พาณิชย์ จับมือ 3 ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เพิ่มปริมาณรับซื้อผลิตผลทางการเกษตร พร้อมตั้งเป้ายอดส่งออกสินค้าเกษตรทั้งปี ขยายตัว 20 % เน้นลองกอง เงาะ มังคุด แนะชาวสวนทันสถานการณ์
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมการรับซื้อผลิตผลการเกษตรของไทย ระหว่างกรมส่งเสริมการส่งออก กรมการค้าภายในและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 3 แห่ง เทสโก้ โลตัส, คาร์ฟูร์ และบิ๊กซีว่าทั้ง 3 ที่จะเพิ่มปริมาณการรับซื้อผลไม้ตามฤดูกาลเพิ่มขึ้น 15-20 % จากปี 2552 รวมปริมาณ 165,000 แสนตัน ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จะมีสินค้าผลไม้คุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค และผู้นำเข้าสามารถเชื่อมั่นได้ว่าจะมีแหล่งผลิตสินค้าผลไม้ที่ไว้วางใจได้ในระยะยาว
“ปีนี้ เทสโก้ โลตัส จะเพิ่มปริมาณการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้ อีก 20 % จากปี 2552 หรือ รวมปริมาณ 48,000 ตัน และจะส่งเสริมการส่งออกผักผลไม้รวมทั้งผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ของไทยอีกรวมปริมาณ 95,000 ตัน หรือ รวมปริมาณทั้งสิ้น 1.43 แสนตัน ห้างคาร์ฟูร์ จะเพิ่มปริมาณการรับซื้อผักผลไม้อีก 15 % หรือ รวมปริมาณ 4,600 ตัน แบ่งเป็นจำหน่ายในประเทศ 3,600 ตัน ส่งออก 1,000 ตัน ขณะที่บิ๊กซีจะเพิ่มปริมาณการรับซื้อผักและผลไม้ที่มีคุณภาพเหมาะสมจากภาคการเกษตรภายในประเทศอีก 20 % หรือในปริมาณ 12,000 ตัน”นางพรทิวา กล่าว
สำหรับตัวเลขการส่งออกในภาพรวมครึ่งปีแรก มีการปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า จากเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าว่า ตัวเลขการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 14 จึงได้ปรับเป้ายอดการส่งออกโดยรวมทั้งปีเป็น17-18 % โดยสินค้าผลไม้-ผัก 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.2553) มียอดส่งออกขยายตัว 17% คิดเป็นมูลค่า 313 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าทั้งปีการส่งออกผลไม้-ผักจะปรับตัวเพิ่มขึ้น20% หรือมีมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปีก่อนที่ส่งออกได้กว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ขยายตัว 14%
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณผลไม้ส่วนใหญ่จะมาจากทางภาคใต้ โดยทะยอยออกสู่ตลาดราวกรกฎาคม — ตุลาคม 2553 อาทิ ลองกองผลผลิตในปีนี้มีปริมาณ 92,000 ตัน เงาะโรงเรียน 117,000 ตัน มังคุด 130,000 ตัน เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มี สำนักงานการส่งออกภาคใต้ ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ,ที่ จ.สุราษฏ์ธานี และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เป็นผู้ดูแลการค้าในภาคใต้ เพื่อรายงานการทำธุรกิจว่า ได้ทำการซื้อขายจริงหรือไม่ รวมถึงหารือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือการหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ
“ด้านการส่งออก เอกชนหรือ ชาวสวน ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพืชเกษตร เพื่อติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะสารเคมีและแมลงที่ติดไปกับผัก-ผลไม้ อาจทำให้การส่งออกภาพรวมไทยเสียโอกาสได้ ส่วนการติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และขนาดให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ”นางศรีรัตน์กล่าว
ที่มา: http://www.depthai.go.th