METI เสนอ "Industrial Structure Vision 2010" เพื่อชี้ทางออกให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 18, 2010 14:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นสมัยนายยูกิโอะ ฮาโตยามาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ (New Growth Strategy) ที่เสนอโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economic Trade and Investment: METI) ของญี่ปุ่นเมื่อเดือนตุลาคม 2552 ล่าสุด METI ได้จัดทำวิสัยทัศน์โครงสร้างอุตสาหกรรม 2010 “Industrial Structure Vision 2010” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงอนาคตที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่ควรจะก้าวไปสู่ พร้อมทั้งกำหนดทิศทางของนโยบายที่จำเป็นต้องมีเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้น METI วิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นจริงและความท้าทายที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นกำลังประสพทางตัน ก้าวตามไม่ทันประเทศที่สำคัญๆ ของโลกและการเปลี่ยนแปลงของตลาด ผลจากการวิเคราะห์ระบุว่าหากญี่ปุ่นต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในเส้นทางของการเติบโตต่อไป ญี่ปุ่นควรริเริ่มความพยายามทั้งประเทศในการกระตุ้นอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นให้แข่งขันได้ในระดับโลก

รายงานฉบับนี้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลง 4 อย่างของรัฐบาลญี่ปุ่นและเอกชน ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรม (Shift in industrial Structure)
  • จากที่พึ่งพาอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างเดียว ไปเป็นการพึ่งพาหลายเสาหลักตาม 5 สาขายุทธศาสตร์(ปรากฎตามด้านล่างนี้)
  • จากการขายสินค้าคุณภาพสูงเฉพาะด้าน ไปเป็น “System sales” และ “Creative Value Added Models”
  • จากปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโต (การขาดทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน อัตราการเกิดลดต่ำลง การเข้าสู่สังคมชรา) ไปเป็นอุตสากรรมที่แก้ไขปัญหาด้านต่างๆ
2. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจโดยเอกชน (Business Model Shifts by Enterprises)
  • การเอาชนะด้วยเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจ ทำมาตรฐานให้เป็นสากล พร้อมกับวางยุทธศาสตร์ทางธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันในสากลได้
3. การเปลี่ยนมุมมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัฒน์กับการจ้างงานในประเทศ (Paradigm Shift in the perception of relations between globalization and domestic employment)
  • ย้ายจากตลาดที่โตแล้วอย่างญี่ปุ่นและประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศเกิดใหม่
  • ปรับระบบภายในประเทศให้แข่งขันได้ในตลาดโลก (การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลง จากอัตรา 40 เปอร์เซ็นต์ ให้มาอยู่ในระดับเดียวกับสากลที่ 25-30 เปอร์เซ็นต์)
  • ดึงดูด Value-added function จากต่างประเทศ
  • ส่งเสริม SME ไปตลาดต่างประเทศ
  • พัฒนาบุคลากรระดับสูงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจ้างต่างชาติที่มีฝีมือ
4. การเปลี่ยนแปลงบทบาทของภาครัฐ (Shift in government role)
  • สร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้ประโยชน์จากกลไกตลาด
  • การเพิ่มบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนการส่งออกโครงสร้างสาธารณูปโภคโดยผ่าน ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC) และ องค์กรรับประกันการส่งออกและการลงทุนแห่งประเทศญี่ปุ่น (Nippon Export and Investment Insurance : NEXI) รวมถึงการพลิกฟื้นการลงทุนและการให้กู้ยืมเงินที่ทำโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA)
  • การจัดตั้งศูนย์ประเมิณประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา
5. สาขายุทธศาสตร์ที่ระบุใน “Industrial Structure Vision 2010” ให้ญี่ปุ่นมุ่งเน้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจคือ

1) การส่งออกโครงสร้างสาธารณูปโภค เช่น พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานน้ำ และรถไฟ เป็นต้น

2) การส่งออกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

3) การบริการด้านการแพทย์ พยาบาล และการเลี้ยงดูเด็ก

4) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่น อาหาร การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม

5) เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ อวกาศ และเทคโนโลยีล้ำยุค

รายงานฉบับนี้ ประเมินว่าภาคการผลิตของญี่ปุ่นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 310 ล้านล้านเยน จากปี 2007-2020 โดยในจำนวนนี้ 5 สาขายุทธศาสตร์สำคัญจะสามารถผลิตมูลค่าได้ 149 ล้านล้านเยน และสามารถสร้างงานได้ 2.57 ล้านงาน

METI ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ Industrial Structure Vision 2010 เป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ ซึ่งมีกำหนดที่จะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ