ผลของวิกฤติเศรษฐกิจกรีกต่อเศรษฐกิจฮังการี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 15:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามที่ทราบกันว่ารัฐมนตรีคลังของ EU กำหนด package ในการรักษาเสถียรภาพเงิน Euro เป็นจำนวน 500 พันล้านยูโร ทั้งนี้เพื่อไม่ให้วิกฤติการเงินในกรีกมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม EU โดยที่ประเทศสมาชิกจะต้อง

  • เข้มงวดในงบประมาณ
  • ลดช่องว่างของความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศลง
  • ใช้วิธีการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
  • กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมือง

ประเทศฮังการีและกรีกประสบกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือปัญหาหนี้สาธารณะ และค่าดัชนีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่ำ ฮังการีได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดและ “เจ็บปวด” มาตั้งแต่ปลายปี 2551 ในขณะที่กรีก แก้ไขปัญหาทีละเล็กทีละน้อยในอันที่จะรักษาเสถียรภาพทางการเงินโดยคงระดับการให้บริการสาธารณะไว้ในระดับสูงขณะที่ต้องกู้ยืมมาจากต่างประเทศ ธนาคารใหญ่และ IMF แนะนำให้กรีกศึกษาและทำตามมาตรการของฮังการีที่มีผลให้งบประมาณขาดดุลลดลงร้อยละ 3 ต่อปีเมื่อเทียบกับ GDP

ผลของวิกฤติเศรษฐกิจกรีกจะกระทบต่อประเทศยุโรปตะวันออกที่เพิ่งจะเข้าเป็นสมาชิกอียูในการนำเงินยูโรมาใช้จะต้องล่าช้าออกไปอีก เพราะว่า ECB (European Central Bank) และ EU Commission จะเข้มงวดและมีมาตรการที่รัดกุมกว่าเดิมในการให้ใช้เงินยูโร

ประเทศบัลแกเรีย โรมาเนียและฮังการี เป็นประเทศที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินกรีก รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จึงต้องทำงานหนักเพื่อลดปัญหางบประมาณขาดดุล

ทางฝ่ายรัฐบาลใหม่ของฮังการี ยังต้องการเจรจากู้เงินจาก IMF และ EU ซึ่งทั้ง IMF และ EU ก็คงจะต้องเข้มงวดกวดขันไม่ให้มีการขาดดุลงบประมาณไปมากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ในปี 2553 (3.8%) และอาจจะขอให้รัฐบาลใหม่เลื่อนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปอีก ผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น

  • เพิ่มยอดการใช้คืนเงินกู้ที่กู้มาเป็นเงินตราต่างประเทศ
  • ราคาน้ำมันสูงขึ้น
  • อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น (5.7% ในเดือนเมษายน ซึ่งสูงที่สุดในอียู)
  • อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น
  • ค่าของเงินโฟรินท์ลดลงเมื่อเทียบกับเงินยูโร จะอยู่ระหว่าง 275-280 โฟรินท์ และเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 225-230 โฟรินท์
  • การที่ค่าเงินโฟรินท์ลดลง อาจช่วยให้การส่งออกของฮังการีดีขึ้น แต่ตลาดส่งออกที่สำคัญของฮังการี(เช่น เยอรมนี) ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้เช่นกัน
ผลกระทบกับการส่งออกของไทย

ไทยส่งออกสินค้าไปยังฮังการีมูลค่า 391.1 และ391.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ แต่ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังฮังการีลดลงจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 21.56 ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลกและรัฐบาลฮังการีได้นำมาตรการที่เข้มงาดมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา สำหรับการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2553 มีมูลค่า 121.2 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 21

สินค้าที่สำคัญที่มีการส่งออกเป็นมูลค่าสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ก๊อก วาวล์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ซึ่งสินค้าที่ฮังการีนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากฮังการีมีโรงงานอุตสาหกรรมจากต่างชาติที่ไปลงทุนทำการผลิตสินค้าส่งไปจำหน่ายยังประเทศใกล้เคียง หากนำแข้าสินค้าอุปโภค บริโภคจากประเทศไทยจะมีราคาสูง ประกอบกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บถึงร้อยละ 25 ทำให้ผู้บริโภคต้องพยายามเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูก

สำหรับวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ ยังไม่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของฮังการีรุนแรงเท่ากับปี 2552 ที่รัฐบาลฮังการีต้องกู้เงินจาก IMF และ อียู ตลอดจนมีมาตรการต่างๆ มาใช้ ทำให้ประชาชนต้องลดการใช้จ่ายลงมาก ซึ่งยังมีผลอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้น คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดฮังการีคงเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่ยอดการส่งออกรวมทั้งปีคงไม่ถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สคร. บูดาเปสต์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ