหญ่เรียกชื่อว่าโครงการ Camisea project เพื่อนำก๊าซไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งในระยะ (phase) ที่สองของโครงการดังกล่าว เปรูมีแผนการที่จะส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก (West Coast) และตลาดเม็กซิโก ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติดังกล่าวพบว่ามีปริมาณก๊าซสำรองอยู่เป็นปริมาณเทียบเท่า 2.4 ล้านบาเรลน้ำมันดิบ หรือคิดเป็น 7 เท่าของปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่เปรูทำการสำรวจพบว่ามีอยู่ในประเทศ ทางเปรูจึงคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นตัวปัจจัยสำคัญในการค่อยๆปรับปรุงพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเป็นตัวผลักดันให้เปรูสามารถเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานโดยสุทธิได้ในอนาคต หากพิจารณาถึงระบบเศรษฐกิจของเปรู ก็อาจเห็นได้ว่าได้รับการบริหารจัดการเป็นอย่างดีพอสมควร เนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นเพราะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งภาษีที่จัดเก็บได้ก็เพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆของประเทศ มีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อระยะเวลาไม่นานมานี้ รัฐบาลเปรูประสบความสำเร็จในการออกพันธบัตรต่างประเทศ ยังผลให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศดีขึ้น อีกทั้งรัฐบาลเปรูกำลังดำเนินมาตรการส่งเสริมให้มีการกระจายความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้นและเน้นการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กไปสู่รูปแบบการดำเนินงานที่เป็นสากลมากยิ่งขึ้น ในปีที่ผ่านมา กรุงลิมา นครหลวงของเปรูเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนทั้งจากในประเทศเองและจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ามากแห่งหนึ่งในภูมิภาค โดยมีบริษัทต่างประเทศหลายบริษัทสนใจลงทุนในธุรกิจขายปลีกในเปรูเพื่อเป็นหนทางไปสู่การที่จะเข้าตลาดเปรูให้ได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นในอนาคตเปรูอาจจะมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ (Business hub) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภูมิภาค

10.1.6 ความพร้อมในการเข้าสู่ความเป็นสากลของตลาดเปรู หากพิจารณาในแง่ความสนใจที่จะขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทยและความพร้อมในการเข้าสู่ความเป็นสากลของตลาด จะเห็นได้ว่าเปรูให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก ที่ผ่านมาเปรูพยายามตัดทอนข้ออุปสรรคทางการค้าลง และค่อยๆยกเลิกการให้การอุดหนุนทางตรงแก่ผู้ส่งออกและผู้ผลิตในประเทศ โดยให้การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนท้องถิ่น ปัจจุบันเปรูพยายามเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น และวางกลยุทธ์สำคัญในการนำเศรษฐกิจของประเทศไปสู่สากล โดยการเข้ารวมตัวในระดับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจภูมิภาค ที่สำคัญได้แก่ การเป็นประเทศสมาชิกของ Andean Community ยังผลให้สินค้าหลายรายการสามารถเคลื่อนย้ายในหมู่ประเทศสมาชิกได้โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และการเป็นประเทศสมาชิกของเอเปค โดยมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี 2009 นอกจากนี้ เปรูยังมีแผนการที่จะเจรจาการค้าทั้งในระดับทวิภาคีและในระดับภูมิภาคกับประเทศต่างๆเพื่อขยายการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทย เปรูต้องการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศไทยให้สำเร็จโดยสมบูรณ์

10.1.7 นโยบายการค้าของไทยเน้นให้ความสำคัญตลาดละตินอเมริกามากขึ้นแต่ระยะทางขนส่งสินค้าห่างไกล เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจคือ การหารายได้เข้าประเทศโดยการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ แต่เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ตลาดส่งออกของไทยส่วนใหญ่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจหดตัวเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้การค้าโลกหดตัวและตลาดโลกมีการนำเข้าจากไทยลดลง ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพในการนำเข้าจากไทยให้มากขึ้น โดยตลาดที่สำคัญได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ซึ่งกำลังจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ กลุ่มประเทศคู่ค้าใหม่ที่ไทยยังไม่ได้เน้นให้ความสำคัญเท่าที่ควร ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา และกลุ่มยุโรปตะวันออก ทั้งนี้ ในส่วนของการขยายตลาดภูมิภาคละตินอเมริกานั้น เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลจากประเทศไทยมากและเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ มีประชากรมากถึงกว่า 450 ล้านคน มีพื้นที่กว้างขวางครอบคลุมกลุ่มประเทศแถบแคริบเบียน อเมริกากลางและทวีปอเมริกาใต้ ถึงกว่า 18.34 ล้านตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ อุปสรรคในการส่งออกไปยังตลาดนี้ที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงอันเกิดจากระยะทางขนส่งไกล ดังนั้นหากจะมีการส่งเสริมให้มีศูนย์กระจายสินค้าขึ้นที่เปรู ก็จะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการบริหารจัดการในการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์แก่สินค้าส่งออกของไทย เพื่อส่งเสริมให้ขยายตลาดละตินอเมริกาสำหรับสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น

10.1.8 ทำเลทางโลจิสติกส์ของเปรู หากพิจารณาเรื่องทำเลที่ตั้งในทางโลจิสติกส์ของเปรูในกรณีที่ต้องกระจายสินค้าไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดหรือใกล้เคียงกับประเทศเปรู ได้แก่ ตลาดเอกวาดอร์ โคลัมเบีย ชิลี โบลีเวีย และบราซิล จะเห็นได้ว่าเปรูมีทำเลทางภูมิศาสตร์ที่ติดต่อกับประเทศเหล่านี้ เปรูจึงมีบทบาทต่อการค้าตามชายแดนกับประเทศเหล่านี้ แต่ยังไม่สามารถเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ของตลาดในประเทศเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ๆกว้างใหญ่ไพศาลมากและยังขาดโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งที่ดีพอ ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านของเปรูเหล่านี้ส่วนใหญ่มีปัจจัยพื้นฐานทางโลจิสติกส์อาทิ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ทางหลวง ที่ไม่ด้อยไปกว่าเปรู (ยกเว้นประเทศโบลีเวียซึ่งไม่ติดทะเลและมีโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งไม่ดี) และเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์แก่ภูมิภาคย่อยในพื้นที่ใกล้เคียงอยู่แล้ว เช่น กรณีของประเทศบราซิล อาร์เจนตินา และชิลี เป็นต้น การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่เปรูจึงอาจมีรัศมีทำการอยู่เฉพาะในเขตพื้นที่ตลาดเปรูเองและเขตพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้กับแนวชายแดนเท่านั้น ยกเว้น กรณีสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯ หากศึกษาแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ในการทำการผลิตในเปรูโดยใช้สิทธิประโยชน์ในการนำเข้า/ส่งออก วัสดุในการผลิตจากความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู แล้วส่งออกไปยังตลาดประเทศที่ 3 ในภูมิภาคที่มีความตกลงการค้าเสรีกับเปรูต่อไป ก็จะมีความเป็นไปได้สูงที่เปรูจะเป็นศูนย์กลางจัดจำหน่าย/กระจายสินค้าดังกล่าวเป็นการเฉพาะชนิดสินค้า ให้แก่ตลาดในภูมิภาค เนื่องจากเกิดความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (comparative advantage) ทางการค้า

10.1.9 เป็นที่คาดหมายว่าหากไม่มีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดใดๆ เปรูควรจะเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีพอสมควรซึ่งจะเป็นฐานรองรับการส่งออกของไทยได้อีกส่วนหนึ่งและเป็นฐานในการกระจายสินค้าไทยไปยังประเทศใกล้เคียงได้ตามสมควร เพราะปัจจุบันไทยยังมีส่วนแบ่งในตลาดสินค้านำเข้าเปรูอยู่ไม่มากนักจึงน่าจะมีทางขยายส่วนแบ่งตลาดเปรูให้มากขึ้นได้ รวมทั้งตลาดประเทศเพื่อนบ้านของเปรู ได้แก่ เอกวาดอร์ โคลัมเบีย บราซิล โบลีเวีย และชิลี ตามเขตแนวชายแดนของเปรู ซึ่งที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุนเปิดกิจการจำหน่ายสินค้าในเปรูเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะการเปิดธุรกิจจำหน่ายปลีกขนาดย่อมถึงขนาดกลาง จึงเห็นเป็นการเหมาะสมที่นักธุรกิจไทยจะได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดธุรกิจจัดจำหน่าย ผลิต หรือกระจายสินค้าในเปรู ซึ่งประเด็นการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในเปรู สำนักงานฯเห็นว่าควรเป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นผู้มาลงทุนดำเนินการเพื่อให้การบริหารจัดการสามารถใช้กลยุทธ์ในเชิงธุรกิจเอกชน โดยควรมีการศึกษาวิจัยตลาดคู่แข่งขันอย่างละเอียดแล้วเลือกลงทุนเฉพาะโครงการที่จะประสบผลกำไรในระยะสั้นและระยะปานกลาง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเจาะ ขยายตลาด จัดหาปัจจัยการผลิต ตั้งโรงงานผลิตสินค้า และประกอบธุรกิจศูนย์กระจายสินค้า ในตลาดดังกล่าว ควรพิจารณาธุรกิจหรือสินค้าที่มีศักยภาพในตลาด ได้แก่ สินค้าในสาขายานพาหนะและชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าในสาขาเหมืองแร่ เกษตรกรรม การแปรรูปสินค้าทางการประมง และสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น การผลิตของที่ระลึกแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

10.2 จุดอ่อน ได้แก่ ทำเลดังกล่าวยังมิใช่ศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญที่สุดของเปรูกล่าวคือ

10.2.1 การขนส่งสินค้าทางเรือและทางอากาศส่วนใหญ่ต้องขนส่งผ่านที่เรือและท่าอากาศยานหลักของประเทศ กล่าวคือ ท่าเรือ ในเปรูมีจำนวน 30 ท่า ตลอดแนวชายฝั่งของประเทศ (ไม่รวมท่าเรือตามแม่น้ำที่เมือง Iquitos และในเขตลุ่มน้ำอเมซอน) ทั้งนี้ ท่าเรือสำคัญของเปรูตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่เชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศและภายในภูมิภาค (กับประเทศต่างๆ ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก เช่น ปานามา เอกวาดอร์ โคลอมเบีย ชิลี อาร์เจนตินา บราซิล) ได้แก่ Callao, San Martin, Matarani, Chimbote, Ilo, Paita, Talara ทั้งนี้ ท่าเรือ Callao หรือ Terminal Portuario del Callao (TPC) เป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดของเปรู ซึ่งตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่ในประเทศไปสู่ตลาดโลก เนื่องจากเรือเดินสมุทรขนส่งสินค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะเทียบท่านี้ ร้อยละ 75 ของสินค้าออกและสินค้าเข้าของเปรูทำการขนส่งขึ้นลงเรือ ณ ท่าเรือแห่งนี้ ท่าเรือแห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงลิมา 20 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่แถบนี้ประมาณ 8 ล้านคน โดยการให้บริการของท่าเรือแห่งนี้จะครอบคลุมพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปถึงกว่า 600 กิโลเมตร ครอบคลุมไปถึงเมือง Ica ทางตอนเหนือและเมือง Ancash ทางตอนใต้ เพื่อขนส่งสินค้าจากเรือกสวนไร่นาขนาดใหญ่ เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกต่างๆ โดยมีถนนและทางรถไฟเชื่อมต่อกันเป็นอย่างดี

10.2.2 ส่วนท่าอากาศยานที่สำคัญนั้น เปรูมีท่าอากาศยานหลักคือท่าอากาศยาน Jorge Chavez International Airport Corpac (Corporacion Peruana de Aeropuertos y Aviacion Comercial), Aeropuerto Internacional Jorge Chavez, Avenida Faucett s/n, Callao ตั้งอยู่ที่เมือง Callao อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของกรุงลิมา 16 กิโลเมตร ซึ่งร้อยละ 98 ของเที่ยวบินนานาชาติที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคและทั่วโลก ขึ้นลงที่ท่าอากาศยานแห่งนี้ และมีท่าอากาศยานในส่วนภูมิภาคเพื่อให้บริการเที่ยวบินสู่พื้นที่ๆอยู่ห่างไกลและไม่สามารถเดินทางไปถึงได้โดยง่ายด้วยการคมนาคมทางอื่น ที่เมือง Cuzco, Tacna, Arequipa, Iquitos, Ayacucho, Chiclao, Piura and Trujillo เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีสายการบินท้องถิ่นขนาดเล็กให้บริการเที่ยวบินระหว่างหัวเมืองต่างๆในประเทศ

10.3 โดยสรุป แนวความคิดในการที่ไทยจะพิจารณาจัดตั้ง Distribution Center ที่เมือง Paita เป็นแนวความคิดที่ดี หากฝ่ายไทยสนใจจะประกอบธุรกรรม Internationalization ในเปรู เพื่อผลิต ประกอบ และกระจายสินค้าในภูมิภาคต่อไป ทั้งในรูปการลงทุนจากฝ่ายไทย หรือการร่วมทุนกับฝ่ายเปรู แต่โดยเหตุที่ลักษณะของธุรกรรมส่วนใหญ่ที่มีความเหมาะสมที่จะจัดดำเนินการในเขตนิคมดังกล่าว เป็นธุรกรรมที่มีลักษณะต้องมีการบริหารจัดการแบบภาคเอกชน คือต้องดำเนินการภายใต้กลไกของตลาด โดยคำนึงถึงกำไร-ขาดทุนของภาคเอกชนเป็นหลัก ภาครัฐจึงควรอยู่ในฐานะให้การสนับสนุนให้มีการจัดดำเนินการโดยธุรกิจภาคเอกชน เช่น ที่ได้จัดดำเนินการอยู่ในตลาดสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่หากภาครัฐต้องการดำเนินการเอง ก็สมควรจัดตั้งเป็นบรรษัทหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อดำเนินกิจการในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงซานติอาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ