สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนมิถุนายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 21, 2010 15:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะการตลาดสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

1.1 ในสถานการณ์การแข่งขันที่สูงในตลาดในประเทศ บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าจำต้องปรับตัวโดยมุ่งไปยังตลาดในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย และแอฟริกา ในปี 2552 บริษัท ฮิตาชิ เริ่มวางจำหน่ายเครื่องปรับอากาศสำหรับอาคารสำนักงาน และอาคารพาณิชย์ในประเทศแอฟริกาใต้ โดยอาศัยเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่น จนถึงขณะนี้ได้ขยายไปยังบ้านเรือนที่พักอาศัย โดยจำหน่ายในประเทศในทวีปแอฟริกา รวม 8 ประเทศ ส่วนบริษัทโซนี่ในฐานะผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010ได้สร้างอาคารภายนอกสนามแข่งขันเพื่อโชว์โทรทัศน์ 3 มิติ และเทคโนโลยีของบริษัทเพื่อสร้างความสนใจแก่ผู้เข้าชม

1.2 บริษัท NTT Docomo ได้เข้าไปลงทุนในประเทศอินเดีย โดยจะนำเทคโนโลยีที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นเพื่อดึงดูดลูกค้า บริษัทถือหุ้นร้อยละ 26 ในบริษัท Tata Teleservices ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 5 ในอินเดีย โดยให้บริการโทรศัพท์มือถือภายใต้ยี่ห้อ Tata Docomo ทั้งนี้ตลาดโทรศัพท์มือถือในอินเดียมีการทำสัญญาซื้อถึง 15 ล้านสัญญาภายใน 1 เดือน โดยในบางเดือนสูงถึง 20 ล้าน โดยอัตราการเพิ่มขึ้นทั้งปีของประเทศญี่ปุ่นเท่ากับอัตราการเพิ่ม 1 หรือ 2 อาทิตย์ในอินเดีย โดยผู้ใช้จะใช้ระบบ Prepaid, Voice call และใช้ SMS นอกจากนี้ Docomo ยังได้เพิ่มข้อมูลด้านกีฬา ดูดวง การ์ตูน รวมทั้งพยากรณ์อากาศอีกด้วย

2.ภาวะการจำหน่าย

2.1 ยอดขายหลอดไฟฟ้า LED (Light emitting diode) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 56 ของหลอดไฟฟ้าที่ขายทั่วประเทศในขณะที่หลอดฟลูโอเรสเซนท์ตกลงจากร้อยละ 65 เหลือเพียงร้อยละ 28 จำหน่ายราคาเฉลี่ยอยู่ที่หลอดละ 3,062 เยน และราคามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากจำนวนร้านค้าที่จำหน่ายหลอดไฟราคาต่ำกว่า 2,000 เยนมีมากขึ้น ยอดขายที่สูงขึ้นมาจากกระแสความนิยม เนื่องจากสามารถประหยัดพลังงานมากกว่า มีอายุการใช้งานได้นานกว่าและจากนโยบาย eco-point ของรัฐบาล

2.2 การที่บริษัทผู้ผลิตโทรทัศน์ LCD ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีที่ใช้หลอด LED ส่องสว่างด้านหลังจอทำให้ปริมาณหลอด LED ในตลาดไม่เพียงพอทำให้ผู้ผลิตโทรทัศน์ เช่นพานาโซนิกส์ ต้องชะลอการผลิตและผู้ผลิตโทรทัศน์หลายรายเริ่มที่จะผลิต LED ขึ้นเองเพื่อนำมาใช้ประกอบการผลิตโทรทัศน์ เพื่อที่จะไม่ต้องพึ่งพาผู้ผลิตอื่น ตัวอย่างเช่น ชาร์ป เริ่มทำการผลิต LED เองในปี 2010 ส่วนโตชิบาจะเริ่มผลิตในปี 2011

3. ภาวะการลงทุน

3.1 บริษัท ซันโย อิเล็คทริค จะลงทุน 290 พันล้านเยน ภายใน 3 ปี เพื่อผลิตถ่าน และโซลาร์ เซลล์ ที่สามารถชาร์จไฟได้ โดยจะผลิตถ่านทำจาก lithium ion ที่ใช้ในยานพาหนะไฮบริด และไฟฟ้า ในโรงงานที่ จ.เฮียวโก เพื่อหวังจะได้ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 40 ของ ถ่านที่ชาร์จไฟที่ใช้ในรถ รวมทั้งจะพัฒนาเพื่อใช้กับโทรศัพท์มือถือ และ คอมพิวเตอร์ ส่วนโซลาร์เซลล์จะทำการผลิตในโรงงานที่ จ.โอซากา และ ชิมาเนะ โดยหวังจะเพิ่มยอดขายแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ในครัวเรือน บริษัทอยากจะขยายธุรกิจด้าน Green technology ไปยังสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นคาดว่าจะมีมูลค่า 100 พันล้านเยนในปี 2015

3.2 ความต้องการบริโภคสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์เพิ่มการลงทุนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต บริษัท ไนเดค มีแผนที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายอีก 65 พันล้านเยน โดยจะสร้างโรงงานในประเทศจีน และเริ่มการผลิตในเดือนมกราคมปีหน้า เพื่อให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการมอเตอร์ที่ใช้ในรถยนต์ บริษัท มูราตะ จะลงทุนเพิ่มอีกร้อยละ 80 โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานที่ญี่ปุ่น และต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้ออุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์จากจีนบริษัท เกียวเซรา จะลงทุนเพิ่มร้อยละ 40 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานในจังหวัดคาโกชิม่า และบริษัท ที ดี เค จะเพิ่มการผลิตที่จังหวัดนากาโน่ โดยลงทุนเกือบ 70 พันล้านเยน เน้นการผลิตหัวแม่เหล็กที่ใช้ในฮาร์ดไดร์ฟ

3.3 ริษัทแคนนอนจะเปิดสำนักงานใหญ่เพิ่มอีก 2 แห่งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป นอกเหนือจากในญี่ปุ่น รวมเป็น 3 แห่งเพื่อเป็นการปฏิรูปบริษัทให้เป็นบริษัทระดับโลกอย่างแท้จริงโดยแต่ละแห่งจะควบคุมดูแลการดำเนินงานทั้งหมด ตั้งแต่การผลิต การพัฒนาสินค้า การตลาด และบริการหลังการขาย ปัจจุบันยอดขายของแคนนอนกว่าร้อยละ 80 มาจากการขายในต่างประเทศ ซึ่งแผนกขายในต่างประเทศจะมีอิสระในการที่จะตัดสินใจการดำเนินงานของตนเอง การเปิดสำนักงานใหญ่ใน 3 ภูมิภาคจะเป็นประโยชน์ในการที่จะใช้จุดแข็งของแต่ละที่ในการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการในท้องถิ่นในเดือนมีนาคม แคนนอนซื้อบริษัทผลิตพริ้นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป บริษัท Oce NV ของเนเธอร์แลนด์ เพื่อจะขยายการดำเนินงานของบริษัทในยุโรป และกำลังคิดที่จะซื้อบริษัทในสหรัฐอเมริกาด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ