การนำเข้ามันสำปะหลังไทยของจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 29, 2010 14:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จากรายงานสถิติการนำเข้ามันสำปะหลังไทยของจีน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 (มกราคม-มีนาคม 2553) ของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน รายงานว่า ในช่วงไตรมาสแรกประเทศจีนได้นำเข้ามันสำปะหลังไทย รวมปริมาณทั้งสิ้น 1,924,000 ตัน คิดเป็น มูลค่า 370 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี2552 เพิ่มขึ้น 62.3 % และ1.5 เท่า ราคานำเข้าเฉลี่ยตันละ 194 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นราคานำเข้าเพิ่มที่ขึ้นประมาณ 54.9 % กล่าวคือ

1. ปริมาณการนำเข้าในช่วง 3 เดือนแรกของปี2553 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและราคาได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคม 2553 จีนมีการนำเข้ามันสำปะหลังไทยราว 870,000 ตัน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดือนมีนาคม ปี2552 ราว 49.7 % และเมื่อเทียบกับการนำเข้าของเดือนกุมภาพันธ์ ปี2552 เพิ่มขึ้นราว 90.8 % ซึ่งนับเป็นช่วงที่มีปริมาณการนำเข้าสูงที่สุดเดือนหนึ่ง ขณะเดียวกันราคาก็สูงขึ้นตามลำดับ โดยราคานำเข้าเฉลี่ยของเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ตกราคาตันละ 120.60 เหรียญสหรัฐ แต่ในเดือนมีนาคม 2553 ราคานำเข้าได้ขยับตัวสูงขึ้นตกราคาตันละ 195.30 เรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นราว 59 % ซึ่งนับเป็นราคานำเข้าที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี2552 ที่ผ่านมา

2. ในช่วงไตรมาสแรกของปี2553 (มกราคม-มีนาคม 2553) จีนได้นำเข้านำเข้ามันสำปะหลังจากกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา เป็นต้น โดยการนำเข้าทั้งหมดจำนวน 80 % หรือ 1,45,000 ตันเป็นการนำเข้าจากประเทศไทย เพิ่มขึ้น 2 เท่าคิดเป็นสัดส่วนของปริมาณการนำเข้าในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี2552 ราว 75.5 % สำหรับการนำเข้าจากเวียดนามคิดเป็น 428,000 ตัน ลดลง 34.8 % คิดเป็นสัดส่วน 22.2 %

3. ปริมาณการนำเข้าส่วนใหญ่ 60 % เป็นการนำเข้าของบริษัทภาคเอกชน ที่เหลือเป็นการนำเข้าของบริษัทวิสาหกิจของรัฐและบริษัทของนักลงทุนชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี2553 (มกราคม-มีนาคม 2553) บริษัทภาคเอกชนนำเข้าปริมาณ 1,150,000 ตัน เพิ่มขึ้น 55.1% คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าทั้งหมด 59.9 % ขณะเดียวกันบริษัทวิสาหกิจของรัฐนำเข้าปริมาณ 539,000 ตัน เพิ่มขึ้น 68.1% คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 28.1 % ส่วนบริษัทของนักลงทุนชาวต่างชาตินำเข้าปริมาณ 228,000 ตัน เพิ่มขึ้น 98.5 % คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 11.9 %

4. การนำเข้าของมณฑลซานตงและเจียงซูได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในไตรมาสแรก (มกราคม — มีนาคม 2553) มณฑลซานตงมีการนำเข้าทั้งสิ้น 805,000ตัน เพิ่มขึ้น 40.10% มณฑลเจียงซู นำเข้า 593,000ตัน เพิ่มขึ้น 1.6 เท่า คิดเป็นสัดส่วน 30.80 % มณฑลเจ้อเจียงนำเข้า 118,000 ตัน เพิ่มขึ้น 19.4 % คิดเป็นสัดส่วน 6.10 %

สำหรับเหตุผลที่ปริมาณการนำเข้าและราคามันสำปะหลังสูงขึ้น เนื่องจาก

1. ประเทศจีนมีการพัฒนาการผลิตพลังงานชีวภาพและความต้องการใช้พลังงานดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมันสำปะหลังสามารถผลิตเชื้อเพลิง(ethanol) ได้ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับพืชเกษตรชนิดอื่นๆ จึงถูกนำมาเลือกใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน

การผลิตมันสำปะหลังของจีน ประมาณ 60 % ของมันสำปะหลังจีนจะปลูกที่เขตปกครองตนเองกวางสี แต่เนื่องจากปีนี้ เขตปกครองตนเองกวางสีต้องประสบกับภาวะภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังของจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักคาดว่า ปีนี้จีนจะใช้วัตถุดิบที่ไม่ใช่พืชเกษตรมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง (ethanol) ประมาณ 2,000,000 ตัน และคาดว่าก่อนถึงปี2563 จะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 1,000,000 ตัน

2. เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการพัฒนาการผลิตพลังงานชีวภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี2552 ไตรมาสแรก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ลดลงต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เหลือบาร์เรลละ 33 เหรียญสหรัฐ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบได้ถีบตัวสูงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่ง วันที่6 เมษายน 2553 ราคาน้ำมันดิบได้ถีบตัวสูงขึ้นถึงบาร์เรลละ 86 เหรียญสหรัฐ ผนวกกับประเทศต่าง ๆ มีนโยบายควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนทำให้การพัฒนาการผลิตพลังงานชีวภาพได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ไว้ว่า ในปี2563 การผลิตพลังงานชีวภาพและผลิตภัณฑ์ชีวภาพจะเพิ่มขึ้นกว่าในปี 2543 ถึง 20 เท่า คิดเป็นสัดส่วนปริมาณการใช้พลังงาน ทั้งสิ้น 25 % และในปี2593 คิดเป็นสัดส่วนปริมาณการใช้พลังงาน 50 % นอกจากนี้ ปัจจุบัน ประเทศกลุ่มประชาคมยุโรปมีการใช้พลังงาน ชีวภาพประมาณ 2 % คาดว่าในปี2558 ประเทศ กลุ่มประชาคมยุโรปจะมีการใช้พลังงานชีวภาพ 15 % ซึ่งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบสำคัญตัวหนึ่ง ด้วยสาเหตุดังกล่าวทำให้ความต้องการใช้มันสำปะหลังของประเทศทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ราคาจึงถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วปัจจุบัน จีนใช้ข้าวโพด มันสำปะหลังและน้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิง (ethanol) แม้จีนจะมีพื้นที่ในการเพาะปลูกมันสำปะหลังมากกว่า 7,000,000 เอเคอร์แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ