ตลาดผลไม้ไทยในฉงชิ่งคึกคัก ภายใต้แนวคิด "บนโต๊ะอาหารทุกบ้าน จะมีผลไม้ไทย"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 21, 2010 14:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กรมส่งเสริมการส่งออก โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู ร่วมกับตลาดค้าส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า ตลาดค้าส่งผลไม้ซึ่งครอบคลุมปริมาณการค้าผลไม้ไทยร้อยละ 60 ในพื้นที่มหานครฉงชิ่ง จัดกิจกรรม "เทศกาลผลไม้ไทย 2010 " ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 255 3 ณ ตลาดค้าส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า โซนผลไม้นำเข้า เจาะกลุ่มพ่อค้าส่งกว่า 1,000 ราย ทั่วมหานครฉงชิ่งให้ซื้อผลไม้ไทยไปจำหน่ายมากขึ้น ภายใต้แนวคิด "บนโต๊ะอาหารทุกบ้าน จะมีผลไม้ไทย"

พิธีเปิด เชิญผู้บริหารเขตฯร่วมงาน

พิธีเปิดงานในวันที่ 28 พ.ค. 2553 มีแขกสำคัญของมหานครฉงชิ่งเข้าร่วมงาน เช่น รองผู้อำนวยการคณะกรรมการเศรษฐกิจการค้า รัฐบาลเขตยวีจง มหานครฉงชิ่ง นางซวี ชิงหง ผู้อำนวยการแผนกการตลาดสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้า เขยยวี จง นายโอว ยวี รองประธานสมาคมผู้ค้าผลไม้ฉงชิ่งนางหวัง จิ้ง เลขาธิการสมาคมการตลาดและการค้ามหานครฉงชิ่ง นาย จู จี๋ ฮวา ผู้จัดการใหญ่ตลาดฉงชิ่งไช่หยวนป้า นายหลิว หยวนจาง และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด

รองผู้อำนวยการคณะกรรมการเศรษฐกิจการค้า รัฐบาลเขตยวีจง นางซวี ชิงหง กล่าวว่า " ประเทศไทยได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งผลไม้ ผลไม้ไทยไม่เพียงแต่จะมีรสชาติหอมหวานอร่อย อุดมด้วยสารอาหาร ยังเหมาะกับกระแสการบริโภคของสังคมในปัจจุบันที่ต้องการความทันสมัย อร่อย และดีต่อสุขภาพ รัฐบาลเขยยวีจงสนับสนุนและขอแสดงความขอบคุณประเทศไทย ในการที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตูจับมือกับตลาดค้าส่งรายใหญ่ของมหานครฉงชิ่งจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง เพราะตลาดผู้ค้าส่งในตลาดขนาดใหญ่จะเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการสนับสนุนให้ผู้ค้าปลีกรายย่อย ซื้อผลไม้ไทยไปจำหน่าย และเข้าถึงผู้บริโภคในครัวเรือนชาวฉงชิ่งอย่างแท้จริง"

ผู้จัดการใหญ่ตลาดฉงชิ่งไช่หยวนป้า นายหลิว หยวนจาง กล่าวว่า "ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันที่แนบชิดกันมากขึ้นในปัจจุบัน ผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดมหานครฉงชิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันผลไม้ไทยเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดในประเภทผลไม้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ จากทั้ง อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และ กล้วยไข่ มังคุด ทุเรียน และลำไย เป็นผลไม้ไทยที่ชาวฉงชิ่งชื่นชอบมากที่สุด ตลาดค้าส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า เป็นตลาดค้าส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในมหานครฉงชิ่ง ดำเนินนโยบายการบริหารโดยยึดหลัก ความซื่อสัตย์ และบริการที่ดีเยี่ยม สนับสนุนแนวคิดการบริโภคเพื่อสุขภาพ อนามัย และมีคุณค่า ตลาดฯได้มองเห็นศักยภาพของผลไม้ไทย ประกอบกับกรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรีไทยจีนที่ได้เริ่มต้นและเส้นทางขนส่งทางบกใหม่ๆที่ขยายตัว เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาตลาดฯให้เป็นศูนย์กลางกระจายผลไม้อาเซียนในเขตจีนตะวันตก"

บรรยากาศภายในงานสื่อมวลชนสนใจผลไม้ไทย

บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีการจัดซุ้มประตูทางเข้า เวทีหลัก และมุมผลไม้ไทย และส่วนรูปแบบกิจกรรมเป็นการส่งเสริมการขายผลไม้ไทยซึ่งสคร.ได้ขอความร่วมมือให้ผู้กระจายสินค้าไทยรายสำคัญจำนวน 8 รายของตลาด ร่วมกิจกรรมโดยการลดราคาขายส่งผลไม้ไทยลงร้อยละ 10 สำหรับผลไม้ไทย ลำไย เงาะ ทุเรียน มังคุด ส้มโอ ส้ม ชมพู่ ในช่วงการจัดกิจกรรม เพื่อผลักดันให้ร้านค้าย่อยซื้อผลไม้ไทยไปจำหน่ายทั่วมหานครฉงชิ่ง ในช่วงการจัดกิจกรรมมีการจัดซุ้มผลไม้ให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถชิมลิ้มรสผลไม้ไทย เช่น กล้วยไข่ มังคุด ทุเรียน ลำไย ชมพู่ ฯลฯ มีการแสดงรำไทย และการระบำจีน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนชาวฉงชิ่ง นอกจากนี้การจัดงานในครั้งนี้ยังได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวกว่า 10 สำนักจากสถานีโทรทัศน์ฉงชิ่ง สำนักข่าวฉงชิ่ง สถานีวิทยุฉงชิ่ง เข้าร่วมและนำเสนอข่าวการจัดกิจกรรมและสัมภาษณ์

แนวโน้มการค้าในอนาคตซื้อตรงจากเกษตรกร

กรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรีไทย-จีน ที่ได้เริ่มปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในการลดภาษีเหลือ 0 สำหรับสินค้าปกติกว่า 5,000 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ทำให้ปริมาณการนำเข้าผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนราคาขายส่งจึงลดลง เช่น มังคุด ลำไย และทุเรียน ราคาลดลงกว่าร้อยละ 15 มังคุดไทยจากปรกติขาย 15.4 หยวน/กก. ปัจจุบันเหลือเพียง 11 หยวน ราคาขายปลีกในตลาดทั่วไปจึงเหลือเพียง 10 กว่าหยวน เช่นเดียวกับทุเรียนซึ่งก่อนหน้านี้ราคาสูงถึง 30 หยวน/กก. ปัจจุบันเหลือเพียง 14 หยวน/กก. ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าผลไม้ไทยพัฒนารูปแบบการค้าให้เข้าถึงผลไม้ไทยมากยิ่งขึ้น โดยการร่วมทุนกับเจ้าของสวนผลไม้ในไทย เพื่อรับซื้อผลไม้จากสวนโดยตรง เนื่องจากมีข้อดีตรงที่ ควบคุมคุณภาพผลไม้ตามที่ตลาดต้องการได้ และไม่ต้องผ่านคนกลาง เพื่อลดต้นทุน ซึ่ง จีนมีการเช่าพื้นที่ทางการเกษตรในประเทศต่างๆและมีชื่อ "ไชน่า" ตามมาด้วยเกือบทุกแห่ง เช่น ลาว เวียดนาม แม้ตลาดผลไม้หลายแห่งจะนิยมดำเนินการซื้อด้วยวิธีดังกล่าว แต่ก็ยังต้องอาศัยนักธุรกิจไทยเป็นผู้รวบรวมผลไม้จากสวนอยู่ดี

จากการสนทนากับ นายเซี่ยง ปิง ผู้จัดการใหญ่บริษัท Jin KuoYuan บริษัทนำเข้าและจำหน่ายผลไม้ไทยรายใหญ่ของฉงชิ่ง กล่าวว่า "ปัจจุบันได้เปิดบริษัทสาขาในเมืองไทยชื่อบริษัท Thailand Jin KuoYuan ในจังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่รับซื้อผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ ส้ม โดยตรงจากสวนของเกษตรกร โดยบริษัทแม่ที่ฉงชิ่งจะส่งพนักงานที่มีความรู้เรื่องการตลาดไปคัดสรร ตรวจคุณภาพ และรับซื้อ จากสวนเกษตรกรทั่วประเทศไทย บริษัททำการค้าในรูปแบบนี้มาได้ 4 - 5 ปี พนักงานที่ส่งไปเรียนรู้ภาษาและสื่อสารกับคนไทยได้ไม่มีปัญหาปัจจุบันเราเริ่มเช่าแปลงสวนผลไม้และปลูกเพาะเองในไทย แรงงานในสวนจ้างคนในพื้นที่ ส่วนผู้ดูแลสวนเป็นชาวจีนที่ส่งไปจากฉงชิ่ง"

สรุปและข้อคิดเห็น

การจัดเทศกาลผลไม้ไทยปี 2010 ในครั้งนี้ ทำให้ปริมาณการนำเข้าผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนราคาขายส่งจึงลดลง ประกอบกับการจัดกิจกรรมประชุมจับคู่ธุรกิจผลไม้ไทย ของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสคร.เฉิงตูได้เชิญผุ้กระจายสินค้าจากตลาดค้าส่งผลไม้ผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้าเข้าร่วม ในช่วงการจัดกิจกรรม THAIFEX 2010 วันที่ 30 มิถุนายน -4 กรกฎาคม 2553 เชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวในอนาคต ผลไม้ไทยจะเข้าสู่ฉงชิ่ง และเป็นที่รู้จักของชาวฉงชิ่งมากยิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ