ตลาดเครื่องประดับและอัญมณีในซาอุดีอาระเบีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 28, 2010 15:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตลาดเครื่องประดับและอัญมณีในซาอุดีอาระเบีย ถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดในตะวันออกกลาง เนื่องจากมีจำนวนประชากรที่มาก ความสามารถในการซื้อที่สูง และค่านิยมในสังคมที่ชื่นชอบเครื่องประดับ มีการประเมินว่าซาอุฯ ประเทศเดียวมีมูลค่าการซื้อขายเครื่องประดับทองคำและเพชรพลอย สูงถึง 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี1 ข้อมูลจาก De Beers ระบุว่าซาอุดีอาระเบีย ที่กรุงริยาดและเมืองเจดดาห์ ศักยภาพในการซื้อเพชรสูง ถึง 323 และ 155 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (PWP2) ตามลำดับซึ่งเทียบเท่ากับประเทศในยุโรป กล่าวคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และ สเปน มียอดขาย 338, 257, 199 และ 82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (PWP) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลและสถิติต่างๆ ในซาอุดีอาระเบียค่อนข้างจำกัด เช่น สถิติการนำเข้าส่งออก อย่างเป็นทางการของซาอุฯ ล่าสุดคือปี 2008 ดังนั้นรายงานฉบับนี้ ใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งและล่าสุดที่สุดเท่าที่จะหาได้

1. ภาวะการผลิตภายในประเทศ

สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนใหญ่ยังคงนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีแหล่งนำเข้าจากประเทศเอเชีย และกลุ่มประเทศยุโรป ซาอุดีอาระเบียสามารถผลิตสินค้าประเภทอัญมณีเองได้ ปริมาณการผลิตยังไม่พอกับความต้องการของตลาด พร้อมกับคุณภาพของการผลิตที่มีความปราณีตน้อย และรูปแบบที่ไม่ค่อยทันสมัย ซาอุฯ ยังขาดแคลนแรงงานทุกระดับต้องอาศัยแรงงานและช่างฝีมือจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย เยเมน ไทย ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา รวมทั้งวัตถุดิบประเภทอัญมณี (แม้ว่าภายในประเทศมีวัตถุดิบทองคำ) ความต้องการของตลาดยังมีค่านิยมสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากต่างประเทศ เนื่องจากมีแบบใหม่ๆ เป็นที่นิยม ให้เลือกตามความต้องการ ส่วนโรงงานผลิตทองรูปพรรณและเครื่องประดับมีประมาณ 2,000 โรงงาน ใช้ทองคำเป็นวัตถุดิบ ประมาณ 200 ตันต่อปีทองคำที่ใช้มาจากการผลิตภายในประเทศ การนำเข้า และการหลอมทองคำเก่า

2. ข้อมลการตลาด

2.1 รูปแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นไปตามกระแสความนิยมของตลาด ที่ไม่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลามหรือจริยธรรม ไม่มีสัญลักษณ์ที่เป็นรูปคน รูปสัตว์ ไม้กางเขนหรือรูปบูชาอื่นๆ

2.2 ชาวซาอุฯ นิยมเครื่องประดับที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ หรูหรา อลังการ มากกว่ารูปแบบของทางตะวันตก อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่บางส่วนก็หันมานิยมรูปแบบของเครื่องประดับแนวทางตะวันตกมากขึ้น ทั้งนี้เครื่องประดับถือได้ว่าเป็นการแสดงสถานะทางสังคมของสตรีผู้สวมใส่ ทั้งของตนเองและครอบครัว

2.3 ตลาดเครื่องประดับในซาอุฯ สามารถแบ่งแยกง่ายๆ ได้เป็น 2 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดสำหรับเจ้าสาว/การแต่งงาน และตลาดอื่นๆ

ตลาดสำหรับการแต่งงาน จะมีการซื้อเพื่อใช้ในพิธีการแต่งงาน และการเข้าร่วมงานฉลองแต่งงาน ตลาดอื่นๆ คือการซื้อเครื่องประดับสำหรับงานอื่นๆ เช่น ใช้เป็นของขวัญสำหรับวันเกิด วันครบรอบการแต่งงาน

2.4 ตลาดเครื่องประดับอาจแบ่งแยกเพิ่มเติม สำหรับเครื่องประดับเป็นชุด (มี 4 ชิ้น ได้แก่ ตุ้มหูสร้อยคอ และแหวน) และเครื่องประดับเป็นชิ้น

2.5 จากข้อมูลระบุว่าจากยอดขายเครื่องประดับทั้งหมด ประมาณร้อยละ 40 เป็นตลาดสำหรับการแต่งงาน และร้อยละ 54 ของตลาดทั้งหมดขายเป็นชุดเครื่องประดับ

2.6 ช่วงเวลาที่มีการซื้อเครื่องประดับมากในซาอุดีอาระเบีย (อาจรวมประเทศอื่นในตะวันออกกลางด้วย) มี 2 ช่วง คือ ช่วงฤดูที่มีพิธีแต่งงานมาก ประมาณพฤษภาคม-กรกฏาคม และช่วงเดือนรอมฎอน คือช่วงเดือนแห่งการถือศีลอด การบริจาคทาน การให้โบนัส ของขวัญและการบริจาคเงินซากาต (หมายถึงการบริจาคให้คนจนเมื่อมีเงินเก็บไว้ครบปีในอัตรา 2.5%) กอปรกับมีผู้เดินทางมาปฏิบัติธรรมในนครมักกะห์ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน เป็นช่วงที่เงินเดินสะพัดที่สุดในรอบปี เมื่อครบเดือนรอมฎอนก็จะเป็นเทศกาลวันตรุษอัลฟิตริเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง ความสนุกสนาน มีการเยยี่ มเยียนญาติพี่น้องผู้ใหญ่ที่นับถือ พวกสตรีจะมีการแข่งขันสวมใส่อัญมณีอวดกัน ประชันความสวยงามของเครื่องประดับกาย จึงเป็นช่วงเวลาที่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขายดีมาก เครื่องประดับประมาณร้อยละ 25 ขายในช่วงรอมฎอนนี้

อย่างไรก็ตาม ในซาอุฯ ยังมีช่วงเวลาพิเศษอีกครั้งหนึ่งที่มีการขายเครื่องประดับค่อนข้างมาก ในช่วงการทำพิธีฮัจย์จะมีคนจากทั่วโลกมาทำพิธีกรรมมากกว่า 3 ล้านคนจึงทำให้พ่อค้าอัญมณีมีโอกาสที่ดีในการขายสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองมักกะห์ มาดีนะห์ และเจดดาห์

2.7 ชาวซาอุฯ นิยมเครื่องประดับทองคำแท้ 18 K และ 22 K และทองสีชมพูก็เป็นที่ชื่นชอบเช่นกัน

2.8 ร้านค้าจำหน่ายทองคำและเครื่องประดับในซาอุฯ มีประมาณ 6,250 ร้านค้าทั่วประเทศร้านค้าเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเปิดเพิ่มขึ้นในศูนย์การค้าขนาดใหญ่และทันสมัย แทนที่ตลาดเก่าแบบดั้งเดิม (Souq)

2.9 การกำหนดราคาขาย เป็นไปตามกลไกของตลาด เพราะมีการแข่งขันสูงและขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตามตลาดเงินตรา สำหรับเงินริยัล ซาอุดีฯ อยู่ที่อัตรา 1 USD ต่อ 3.74 ริยาล

3. การเข้าสู่ตลาด

3.1 ช่องทางการจำหน่ายของผู้ประกอบการไทย หาโอกาสเข้ามาพบปะกับพ่อค้าชาวซาอุดีฯ เช่น เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจัดปีละ 2 ครั้ง โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ได้เชิญนักธุรกิจซาอุฯ เข้าร่วมงานทุกครั้งหรือผู้ส่งออกไทย เดินทางเข้าซาอุฯ โดยให้ผู้นำเข้าซาอุฯ เป็นผู้ออกหนังสือเชิญ เพื่อใช้ประกอบการขอวีซ่าเดินทาง

3.2 ผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีที่จัดในประเทศซาอุดีอาระเบีย ปัจจุบันมีการจัดงานขึ้นที่เมืองริยาด และเจดดาห์ ช่วงเดือนพฤษภาคม โดยมีผู้ประกอบการไทยเป็นตัวแทน ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อกับ Vega Intertrade & Exhibtion Co., Ltd โทร. 02 728 7701-5 (www.vegainter.com)

3.3 ผู้ส่งออกไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศที่ใกล้เคียงซาอุดีอาระเบีย เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน เป็นต้น

4. ภาษีนำเข้า กฏระเบียบ

4.1 อัตราภาษีการนำเข้าสำหรับทองแท่ง และผงทองไม่เก็บมีการเก็บอัตราภาษีการนำเข้า ส่วนสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอื่นๆ จัดเก็บในอัตราร้อยละ 5 ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (www.customs.gov.sa)

4.2 กฏระเบียบการค้าการนำเข้า สินค้าเครื่องประดับที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ศุลกากร และผู้นำเข้าสินค้า ร่วมกันตรวจสอบสินค้าที่นำเข้า กรณีที่มีความไม่แน่ใจในเรื่องของคุณภาพสินค้าที่นำเข้า ศุลกากรจะเชิญผู้แทนจากหอการค้าฯ ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสินค้าเครื่องประดับอัญมณีเข้าร่วมตรวจสอบ/ให้ความเห็นด้วย เครื่องประดับทองคำที่นำเข้าต้องมีความบริสุทธิ์ต่ำสุด 18 K เครื่องเงิน 925 เป็นอย่างน้อย

  • เมื่อพบว่าเครื่องประดับอัญมณีมีการประทับตราถูกต้องตรงตามกะรัต และประทับตราเครื่องหมายที่ได้รับการจดทะเบียน ในการนำเข้าให้ปล่อยสินค้าออกและอนุญาตให้เก็บตัวอย่างไปตรวจ เพื่อมั่นใจว่าถูกต้องตรงตามกะรัต
  • เมื่อพบว่าเครื่องประดับที่นำเข้าไม่มีการตีตรา หรือตีตราไม่ตรงกับจำนวนกะรัต หรือไม่มีตราเครื่องหมายที่ได้รับการจดทะเบียน ไม่ให้ปล่อยสินค้าออก ให้ผู้นำเข้ารีเอกซ์ปอร์ตไปที่อื่น มิเช่นนั้นจะถูกทุบทิ้ง และส่งคืนเจ้าของพร้อมทั้งเขียนใบเตือนลงนามโดยเจ้าหน้าที่และเจ้าของสินค้า
  • เมื่อตรวจพบว่าเครื่องประดับไม่ตรงตามกะรัต ให้ผู้นำเข้ารีเอกซ์ปอร์ตไปที่อื่นมิเช่นนั้นจะถูกทุบทิ้งและส่งคืนเจ้าของ พร้อมทั้งเขียนใบเตือนลงนามโดยเจ้าหน้าที่และเจ้าของสินค้า

4.3 ทางการซาอุฯ มีนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบด้านการนำเข้าสินค้า โดยจะให้มีการตรวจสอบสินค้าก่อนการนำเข้า (Certificate of Conformity Program) (อาจหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก http://www.intertek.com/government/product-conformity/exports/saudi-arabia) ดังนั้นก่อนการส่งออกสินค้าทุกครั้ง ผู้ส่งออกไทยควรจะหารือรายละเอียดกับผู้นำเข้าซาอุฯ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ณ ด่านศุลกากรปลายทาง

5. ข้อมูลเพิ่มเติม

5.1 ปี 2553 (มค.-พค.) ไทยส่งออกสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีไปซาอุฯ แล้ว มูลค่า 3.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.42

5.2 ปี 2551 (2008) จากข้อมูลล่าสุดของทางการซาอุดีอาระเบีย มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องประดับและอัญมณีจากไทยทั้งสิ้น 10.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 5.53 จากการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด 188,161.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ