การค้าระหว่างประเทศ ไทย-แคนาดา มกราคม-พฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 29, 2010 14:22 —กรมส่งเสริมการส่งออก

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ
  • การค้าระหว่างไทย-แคนาดาในปี 2552 มีมูลค่า 1,985.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 16.57 การส่งออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.86 ของการส่งออกรวมของไทยโดยมีมูลค่า 1,311.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.11 การนำเข้ามีมูลค่า 673.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 29.25 ไทยได้ดุลการค้า 162.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.15
  • การค้าระหว่างไทย-แคนาดา ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2553 มีมูลค่า 927.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.05 การส่งออกมีมูลค่า 532.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 0.71 ของการส่งออกรวมของไทย ขยายตัวร้อยละ 17.06 การนำเข้ามีมูลค่า 395.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 137.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกของไทยไปแคนาดา

ระหว่างปี 2542-2552 การส่งออกของไทยไปแคนาดาขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น จากมูลค่าส่งออกในปี 2542 จำนวน701.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 1,311.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละร้อยละ 8 โดยในปี 2551 มีมูลค่าสูงสุดที่ 1,427.68 ล้านเหรียญสำหรับปี 2552 การส่งออกลดลงเนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก แคนาดาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 28 ของไทย และไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 19 ของแคนาดา

สินค้าส่งออกของไทยมาแคนาดา
  • ปี 2552 สินค้าส่งออกของไทยอันดับแรกเป็นสินค้าอาหาร ร้อยละ 41.13 รองลงมาเป็นสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 20.31 อันดับสามเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ยาง ร้อยละ 7.45 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าร้อยละ 6.98 สินค้าเสื้อผ้า/สิ่งทอ ร้อยละ 5.21 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับร้อยละ สินค้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ ร้อยละ 2.94 สินค้าอุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 2.31
  • มกราคม-พฤษภาคม 2553 สินค้าส่งออกของไทยได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รองลงมาเป็นสินค้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ยางพารา กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยาง

สินค้าที่มีการส่งออกลดลงในช่วงระหว่าง มค-พค 53 ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (เผชิญคู่แข่งอาทิ จีน อินเดีย กัมพูชา ที่มีราคาถูกกว่า) ผลิตภัณฑ์ยาง (คู่แข่งที่สำคัญได้แก่ อินโดนิเซีย มาเลเซีย ไลบีเรีย) รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน (มีคู่แข่งที่สำคัญที่มีแบรนด์เป็นของตนเองได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมันนี) และ ผลิตภัณฑ์พลาสติก (คู่แข่งที่สำคัญมีราคาและต้นทุนที่ถูกกว่า อาทิ สหรัฐฯ จีน เม็กซิโก)

ส่วนแบ่งตลาดสินค้าในแคนาดา

ไทยครองส่วนแบ่งตลาดในแคนาดาที่ 0.57-0.63% เป็นอันดับที่ 19 โดยคู่แข่งขันของไทย ได้แก่ สหรัฐฯซึ่งครองส่วนแบ่งตลาด (2550-2552) อันดับที่ 1 ที่ 51.11-54.17% จีน 9.43-10.88% เม็กซิโก 4.23-4.55% ญี่ปุ่น 3.38-3.79% เยอรมันนี 2.83-2.91% เกาหลีใต้ 1.32-1.63% มาเลเซีย 0.63-0.72%

โดยในช่วงที่ผ่านมาในปี 2550-2551 ไทยมีสัดส่วนแบ่งตลาด ในการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นจาก 0.57% ในปี 2550 เป็น 0.63% ในปี 2552

สินค้านำเข้าของไทยจากแคนาดา

ไทยนำเข้าสินค้าจากแคนาดา ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เยื่อกระดาษ ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรกล สินแร่ เหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ ถ่านหิน

เศรษฐกิจแคนาดา
  • จากข้อมูลล่าสุด GDP ไตรมาสที่ 1 ของปี 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 แสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแคนาดาในภาคการลงทุน เนื่องมาจากรัฐบาลแคนาดาได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิโครงการก่อสร้างระบบสาธาณูปโภค โครงการสนับสนุนการก่อสร้างบ้านพักอาศัย ฯลฯ
  • อัตราการว่างงานในเดือน พ.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 8.1% ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบ เมย 53
  • ค่าเงินสกุลดอลลาร์แคนาดาแข็งค่ากว่าเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เหรียญสหรัฐฯ = 1.040 เหรียญแคนาดา ที่จะส่งผลดีต่อการนำเข้าจากทั่วโลกรวมทั้งไทย
  • ธนาคารชาติแคนาดาได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.25% เป็น 0.50% ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 53
  • อัตราเงินเฟ้อในแคนาดา ธนาคารชาติแคนาดาตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อในปี 2553 ที่ร้อยละ 1-3 แต่ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในแคนาดาปรับเพิ่มสูงขึ้น เช่น หมวดอาหาร ผัก ผลไม้ อาหารกระป๋อง เพิ่มสูงขึ้น 12.6% น้ำตาลและขนมปังและขนมขบเขี้ยว 8.6% อาหารสัตว์เลี้ยง 8.5% ค่าโดยสารรถยนต์ รถเมล์ ค่าทางด่วน 9.3% ค่าเล่าเรียน 4.1% ค่าประกันภัยทุกประเภท ค่าธรรมเนียมธนาคาร ค่านิตยสารและค่าเสื้อผ้า 10-15%
  • การส่งออกของแคนาดาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 (มูลค่า 91,786.5แ7 ล้านเหรียญฯ) เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกหลักของแคนาดามีแนวโน้มสูงขึ้น อาทิ พลังงาน สินแร่โลหะ ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ในขณะที่การส่งออกทั้งปี 2552 (มูลค่า 316,761.08 ล้านเหรียญฯ) ลดลง -30.62% จากปี 2551 แคนาดาตั้งเป้าหมายว่าการส่งออกในปี 2553 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.2%
  • การนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ของปี2553 เพิ่มขึ้น 14.1 % (มูลค่า 89,536.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เมื่อเทียบกับไตรมาสที่4 ของปี 2552 เนื่องจากค่าเงินแคนาดาแข็งค่าขึ้นสินค้านำเข้าจะมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ การนำเข้าของแคนาดาในปี 2552 (มูลค่า 321,487.75 ล้านเหรียญฯ) ลดลง -21.37 % เมื่อเทียบกับปี 2551 อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2553 จะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 11.0 %

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โตรอนโต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ