ข้าวไทยมุ่งสู่พื้นที่ใหม่ๆในตลาดจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 28, 2010 15:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองซีอาน รายงานว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาข้าวไทยมีราคาสูง ในขณะที่ราคาปกติของข้าวจีนที่ใช้บริโภคในครัวเรือนโดยทั่วไปจำหน่ายอยู่ในช่วง 2 — 5 หยวนต่อจิน หรือประมาณ 20 — 50 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าวพื้นที่ปลูกและสถานที่จำหน่าย ส่วนข้าวไทยคุณภาพปานกลางมีราคา 5 หยวนต่อจิน หรือประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในปัจจุบันข้าวถุง 5 กิโลกรัมที่ติดฉลากข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศจากวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในเมืองซีอานติดราคาขาย 74 — 83 หยวน/ 5 กิโลกรัม หรือประมาณ 74 — 83 บาทต่อกิโลกรัม โดยตั้งเป้าหมายจำหน่ายให้ลูกค้าพิเศษเฉพาะกลุ่ม

ในพื้นที่ภาคตะวันตกตอนเหนือของจีนซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล ยังไม่พบว่ามีการสั่งซื้อข้าวโดยตรงข้าวจากไทยแต่จะพบเห็นข้าวไทยวางจำหน่ายอย่างแพร่หลายในราคาที่สูงกว่าข้าวพื้นเมืองมาก จำหน่ายเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีฐานะและใช้ในภัตตาคารร้านอาหารชั้นดี โดยมีศูนย์กลางการจัดส่ง เก็บรักษา และกระจายสินค้าในตลาดค้าส่งหูเจียเมี่ยวแห่งเมืองซีอาน (Xi’an Hujiamiao) เป็นการสั่งจากผู้นำเข้าในเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกแล้วขนส่งต่อทางรถไฟซึ่งผ่านเข้าถึงหน้าตลาดค้าส่งดังกล่าวซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้ค้าข้าวรายสำคัญ

ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก และเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญที่สุดของจีนสำหรับข้าวคุณภาพสูงเพื่อใช้สำหรับการบริโภคของลูกค้าตลาดบน สินค้าเข้ามาในจีนแล้วต้องผ่านการติดฉลากหรือแยกบรรจุหีบห่อตามขนาดนิยมให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ สำหรับเมืองในเขตชั้นในของจีน การนำเข้าข้าวต้องผ่านคนกลางหลายต่อทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูง อีกทั้งไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ทำให้เสียลูกค้า มีบางรายเริ่มสนใจที่จะศึกษาการนำเข้าด้วยตนเอง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขยายตลาดข้าวไทยเข้าสู่พื้นที่ตอนในของประเทศจีนซึ่งรัฐบาลจีนเองก็มีนโยบายสนับสนุนให้เปิดออกสู่โลกภายนอกเพื่อยกระดับความเจริญให้เท่าเทียมทั่วกัน

ถึงแม้ว่าการเปิดตลาดข้าวโดยลัดตรงเข้าสู่ใจกลางแผ่นดินจีน คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากการทำธุรกิจค้าขายในพื้นที่แถบนี้ยังไม่เป็นสากลเต็มรูปแบบ ผู้ค้าขาดข้อมูลความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการขออนุญาตนำเข้าซึ่งกลไกของรัฐยังให้ความคุ้มครองควบคุมอยู่สูง ประกอบกับเสียเปรียบด้านโลจิสติกส์และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่ง รวมทั้งการต่อกรกับอำนาจผูกขาดของผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่เดิมๆ ซึ่งครอบครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน

ประโยชน์ทางการค้าและแรงจูงใจที่จะส่งเสริมให้มีการเปิดตลาดการนำเข้าข้าวในเมืองใหม่ๆ เกิดจากการที่ผู้ประกอบการของทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสทำความรู้จักและสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เห็นโอกาสทางการค้าร่วมกัน

ประสงค์จะติดต่อซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้า ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการผ่านคนกลาง มีความมั่นใจที่จะได้ข้าวดีมีคุณภาพสม่ำเสมอ ไม่ปลอมปน การสร้างชื่อเสียงความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัทผู้จำหน่ายข้าวคุณภาพสูงของไทย และโอกาสที่จะขยายฐานตลาดออกไปสู่เมืองสำคัญอื่นๆที่อยู่ลึกเข้าไปตอนในของประเทศได้อีกมหาศาล

ในปัจจุบันเริ่มมีโรงสีผู้ส่งออกข้าวไทยโดยการสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการส่งออกเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของตลาดจีนในพื้นที่ใหม่ๆ ได้เปิดปฏิบัติการเชิงรุกเดินทางออกมาเสาะแสวงหาลูกค้าด้วยตนเองโดยการนำทีมของภาครัฐ เพื่อกระจายตลาดข้าวไทยให้ขยายฐานออกไปในกลุ่มชนที่มีรายได้สูงขึ้นตลอดจนคนรุ่นใหม่ที่พิถีพิถันกับการใช้ชีวิตประจำวันและอาหารมากขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากคู่ค้าฝ่ายจีน ทุกฝ่ายต่างมั่นใจในความสำเร็จที่จะตามมา

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองซีอาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ข้าวไทย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ