ตลาดรถยนต์นั่งบุคคล (HS 8703) และรถยนต์บรรทุก (HS 8704) ในชิลี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 15:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1.1 การนำเข้าจากโลก
1.1.1 รถยนต์นั่งบุคคล (HS 8703)

ปริมาณการนำเข้า

ในปี 2007 2008 และ 2009 ชิลีนำเข้าจากทั่วโลกเป็นปริมาณ 173,452 คัน 200,769 คัน และ 114,430 คัน ตามลำดับ การนำเข้าในปี 2009 ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ -43

มูลค่าการนำเข้า

ในปี 2007 2008 และ 2009 ชิลีนำเข้าจากทั่วโลกเป็นมูลค่า 1,735 ล้านเหรียญสหรัฐ 2,169 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 1,211 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ การนำเข้าในปี 2009 ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ -44.17 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2010 ชิลีนำเข้าจากทั่วโลกเป็นมูลค่า 397 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 218.82

1.1.2 รถยนต์บรรทุก (HS 8704)

ปริมาณการนำเข้า

ในปี 2007 2008 และ 2009 ชิลีนำเข้าจากทั่วโลกเป็นปริมาณ 79,762 คัน 77,761 คัน และ 33,056 คัน ตามลำดับ การนำเข้าในปี 2009 ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ -57.49

มูลค่าการนำเข้า

ในปี 2007 2008 และ 2009 ชิลีนำเข้าจากทั่วโลกเป็นมูลค่า 1,417 ล้านเหรียญสหรัฐ 1,687 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 922 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ การนำเข้าในปี 2009 ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ -45.31 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2010 ชิลีนำเข้าจากทั่วโลกเป็นมูลค่า 210 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.43

1.2 การนำเข้าจากไทย

1.1.1 รถยนต์นั่งบุคคล (HS 8703)

ปริมาณการนำเข้า ชิลีเริ่มนำเข้าจากไทยในปี 2008 (ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยนำเข้า) ในปี 2008 และ 2009 ชิลีนำเข้าจากไทยเป็นปริมาณ 753 คัน และ 68 คัน ตามลำดับ การนำเข้าในปี 2009 ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ -90.97

มูลค่าการนำเข้า

ในปี 2008 และ 2009 ชิลีนำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 12.961 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 1.191 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ การนำเข้าในปี 2009 ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ -90.81 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2010 ชิลีนำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 1.226 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 872.06

1.1.2 รถยนต์บรรทุก (HS 8704)

ปริมาณการนำเข้า

ในปี 2007 2008 และ 2009 ชิลีนำเข้าจากทั่วโลกเป็นปริมาณ 17,132 คัน 15,349 คัน และ 4,109 คัน ตามลำดับ การนำเข้าในปี 2009 ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ -73.23

มูลค่าการนำเข้า

ในปี 2007 2008 และ 2009 ชิลีนำเข้าจากทั่วโลกเป็นมูลค่า 181 ล้านเหรียญสหรัฐ 225 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 76 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ การนำเข้าในปี 2009 ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ -66.19 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2010 ชิลีนำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ -29.19

1.3 การนำเข้ารถยนต์ของชิลีในปี 2009 ลดลงมาก เนื่องจากในปี 2007 และ 2008 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามาก ทำให้มีสินค้าคงเหลืออยู่ในสต๊อคมาก ในขณะที่ในปี 2009 ชิลีได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้ยอดจำหน่ายในปี 2009 หดตัวมาก ผู้นำเข้าจึงต้องหยุดการนำเข้าเพื่อระบายสินค้าในสต๊อค จนกระทั่งถึงช่วงปลายปี 2009 จึงเริ่มวางใบสั่งซื้อรถยนต์งวดใหม่เมื่อสต๊อคเริ่มงวดลง โดยสินค้างวดใหม่เริ่มทะยอยไปถึงตลาดในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2009 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

2. ความสำคัญของสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนต่อการส่งออกของไทยไปตลาดนี้

ในปี 2007 2008 และ 2009 ไทยส่งออกสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน (HS 87) ไปจำหน่ายยังตลาดชิลี คิดเป็นมูลค่า 132 ล้านเหรียญสหรัฐ 185 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยไปยังตลาดดังกล่าว การส่งออกในปี 2009 ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ -78.19

ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2010 ไทยส่งออกสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน (HS 87) ไปจำหน่ายยังตลาดชิลี คิดเป็นมูลค่า 83 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว สินค้าดังกล่าวยังคงเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยไปยังตลาดดังกล่าว การส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2010 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าร้อยละ 1,230.84 สินค้ารายการที่สำคัญ ได้แก่ รถกระบะ (ส่วนใหญ่มีขนาดบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน) 51.909 ล้านเหรียญสหรัฐ และรถยนต์นั่งบุคคล 30.734 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. ยอดจำหน่ายรถยนต์ในชิลี

ในปี 2009 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในชิลีมีจำนวน 172,044 คัน และในช่วงเดือนมกราคม ปี 2010 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในชิลีมีจำนวน 19,658 คันรายละเอียดยอดจำหน่ายรถยนต์ตามเอกสารที่แนบ ราคาจำหน่ายปลีกในปี 2009 มีตั้งแต่ประมาณ 7.5 — 30 ล้านเปโซ (ประมาณ 500,000 - 2,000,000 บาท)

4. คู่แข่งขันในตลาดสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนในชิลี

ประกอบด้วยคู่แข่งขันจากทั่วโลก อาทิ ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น สหรัฐ เอเชีย รวมทั้งประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาเอง อาทิ บราซิล อาร์เจนตินา และเม็กซิโก ซึ่งเฉพาะบราซิลนั้น ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในภูมิภาคละตินอเมริกา ซึ่งในปี 2007 มียอดการผลิตยานยนต์ถึง 2,970,818 คัน มียอดขายชิ้นส่วนยานยนต์ถึง 70,000 ล้านเฮอัล และมียอดการส่งออก 9,131 ล้านเหรียญสหรัฐ เอฟโอบี ซึ่งร้อยละ 36 ส่งออกไปตลาดละตินอเมริกาด้วยกัน และถือเป็นคู่แข่งขันของไทยในตลาดอื่นๆทั่วโลกด้วย

ทั้งนี้ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกรายสำคัญแข่งขันกับไทยในตลาดชิลีจำแนกตามกลุ่มสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว มีดังนี้

3.1 รถยนต์นั่งบุคคล พิกัด 8703

คู่แข่งสำคัญได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เยอรมนี ฝรั่งเศส จีน อินเดีย บราซิล เบลเยี่ยม สหราชอาณาจักร แคนาดา อาร์เจนตินา และสเปน ไทยอยู่อันดับที่ 16 ปัจจุบันอินเดียกำลังมาแรงในตลาดนี้

3.2 รถกระบะบรรทุกของพิกัด 8704

คู่แข่งสำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บราซิล เกาหลีใต้ เยอรมนี ฝรั่งเศส จีน อาร์เจนตินา และเม็กซิโก ไทยอยู่ลำดับที่ 4

5. ข้ออุปสรรคทางการค้า

จะกล่าวถึงเฉพาะที่สำคัญ คือ

5.1 ระยะทางขนส่งไกล ค่าขนส่งสูง

เนื่องจากตลาดอยู่ห่างไกลจากประเทศไทยมาก ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูง ขอยกตัวอย่างกรณีชิ้นส่วนยานยนต์จะเสียค่าขนส่งไปตลาดชิลีตู้คอนเทนเนอร์ละประมาณ 5,500 เหรียญสหรัฐ และการขนส่งสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ทางเรือต้องใช้เวลาถึงประมาณ 3 เดือน ปัญหานี้ในทรรศนะของผู้นำเข้าชิลี ส่วนใหญ่เห็นว่าสำคัญที่สุด

5.2 ข้อเสียเปรียบของไทยต่อประเทศที่อยู่ในกลุ่มการค้า (Trade Block) ของชิลี ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

เนื่องจากกลุ่มประเทศในละตินอเมริกาหลายประเทศ มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มการค้าหลายกลุ่ม ในรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่ม MERCOSER, Andean Community, ALADI รวมทั้งมีการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคีต่างๆ ไทยอยู่นอกกลุ่มเหล่านี้จึงเสียเปรียบทางการแข่งขันกับประเทศที่อยู่ในกลุ่มในเรื่องภาษีนำเข้า และสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ประเทศในกลุ่มให้แก่กันและกันภายในกลุ่ม โดยประเทศที่อยู่นอกกลุ่มการค้าจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านั้น ปัญหานี้ในทรรศนะของผู้ส่งออก-นำเข้ายานยนต์สำเร็จรูปถือว่าเป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะทำให้ศักยภาพทางการแข่งขันลดลงไปมาก ตัวอย่างกรณีประเทศเม็กซิโกได้ทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆประมาณ 40 ประเทศ และอยู่ในเขตการค้าเสรี NAFTA กรณีประเทศชิลี มีความตกลงการค้าเสรีทั้งกรอบพหุภาคี กรอบภูมิภาค กรอบทวิภาคี และเขตการค้าเสรี กับประเทศและกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจต่างๆจำนวนกว่า 20 ข้อตกลง กับประเทศต่างๆที่เป็น country partner ประมาณ 60 ประเทศ อาทิ NAFTA, MERCOSER, อิตาลี นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และตุรกี ทุกประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ กลาง และใต้ ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา เม็กซิโก กลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR ซึ่งชิลีมีฐานะเป็น associate member) และประเทศอื่นๆในภูมิภาคละตินอเมริกา และ EFTA ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ทำให้เกิด Trade Bloc เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าต่อประเทศที่อยู่ภายนอก Trade Bloc ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้าลงไปเนื่องจากข้อกำกัดทางการค้าและกำแพงภาษีของ Trade Bloc นั้นๆ

5.3 ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจกรีซซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปตามมา

กำลังจะเป็นปัญหาใหม่ที่น่าเป็นห่วง

6. กฎระเบียบการนำเข้า
  • อัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 6 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 (ของราคาซีไอเอฟบวกภาษีนำเข้า) ชิลีมีเขตปลอดภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ 2 แห่ง คือ ที่เมือง Iquique และเมือง Punta Arenas แต่การนำเข้า Iquique’s Duty Free Zone เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3.3 ของมูลค่าซีไอเอฟ
  • ที่ผ่านมาตามปกติรถยนต์ขนาดเล็กต่ำกว่าขนาดบรรทุก 2,000 กิโลกรัม จะต้องเสียภาษี Luxury Tax ซึ่งในปี 2006 เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 21.25 แต่ในปี 2007 ชิลีประกาศเรียกเก็บภาษีดังกล่าวในอัตราร้อยละ 0
  • ชิลีไม่อนุญาตให้นำเข้ารถยนต์ใช้แล้ว ยกเว้นการนำเข้า Iquique’s Free Trade Zone เพื่อส่งออกต่อไป (reexport) ยังประเทศที่สาม
  • ชิลีอนุญาตให้ต่างประเทศเข้าไปลงทุนประกอบรถยนต์ในประเทศได้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องใช้ local content อย่างน้อยร้อยละ 13 สำหรับ Completely Knocked-down Unit (CKD) และร้อยละ 3 สำหรับ Semi-knocked Down Unit (SKD)
  • อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในชิลีจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนประกอบหากนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์หรือรถยนต์สำเร็จรูปในประเทศแล้วส่งออกตามคุณลักษณะและมูลค่าที่กำหนด โดยกรณีชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จะต้องมีสัดส่วน local contents อย่างน้อยร้อยละ 50 และกรณีรถยนต์จะต้องมีสัดส่วน local contents อย่างน้อยร้อยละ 70
  • ชิลีมีข้อบังคับสำหรับรถยนต์ที่ใช้ในเขตมหานคร (metropolitan area restriction) ว่าจะต้องได้มาตรฐานต่างๆ อาทิ TIER1 Federal/ EURO III สำหรับรถยนต์เครื่องเบนซินขนาดบรรทุกต่ำกว่า 2,700 กิโลกรัม TIER California 1/ EURO IV สำหรับรถยนต์เครื่องดีเซลขนาดบรรทุกต่ำกว่า 2,500 กิโลกรัม EPA 91 สำหรับรถยนต์ขนาดบรรทุก 2,700-3,860 กิโลกรัม EPA 98/EURO III สำหรับรถบัส และ EPA 94/ EURO II สำหรับรถบรรทุก
  • ปัจจุบัน ชิลียังให้การสนับสนุนการใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานชีวภาพ ได้แก่ ethanol และ Bio-Diesel โดยให้สิ่งจูงใจต่างๆ อาทิสิ่งจูงใจทางภาษี
7. ข้อแนะนำในการเจาะขยายตลาด
แผนกลยุทธ์การเจาะขยายตลาด และแผนการจัดจำหน่าย / กระจายสินค้าสำหรับสินค้ารถยนต์ตามพิกัดทั้งสองดังกล่าว จะดำเนินการโดยบริษัทแม่ในต่างประเทศ แต่ในส่วนของชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ สำนักงานฯ อาจให้ข้อแนะนำเบื้องต้น ดังนี้

7.1 ตลาดละตินอเมริกาเป็นตลาดขนาดใหญ่ และยังพอมีกำลังซื้อสูงและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร ประชากรมีความกล้าจับจ่ายใช้สอย แต่ยังนำเข้าจากไทยไม่มากเนื่องจากบางประเทศในภูมิภาคผลิตได้เองและนำเข้าจากแหล่งอื่นๆที่เป็นตลาดดั้งเดิมในอดีต การนำเข้าจากไทยจึงยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก ผู้ส่งออกที่สนใจตลาดละตินอเมริกาส่วนใดอย่างจริงจัง ควรเดินทางไปศึกษาลู่ทางการค้า การลงทุน ธรรมเนียมปฏิบัติในการประกอบธุรกิจ และวัฒนธรรม/พฤติกรรมผู้บริโภคในท้องถิ่นตลาดที่สนใจ ด้วยตนเอง เพื่อพิจารณาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าของตนเอง หรือร่วมดำเนินกิจการร่วมทุนกันต่อไป การจัดจำหน่ายผ่านบริษัทนำเข้าหรือผู้ร่วมทุนในท้องถิ่นที่เข้มแข็งที่สามารถบริหารจัดการภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง และมีช่องทางการจำหน่ายที่เข้มแข็ง โดยมีสาขาอยู่โดยทั่วไป และบางครั้งมีสาขาอยู่ในประเทศใกล้เคียงที่อยู่ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันด้วย หมายถึงการเจาะตลาดในประเทศที่บริษัทผู้นำเข้าเหล่านั้นมีสาขาอยู่ด้วย เป็นการเจาะตลาดเดียวได้ผล 2-3 ประเทศหรือกว่านั้น มักจะเป็นอุบายที่ดี การศึกษาทิศทางกลยุทธ์การผลิตการตลาดของบริษัทแม่ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ค่ายใหญ่ๆของโลก ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิตการส่งออกของผู้ส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ของไทยด้วยเช่นกัน เพราะสินค้ายานยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ดังกล่าวจะต้องไปด้วยกัน ตัวอย่างเช่น การที่ตลาดแถบอเมริกากลางและแถบตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ อาทิ เอกวาดอร์ เปรู โคลอมเบีย กัวเตลาลา นิการากัว และเอลซัลวาดอร์ มีการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปจากไทยมาก โดยเฉพาะรถกระบะบรรทุกขนาดเล็กที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอะไหล่ทดแทนมาก ก็น่าจะพยากรณ์ได้ว่าในอนาคตน่าจะตัวฉุดให้มีการนำเข้าชิ้นอะไหล่จากไทยมากขึ้นได้ เพื่อใช้ในการซ่อมบำรุงตัวอย่างตลาดชิลี ในปัจจุบันนำเข้าสินค้ารถกระบะที่ประกอบในประเทศไทยยี่ห้อ ฟอร์ด มิตซูบิชิ และนิสสัน ดังนั้นจึงมีความต้องการอะไหล่ทดแทนสำหรับรถยี่ห้อและรุ่นที่นำเข้า

7.2 ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยต้องตระหนักว่าในปัจจุบันผู้บริโภคละตินอเมริกาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในตลาดบราซิล และชิลี ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมากกว่าราคา ตัวอย่างตลาดชิลี มีกฎระเบียบควบคุมสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาพที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมาก

7.3 กลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาดส่วนบนของละตินอเมริกาที่ดีที่สุดคือ การกำหนดวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ของตนในตลาดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะโดดเด่นและเป็นประโยชน์ (unique and beneficial) เพื่อดึงดูดให้ผู้นำเข้าสำคัญและผู้ค้าปลีกหลักในท้องถิ่นซื้อและแนะนำสินค้าดังกล่าวสู่ตลาดโดยตรงต่อไป ยกตัวอย่างในชิลีผลิตภัณฑ์ของ CARRYBOY ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายสินค้า vehicle’s accessories ต่างๆ เช่น Pickup Double Cap (Fiberglass Canopy), Front Nudge Guard, Aluminium Side Step, Hardtop etc. ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นและเป็นประโยชน์ ผ่านตัวแทนจำหน่ายรายสำคัญคือ E.KOVACS S.A. ซึ่งมีสาขาอยู่หลายแห่งในประเทศชิลี รวมทั้งสามารถ supply สินค้าไปยังบริษัทอื่นๆที่เป็นช่องทางจำหน่ายของตนเองและตลาดประเทศใกล้เคียงได้ด้วย ในปัจจุบัน E.KOVACS S.A. เป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ของ Carryboy รายใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ และนอกจากนี้บริษัทยังกำลังมองหาลู่ทางการนำเข้าอะไหล่รถยนต์ประเภท replacement parts สำหรับรถ Chevrolet และรถ Opel (อะไหล่ที่เป็น genuine parts นำเข้าจาก General Motor โดยตรง) และ truck spare parts ของรถ Isuzu จากประเทศไทย และกำลังพิจารณานำเข้าจักรยานยนต์จากประเทศจีน

7.4 ปัจจุบันผู้บริโภคในนครใหญ่ๆในละตินอเมริกาหันเหความสนใจจากการภักดีต่อตราสินค้าไปสู่การให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากขึ้น ผู้ส่งออกไทยจึงควรที่จะตรวจสอบแนวโน้มผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย แล้วพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้สามารถตอบสนองความต้องการและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในตลาดนั้นๆ ในบางประเทศมีความเข้มงวดกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมาก อาทิ ชิลี ทำให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนรถยนต์บ่อยเพื่อใช้รถที่มีสภาพใหม่ๆที่ผ่านการตรวจสภาพได้โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับแต่งสภาพรถยนต์ให้ผ่านการทดสอบมากนัก

7.5 การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ยังใช้ได้ดีสำหรับสินค้าอุปกรณ์ยานยนต์ หากเห็นว่าสินค้าของเราดีเด่นจริง เพราะจะได้ผลคุ้มค่า งานแสดงสินค้าหลักที่ผู้นำเข้าละตินอเมริกาสนใจไปเยือนได้แก่ งานแสดงสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน Automechanica ที่มหานครแฟรงค์เฟริต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และที่นครลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ส่วนงานในตลาดท้องถิ่นยังมีขนาดเล็ก แต่บางงานก็ยังพอดึงดูดความสนใจนักธุรกิจผู้นำเข้าได้บ้างและก็ยังคุ้มค่าที่จะเข้าร่วมแสดงสินค้าในงานหากต้องการที่จะเจาะตลาดท้องถิ่นจริงๆ ได้แก่ งานแสดงสินค้า Automechanica ที่กรุงบวยโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และที่มหานครเซาเปาโล ประเทศบราซิล เป็นต้น

7.6 ในระดับมหภาค มีประเด็นที่สมควรกล่าวถึงโดยสังเขป ได้แก่

7.6.1 ประเด็นที่ฝ่ายไทยควรหยิบยกขึ้นเจรจากับประเทศคู่ค้าในละตินอเมริกา รวมทั้งชิลี คือ การจัดทำความตกลงการค้าเสรีกรอบทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าในละตินอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้สามารถเจาะขยายตลาดสินค้าไทยได้ง่ายขึ้น และหวังผลในการใช้ประเทศคู่เจรจาเป็นฐานเข้าสู่ตลาดละตินอเมริกาด้วย ไทยจึงควรเตรียมกำหนดท่าทีต่อการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศเหล่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันสินค้าไทยในตลาดนี้ถูกตัดทอนความสามารถทางการแข่งขันลงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าจากประเทศที่ทำ FTA กับประเทศเหล่านี้ จึงควรจะพิจารณาสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศเหล่านี้ต่อไป และหากผลการศึกษาพบว่าการจัดทำความตกลงการค้าเสรีจะเป็นประโยชน์กับไทย ก็ควรเร่งดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ต่อไป

7.6.2 การปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยเพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดโลกที่มีโรงงานผลิตในประเทศไทยขยายฐานการผลิตออกไปอีก ก็เป็นปัจจัยที่มีพลังยิ่งในการขยายการส่งออกของไทยไปสู่ตลาดโลก รวมทั้งตลาดละตินอเมริกาด้วย

หมายเหตุ ข้อมูลที่เป็นสถิติการค้าใช้ของ World Trade Atlas เพื่อให้มาจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซานติอาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ