หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีนายยูกิโอะ ฮาโตยามา ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากความกังวลว่าคะแนนความนิยมที่ตกต่ำลงอย่างมากในตัวนายฮาโตยามาจะส่งผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553 นายนาโอโตะ คัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ได้ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยมีรัฐมนตรีทั้งหมด 17 คน ในจำนวนนี้เป็นรัฐมนตรีเดิมจากรัฐบาลชุดก่อน รวม 11 คน และเป็นรัฐมนตรีใหม่ 5 คน รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ ที่ยังดำรงตำแหน่งต่อจากรัฐบาลชุดเดิม เช่น นายคัตสึยะ โอคาดดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายมาซายูกิ นาโอชิมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม และนายคิตาซาว่า รัฐมนตรีกลาโหม
รัฐมนตรีคนใหม่ที่สำคัญในรัฐบาลนี้ได้แก่ 1) นาย โยชิฮิโกะ โนดะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทนนายคัน นาโอโตะซึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี งานเร่งด่วนของนายโนดะ คือการวางแผนการลดหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นซึ่งสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของ GDP 2) นายโยชิโตะ เซนโกกุ อดีตรัฐมนตรีพิเศษประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีดูแลด้านการปฏิรูประบบราชการ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายเซนโกกุ เป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญกับจีนและประเทศในเอเชีย และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปตลาด และ 3) นายซาโตชิ อาราอิ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีพิเศษดูแลด้านนโยบายของประเทศ 4) นางเรนโฮะ ลูกครึ่งไต้หวัน-ญี่ปุ่น อดีตนางแบบและพิธีกรรายการทีวี ได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐมนตรีพิเศษประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีดูแลด้านการปฏิรูประบบราชการ นับเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองได้รับความนิยมจากการโจมตีเรื่องการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยของภาคราชการในปีที่แล้ว
ปัญหาที่ท้าทายรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัน คือ การกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและการโยกย้ายฐานทัพอเมริกันในโอกินาวะ ปัญหาเงินฝืดที่เกิดจากกำลังซื้อถดถอยและเศรษฐกิจซบเซา ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 200% ของ GDP สูงมากที่สุดในโลก และการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า ทำให้เป็นที่น่าจับตามองว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นจะเรียกความนิยมของรัฐบาลกลับมาได้อย่างไรอย่างไรก็ดี นายคัน นาโอโตะ น่าจะมีเข้าใจปัญหาความท้าทายด้านการเงินและการคลังที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ได้ดีกว่านายฮาโตยามา และให้ความสำคัญต่อการอ่อนตัวลงของค่าเงินเยนที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น
นายกรัฐมนตรี คัน ได้ประกาศตั้ง Policy Research Committee ของพรรคขึ้นมาอีกครั้งหลังจากข้อเสนอนี้ถูกคัดค้านจาก Mr. Ozawa อดีตเลขาธิการของพรรค ซึ่งลาออกจากตำแหน่งไปพร้อมๆ กับอดีตนายกฮาโตยามา โดยได้แต่งตั้ง Mr. Koichiro Gemba นักการเมืองรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านการคลังของสภาผู้แทน มาดำรงตำแหน่งนี้ เพื่อให้เป็นโยงความสัมพันธ์และช่วยทำให้การประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพรรคเป็นไปโดย ราบรื่น นายกรัฐมนตรี คัน ได้วางแนวนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1)การดำเนินนโยบายทางการเงิน ด้วยการเพิ่มอุปสงค์ผ่านโครงการของรัฐ เช่น การก่อสร้างถนนและเขื่อน ซึ่งเป็นนโยบายที่ อดีตพรรครัฐบาล Liberal Democratic Party of Japan (LDP) ใช้มาหลายทศวรรษ แนวทางที่ 2) การปฏิรูปโครงสร้างและกฎระเบียบ โดยการเพิ่มภาษีผู้บริโภค เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับจัดสรรให้กับบริการด้านสุขภาพ เช่นการแพทย์และการพยาบาล การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคเอกชน และเพื่อให้การใช้จ่ายของภาครัฐส่งผลอย่างกว้างขวางมากขึ้นต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศ นโยบายการปฏิรูปโครงสร้างนี้เป็นนโยบายเดียวกับที่อดีตนายกรัฐมนตรี Junichiro Koizumi ใช้ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้รัฐบาลมีขนาดเล็กลง ทางที่ 3) การส่งเสริมระบบ ประกันสังคม โดยใช้เงินรายได้จากภาษีที่สูงขึ้นเพื่อลดความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับอนาคตและทำให้บริโภคมากขึ้น กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยนายคัน กล่าวว่าตนเลือกที่จะใช้ทางที่ 3 เป็นหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ฟูมิโอะ โอตาเกะ ประจำมหาวิทยาลัยโอซากา กล่าวว่าทางเลือกที่ 3 ควรทำไปพร้อมกับทางเลือกที่ 2 เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันและมีแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนด้านการแพทย์และพยาบาล ซึ่งการเพิ่มภาษีผู้บริโภคจึงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลที่จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการเพิ่มภาษีผู้บริโภค
รัฐบาลชุดใหม่ คงเร่งประกาศนโยบายเศรษฐกิจ และโยบายการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเรียกคะแนนนิยมและการสนับสนุนจากสาธารณะ ซึ่งคาดว่านายกรัฐมนตรี คัน จะยังคงสานต่อสิ่งที่รัฐบาลฮาโตยามา ได้เริ่มไว้ โดยยังให้ความสำคัญต่อการผลักดันความร่วมมือไปสู่การเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก การเพิ่มบทบาทของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน การฟื้นฟูความสัมพันธ์และเจรจาเอฟทีเอ สามฝ่ายระหว่างญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ และการสร้างพันธมิตรธุรกิจใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดสินค้าและการลงทุนของ SME ของญี่ปุ่นในต่างประเทศเพื่อทดแทนตลาดภายในที่หดตัวลง
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th