ตลาดขนมกรอบจากแป้งข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 17:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อาหารประจำชาติญี่ปุ่น นอกจากอาหารมื้อหลักประเภทข้าวปั้นหน้าปลาดิบ(ซูชิ) และเนื้อปลาดิบ(ซาเซมิ) เราอาจจะนึกรวมไปถึงของหวานประเภทโมจิใส้ต่างๆ แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ของว่างสำหรับขบเคี้ยวที่เรียกว่า Sembei, Arare หรือเรียกรวมๆ ว่า ขนมกรอบจากแป้งข้าว (Rice cracker) ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และอาหารว่างประจำบ้านที่เหมาะกับทุกวัย เป็นอาหารที่มีการพัฒนาไปตามยุคสมัย ทั้งการใส่ส่วนผสมเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ปรับปรุงรสชาดเพื่อให้เหมาะกับตลาดแต่ละกลุ่ม และการทำบรรจุภัณฑ์ให้ดูสวยงาม Sembei, Arare แบบญี่ปุ่นจึงเป็นขนมที่มีไว้ประจำบ้าน และเป็นสินค้าที่นิยมซื้อให้เป็นของขวัญของฝากแก่ญาติมิตร

ตลาดของว่างประเภทขนมหวาน(Confectionary) ในญี่ปุ่น มีมูลค่า 25,245 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551 ประกอบด้วย เค็กแบบญี่ปุ่นชนิดไม่อบ (17.1 % ของมูลค่า); เค็กสไตล์ยุโรปชนิดไม่อบ (15.1%); Chocolate (12.7%); General snack (11.6%); ขนมกรอบทำจากข้าว (Rice cracker -10.1%) ตลาดเฉพาะขนมกรอบจากข้าว มีมูลค่าขายปลีกปีละ 240 พันล้านเยน สินค้าที่จำหน่าย มีทั้งที่ผลิตภายในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศ ธุรกิจที่ครองตลาดเป็นผู้ค้ารายใหญ่ ได้แก่ Kameda Seika Co., Ltd. มีส่วนแบ่ง 30 % ของตลาด รองลงมา เช่น Sanko (16%), Iwatsuka ( 8%); Mochikichi (7%) ; Kusiyama (5 %)

Kameda Seika Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดครองส่วนแบ่งสูงสุด ให้ข้อมูลว่า ตลาดขนมปังกรอบ หรือ Sembei, Arare ขยายตัวเพิ่มทุกปี บริษัทมีโรงงานทั้งในญี่ปุ่น ไทย และจีน นอกจากนี้ ยังนำเข้าข้าวและแป้งข้าวผสมสำหรับเป็นวัตถุดิบการผลิต Sembei, Arare ที่โรงงาน 3 แห่งในญี่ปุ่น และนำเข้าขนมปังกรอบสำเร็จรูปจากไทยจำนวนมาก บริษัทกำลังวางแผนย้ายโรงงานจากจีนมายังไทยในอนาคต ผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ผลิตและนำเข้ามีหลายกลุ่ม เช่น Rice Crackers, Non Fried Snacks, Gift sets, Rice, Therapeutic Foods, Nursing Care Foods เป็นต้น นอกจากนี้ยังยกระดับสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างแบรนด์สำหรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ช่องการการขายที่มีบทบาทสูงที่สุดตามลำดับ ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต (68 % ของมูลค่าตลาด) รองลงมาได้แก่ ร้านประเภท Drug store และร้าน 100 เยน (14%) ห้างสรรพสินค้า (13%) และร้านขนม (5%) จึงกล่าวได้ว่า ขนมทำจากแป้งข้าวที่ดูว่ามีวิธีการผลิตไม่ซับซ้อน แต่กลับสามารถสร้างมูลค่าการตลาด และเจาะเข้าไปยังกลุ่มผู้ซื้อ แต่ละกลุ่มอย่างมีกลยุทธ์ ปัจจัยของความสำเร็จ คือ เรื่องคุณภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เหมาะกับตลาดเฉพาะกลุ่ม และการมีชนิดของสินค้าจำนวนมากให้ผู้ซื้อเลือกตามรสนิยม

ในปี 2552 ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารที่ทำจากแป้ง เช่น ประเภทขนมปัง เค็ก พาสต้า(HS: 1905) มูลค่า 302.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552 ชนิดที่นำเข้ามูลค่าสูงที่สุด คือ HS: 190590 ซึ่งได้แก่ ขนมปัง ขนมปังขนมปังกรอบ เซมเบ อราเร่ ชนิดต่างๆ มูลค่า 391.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น ร้อยละ 96.5 ในจำนวนนี้เป้นผลิตภัณฑ์ Sembei Arare มูลค่า 34.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แหล่งนำเข้า Aembei Arare ได้แก่ จีน ไทย ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งเป็นผลจากการออกไปตั้งโรงงานผลิตของบริษัทจากญี่ปุ่นเป็นหลัก

ญี่ปุ่นนำเข้าผลิตภัณฑ์ Sembei Arare จากไทยมูลค่า 8.948 ล้านเหรียญฯ ในปี 2552 มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 21 % รองจากจีน ซึ่งครองส่วนบางประมาณ 78%

แป้งข้าวและ ผลิตภัณฑ์ข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหว ที่ญี่ปุ่นไม่เจรจาเปิดตลาดหรือลดภาษีภายใต้ JTEPA สินค้าที่นำเข้าจากไทย ฝ่ายญี่ปุ่นระบุใน HS: 1905.90.311 (Sembei, Arare and similar rice products) เก็บภาษีอัตรา 34% แต่สินค้าชนิดเดียวกันเมื่อส่งออกจากไทย ฝ่ายไทยระบุพิกัด HS : 1905.1000 (Crisp bread) ซึ่งควรถูกเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 30 % แต่ญี่ปุ่นตีความหมายว่าต้องเข้าอยู่ในพิกัด HS: 1905.90.311 ทำให้ต้องเสียภาษีสูงขึ้น ดังนั้น ความแตกต่างของพิกัดที่แต่ละประเทศกำหนดจึงส่งผลต่อต้นทุนของผู้ค้า ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรและหน่วยงานที่ออกเอกสารรับรองเพื่อให้ระบุพิกัดที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

ตลาดผลิตภัณฑ์จากข้าวในญี่ปุ่นมีแน้วโน้มว่าจะขยายตัวยิ่งขึ้นทั้งในการเป็นขนมพื้นบ้านคู่กับวัฒนธรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่น และการใช้ผลิตภัณฑ์แป้งข้าวเพื่อผลิตเมนูใหม่ๆ จากข้าว เพราะข้าวมีจุดแข็งที่ย่อยง่ายและไม่ทำให้เกิดอาการแพ้เหมือนแป้งสาลี โอกาสที่บริษัทญี่ปุ่นจะออกไปลงทุนตั้งโรงงานในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มอำนาจแข่งขันก็มีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้กระแสความนิยมวัฒนธรรมและอาหารแบบญี่ปุ่นที่แพร่กระจายและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ก็เป็นการสร้างโอกาสของตลาดผลิตภัณฑ์จากข้าวให้สูงขึ้นด้วย การขยายตลาดในญี่ปุ่นผู้ผลิตควรสร้างจุดขายใหม่ เช่น รสชาดที่แตกต่าง การออกแบบขนมให้ดูน่าสนใจ การรักษาคุณภาพและบรรจุภัณฑ์สวยงาม การร่วมมือกับบริษัทนำเข้าก็เป็นอีกลู่ทางหนึ่งที่จะสามารถใช้เครือข่ายที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ