การขนส่งทางอากาศเป็นธุรกิจบริการที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งของเยอรมนี เนื่องจากเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป จึงมีความสำคัญในระดับหนึ่งในด้านสนามบินนานาชาติ รองจาก สหราชอาณาจักร (ลอนดอน) เนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม) และฝรั่งเศส (ปารีส) แต่การบินภายในประเทศไม่ได้รับความสนใจเท่าใด เนื่องจากประเทศมีขนาดเล็ก ระยะทางจากเหนือจรดใต้สุดของประเทศยาวประมาณ 886 กิโลเมตร จากตะวันออกจรดตะวันตกประมาณ 636 กิโลเมตร ประกอบกับมีการสร้างถนนหนทางที่ดี โดยเฉพาะเอาโต้บาห์นที่มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 12,500 กิโลเมตร การเดินทางและการขนส่งสินค้าภายในประเทศจึงมีการใช้รถบรรทุก รถไฟยาวประมาณ 41,000 กิโลเมตร และทางน้ำเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าปัจจุบันเยอรมนีจะมีสนามบินภายในประเทศราว 280 แห่งก็ตาม แต่เป็นสนามบินสำคัญๆ ที่มีผู้โดยสารขึ้นลงเครื่องบินมากเกินกว่า 150,000 คนเพียง 26 แห่ง ถึงกระนั้นในด้านส่วนแบ่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าจะมีส่วนแบ่งสูงถึงร้อยละ 99 ของปริมาณทั้งสิ้นในเยอรมนี
ตามรายงานของสำนักงานสิถิติแห่งชาติเยอรมนี ในปี 2552 ที่ผ่านมาจากสนามบินสำคัญๆ 26 แห่งในเยอรมนีมีจำนวนผู้โดยสารขึ้นลงเครื่องทั้งสิ้น 158.9 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนหน้านี้ 7.4 ล้านคนหรือร้อยละ 4.5 ในจำนวนนี้เป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 23.6 ล้านคนลดลงร้อยละ 4.6 และจากต่างประเทศ 134.4 ล้านคนลดลงร้อยละ 4.6 เช่นกัน ในจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง 7.4 ล้านคนนี้ เป็นผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศลดลง 1.1 ล้านคน และผู้โดยสารเดินทางไปต่างประเทศ 6.3 ล้านคน สำหรับสนามบินอื่นๆ ที่เหลือมีจำนวนผู้โดยสารรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 1.1 ล้านคน
การเดินทางโดยเครื่องบินระหว่างสนามบินภายในประเทศในปี 2552 มีอัตราลดลงร้อยละ 4.6 การเดินทางระหว่างสนามบินรวม 20 แห่งมีจำนวนการขึ้นลงของผู้โดยสารทั้งสิ้น 13.236 ล้านครั้ง โดยระหว่าง มิวนิค — เบอร์ลินมีการเดินทางมากสูงสุด (ไป 898,000 เที่ยว และกลับ 893,000 เที่ยว) การเดินทางที่ มีอัตราลดลงมากจะเป็นเส้นทางระหว่างชตุทการ์ทและเบอร์ลิน (เที่ยวไปลดลงร้อยละ 19.3 เที่ยวกลับลดลงร้อยละ 19.0) ระหว่าง แฟรงก์เฟริต — มิวนิค (เที่ยวไปลดลง 14.4 % เที่ยวกลับลดลง 12.6 %)
ในปี 2552 จำนวนผู้โดยสารที่ออกเดินทางจากเยอรมนีไปยังสนามบินต่างๆ ในต่างประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 67.2 ล้านคนลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 4.5 เฉพาะในยุโรปมีจำนวน 51.476 ล้านคน ลดลงร้อยละ 5.0 พิจารณาเฉพาะประเทศต่างๆ ในยุโรปที่มีการเดินทางไปมาของผู้โดยสารเกิน 1 ล้านคน จะมีสเปน 10.1 ล้านคนลดลง 6.9 % สหราชอาณาจักร 5.3 ล้านคนลดลง 4.1 % อิตาลี 5.0 ล้านคนลดลง 4.4 % ตุรกี 4.97 ล้านคน ลดลง 2.4 % ฝรั่งเศส 3.18 ล้านคน ลดลง 8.5 % ออสเตรีย 2.78 ล้านคน ลดลง 4.3 %สวิต 2.66 ล้านคนลดลง 3.4 % กรีซ 2.26 ล้านคน ลดลง 4.2 % รัสเซีย 1.43 ล้านคน ลดลง 6.5 % โปแลนด์ 1.35 ล้านคน ลดลง 3.0 % สำหรับการเดินทางข้ามทวีป จะมีสหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้โดยสาร 4.6 ล้านคน ลดลงร้อยละ 6.2 อียิปต์ 1.3 ล้านคน ลดลงร้อยละ 1.9 และจีน 1.1 ล้านคน ลดลงร้อยละ 2.0
พิจารณาด้านเที่ยวบิน สนามบินภายในประเทศของเยอรมนีที่สำคัญอันดับแรก คือ แฟรงก์เฟริตในปี 2552 มีการขึ้นลงของเครื่องบินรวม 455,700 ครั้ง ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 4.7 รองลงมาเป็นสนามบินมิวนิค รวม 379,600 ครั้ง ลดลงร้อยละ 8.0 ดึสเซิลดอร์ฟ รวม 379,600 ครั้ง ลดลงร้อยละ 8.0 เบอร์ลิน-เทเกิ้ล รวม 147,800 ครั้ง ลดลงร้อยละ 4.3 ฮัมบูร์กรวม 138,300 ครั้ง ลดลงร้อยละ 8.4 หากพิจารณาในด้านผู้โดยสาร สนามบินอันดับแรกยังคงเป็น แฟรงก์เฟริต ในปี 2552 มีจำนวนผู้โดยสารขึ้นและลงเครื่องรวม 50.573 ล้านครั้งลงลงร้อยละ 4.9 รองลงมาเป็นสนามบินมิวนิค รวม 32.561 ล้านครั้ง ลดลงร้อยละ 5.4 ดึสเซิลดอร์ฟ รวม 17,726 ล้านครั้ง ลดลงร้อยละ 2.1 เบอร์ลิน-เทเกิ้ล รวม 14.134 ล้านครั้งลดลงร้อยละ 2.2 ฮัมบูร์กรวม 12.179 ล้านครั้ง ลดลงร้อยละ 4.7 สำหรับด้านปริมาณของสินค้า สนามบินอันดับแรกยังคงเป็น แฟรงก์เฟริต ในปี 2552 มีการขนถ่ายสินค้าเป็นปริมาณทั้งสิ้น 1.803 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10.5 รองลงมาเป็นสนามโคโลญจน์/บอนน์ ปริมาณ 546,400 ตัน ลดลงร้อยละ 3.9 สนามบินไลพ์ซิก/ฮัลเลอ 508,800 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 สนามบินมิวนิค 221,200 ตัน ลดลงร้อยละ 10.5 สนามบินฮาห์น รวม 105,100 ตัน ลดลงร้อยละ 14.0
การขนส่งสินค้าทางอากาศของเยอรมนีในปี 2552 ที่ผ่านมา มีการบรรทุกสินค้าออกไปยังต่างประเทศจำนวน 1.602 ล้านตัน และมีการนำเข้ามาจำนวน 1.546 ล้านตัน มีอัตราขยายตัวลดลงร้อยละ 5.0 และ 7.1 ตามลำดับ กลุ่มประเทศที่ใช้การขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นปริมาณมากสูงสุดจะเป็นเอเชีย โดยมีปริมาณสินค้าที่นำเข้ามารวม 714,888 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 12.2 ที่สำคัญๆ ได้แก่ จีน มีการส่งออกไป 184,191 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 และนำเข้ามา 235,773 ตัน ลดลงร้อยละ 21.5 เอมิเรตส์ ส่งออกไป 118,178 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 และนำเข้ามา 147,284 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากไทยมีการส่งออกไป 15,818 ตันลดลงร้อยละ 21.9 และนำเข้ามา 21,464 ตัน ลดลงร้อยละ 17.0 ประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่สำคัญๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ส่งออกไป 266,297 ตัน ลดลงร้อยละ 13.8 และนำเข้ามาปริมาณ 242,301 ตัน ลดลงร้อยละ 12.8
1. เยอรมนีเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป แต่เป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก ระยะทางเหนือจรดใต้ยาวประมาณ 886 กิโลเมตร จากตะวันออกจรดตะวันตกยาวประมาณ 636 กิโลเมตร การเดินทางและการขนส่งทางอากาศภายในประเทศจะใช้ถนน (เอาโต้บาน) และทางรถไฟ เป็นสำคัญ
2. สนามบินสำคัญๆ จากจำนวนทั้งสิ้น 280 แห่งมีเพียง 26 แห่งที่มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่า 150,000 คน แต่ในด้านส่วนแบ่งผู้โดยสารและสินค้ามีส่วนแบ่งร้อยละ 99 ของปริมาณทั้งสิ้น ที่สำคัญๆ ได้แก่
2.1 แฟรงก์เฟริต/ไมน์ (อันดับ 1 ทั้งในด้านผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า)
2.2 มิวนิค (อันดับ 2 ในด้านผู้โดยสาร อันดับ 4 ในด้านการขนส่งสินค้า)
2.3 ดึสเซิลดอร์ฟ (อันดับ 3 ในด้านผู้โดยสาร อันดับ 6 ในด้านการขนส่งสินค้า)
2.4 เบอร์ลิน-เทเกิ้ล (อันดับ 4 ในด้านผู้โดยสาร อันดับ 11 ในด้านการขนส่งสินค้า)
2.5 ฮัมบูร์ก (อันดับ 5 ในด้านผู้โดยสาร อันดับ 7 ในด้านการขนส่งสินค้า)
2.6 โคโลญจน์/บอนน์ (อันดับ 6 ในด้านผู้โดยสาร อันดับ 2 ในด้านการขนส่งสินค้า)
2.7 ไลพ์ซิก (อันดับ 14 ในด้านผู้โดยสาร อันดับ 3 ในด้านการขนส่งสินค้า)
2.8 ฮาห์น (อันดับ 11 ในด้านผู้โดยสาร อันดับ 5 ในด้านการขนส่งสินค้า)
3. เส้นทางการบินภายในที่สำคัญๆ จะเป็นการเดินทางระหว่างนครมิวนิค กรุงเบอร์ลิน ฮัมบูร์ก แฟรงก์เฟริต โคโลญจน์/บอนน์ และดึสเซิลดอร์ฟ
4. จุดหมายปลายทางในต่างประเทศของผู้โดยสารที่ขึ้นเครื่อง ณ สนามบินสำคัญๆ ในเยอรมนีจะเป็นสเปนจำนวน 10.1 ล้านคน รองลงมาเป็นสหราชอาณาจักร 5.3 ล้านคน อิตาลี 5.0 ล้านคน ตุรกี 4.97 ล้านคน ฝรั่งเศส 3.18 ล้านคน ออสเตรีย 2.78 ล้านคน สวิต 2.66 ล้านคน
5. ในด้านการขนส่งสินค้า สนามบินอันดับแรก คือ แฟรงก์เฟริต ในปี 2552 มีการขึ้นถ่ายสินค้าเป็นปริมาณทั้งสิ้น 1.803 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10.5 รองลงมาเป็นสนามโคโลญจน์/บอนน์ ปริมาณ 546,400 ตัน ลดลงร้อยละ 3.9 สนามบินไลพ์ซิก/ฮัลเลอ 508,800 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 สนามบินมิวนิค 221,200 ตัน ลดลงร้อยละ 10.5 สนามบิน ฮาห์น รวม 105,100 ตัน ลดลงร้อยละ 14.0
6. ในปี 2552 สินค้าของไทยที่ขนส่งทางอากาศไปเยอรมนีมีจำนวน 21,464 ตัน และมีการส่งออกมายังประเทศไทยจำนวน 15,818 ตัน ลดลงร้อยละ 17.0 และ 21.9 ตามลำดับ สนามบินสำคัญที่ขนถ่ายสินค้าของไทยจะเป็นแฟรงก์เฟริต
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศฯ กรุงเบอร์ลิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th