ตลาดสินค้าของเล่นและเกมส์มีลู่ทางแจ่มใสในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 15:22 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์ตลาดของเล่นและเกมส์ในสหรัฐฯ

สมาคมอุตสาหกรรมของเล่นสหรัฐฯ (Toy Industry Association : TIA) รายงานยอดจำหน่ายสินค้าของเล่นและเกมส์ในปี 2552 เป็นมูลค่า 41,265 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงไปจากปี 2551 ร้อยละ -4.4 ครัวเรือนในสหรัฐฯ ใช้จ่ายในการซื้อของเล่นและเกมส์ให้แก่เด็กโดยเฉลี่ยเป็นเงินประมาณ 550 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน/ปี

สินค้าวีดีโอเกมส์มียอดจำหน่ายมากที่สุด 19,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเล่นทารกและเด็กเล็กจำนวน 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 2 ของเล่นอื่นๆ ได้แก่ ตุ๊กตา (Dolls) จำนวน 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเล่นแบบกีฬา (Sport Toys) จำนวน 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ Arts & Crafts จำนวน 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นต้น

ยอดจำหน่ายของเล่นและเกมส์แยกตามประเภทในปี 2552

หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ประเภทของเล่นและเกมส์                 ปี 2551           ปี2552           ขยายตัว (%)
1. Video Games                      21,400          19,700             -8.0
2. Infant/Preschool                  3,100           3,000             -3.2
3. Arts & Crafts                     2,500           2,800             12.0
4. Dolls                             2,700           2,600             -3.7
5. Outdoor & Sports Toys             2,700           2,600             -3.7
6. Games/Puzzles                     2,300           2,400              4.3
7. Vehicles                          1,900           1,800             -5.2
8. Action Figures & Accessories      1,500           1,600              6.6
9. Plush                             1,700           1,500            -11.7
10. Other Toys                       1,300           1,400              7.7
11. Building Sets                      880           1,100             25.0
12. Youth Electronics                  865             765            -11.5
          ยอดจำหน่ายรวม              42,945          41,265             -3.9
อุตสาหกรรมของเล่นและเกมส์

การผลิต สินค้าของเล่นและเกมส์ของสหรัฐฯ เป็นแบบ High-end และ Value Added ซึ่งเน้นในด้านการออกแบบและนวัตกรรม สหรัฐฯผลิตสินค้าของเล่นและเกมส์มีมูลค่าประมาณ 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551 หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 13.5 ของตลาดสินค้าของเล่นและเกมส์ของประเทศสหรัฐฯ ผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตของเล่นและเกมส์ของสหรัฐฯ และของโลก คือ Mattel และ Hasbro นอกจากนั้นแล้ว Barbie, American Girl, Fisher Price และ Hot Wheel เป็นแบรนด์สินค้าของเล่นชั้นนำที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของสหรัฐฯ และเป็นที่รู้จักทั่วโลก

การส่งออก สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าของเล่นและเกมส์ เป็นมูลค่า 1,582.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.77 มีตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ แคนาดา (ร้อยละ 23.2) เม็กซิโก (ร้อยละ 14.5) ปารากวัย (ร้อยละ 10.3) ฮ่องกง (ร้อยละ5.2) และ จีน (ร้อยละ 4.9)

การนำเข้า สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าของเล่นและเกมส์ ในปี 2552 เป็นมูลค่า 20,423.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่าลดลงจากปี 2551 ร้อยละ -10.5 โดยมีประเทศจีนเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญที่สุดหรือ สินค้าของเล่นและเกมส์ที่ผลิตจากจีนครองตลาดสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 90 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 3.65) เม็กซิโก (ร้อยละ 1.35) เดนมาร์ก (ร้อยละ 1.00) และ ไทย (ร้อยละ 0.32)

การค้าระหว่างประเทศสินค้าของเล่นและเกมส์ของสหรัฐฯ ในปี 2552

หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ

          กิจกรรมการค้า                      ปี 2552           ปี 2551         เพิ่ม/ลด(%)
          1. การส่งออกสินค้าของเล่น           1,582.75         1,554.12          1.80
          2. การนำเข้าสินค้าสินค้าของเล่น      20,423.98         2,820.28        -10.50
ตลาดของเล่นและเกมส์แจ่มใสในอนาคต

นักการตลาดของเล่นและเกมส์ มีความเห็นว่า ตลาดของเล่นและเกมส์ในสหรัฐฯ จะขยายตัวได้ดีในช่วงปี 2553-2557 โดยตลาดจะขยายตัวประมาณร้อยละ 25 หรือมีมูลค่าสูงถึง 52,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือการใช้จ่ายซื้อของเล่นและเกมส์ต่อคนจะเพิ่มขึ้นเป็น 673 เหรียญสหรัฐฯ

เหตุผลสนับสนุนการขยายตัวมี 2 ประการคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลุดพ้นจากภาวะถดถอยและปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ เป็นผลให้ผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถใช้จ่ายได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว รวมไปถึงการซื้อของเล่นและเกมส์ให้เด็ก ประการที่สอง จำนวนประชากรเด็กวัยใช้สินค้าของเล่นและเกมส์ ซึ่งอายุระหว่าง 1 - 17 ปี จะมีจำนวนเพิ่มเป็น 77.4 ล้านคนในปี 25

คาดการณ์จำนวนประชากรเด็กในสหรัฐอเมริกา

หน่วย: ล้านคน

          ประชากรเด็ก           2552      2557       เพิ่ม (%)      จำนวนเพิ่ม
          1. อายุ 1-5 ปี         25.1      26.2        4.38           1.1
          2. อายุ 6-11 ปี        24.5      25.8        5.31           1.3
          3. อายุ 12-17 ปี       25.1      25.4        1.19           0.3
          รวมประชากรเด็ก        74.7      77.4        3.61           2.7
          ที่มา: Population Projections, US Bureau of Census


          จำนวนประชากรเด็กจะเพิ่มขึ้นเป็น 77.4 ล้านคน ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของประชากรสหรัฐฯ ในปี 2557 ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในรอบ 10 ที่ผ่านมา และในช่วง 5 ปีดังกล่าว จะมีประชากรเด็กที่เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 2.7 ล้านคน โดยแยกเป็น เด็กอายุระหว่าง 1-5 ปี จำนวน 26.2 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านคน) อายุระหว่าง 6-11 ปี จำนวน 25.8 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคน) และ อายุระหว่าง 12-17 ปี จำนวน 25.4 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 0.3 ล้านคน)

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ
          1. จำนวนประชากรเด็กของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 77.4 ล้านคนในปี 2557 จะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มความต้องการบริโภคสินค้าของเล่นและเกมส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรเด็กอายุระหว่าง 1-11 ปี จะมีจำนวน 52 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2.4 ล้านคน ซึ่งจะเป็นผู้บริโภคของเล่นที่สำคัญ ในขณะที่ประชากรเด็กอายุ 12-17 ปีเพิ่มขึ้นในระดับต่ำเพียง 0.3 ล้านคน ผู้ผลิต/ส่งออกไทยจึงควรพิจารณาพัฒนาและวางกลยุทธ์ในการนำเสนอสินค้าของเล่นและเกมส์สำหรับเด็กอายุช่วง 1-11 ปี เพื่อรุกตลาดสหรัฐฯ
          2. สินค้าของเล่นและเกมส์สำหรับเด็กอายุระหว่าง 1-11 ปี ที่น่าจะได้รับความนิยมได้แก่ Arts & Crafts, Building Sets, Dolls, Games/Puzzles และ Infant/Preschool
          3. ตลาดสำคัญสินค้าของเล่นและเกมส์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า คือ  (1) มลรัฐแคลิฟอร์เนียจำนวน 11.80 ล้านคน  (2) รัฐเท็กซัส จำนวน 6.52 ล้านคน (3) รัฐนิวยอร์ก จำนวน 4.57 ล้านคน  (3) รัฐฟลอริด้า จำนวน 3.67 ล้านคน และ รัฐอิลลินอยส์ จำนวน 3.18 ล้านคน ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 38.4 ของประชากรเด็กสหรัฐฯ
          4. ปัจจุบัน ทั้งภาครัฐและเอกชนของสหรัฐฯ ให้ความสนใจในเรื่องความปลอดภัยของสินค้าสำหรับเด็กใช้เป็นอย่างสูง ดังนั้น การส่งออกสินค้าของเล่นและเกมส์ หรือของใช้สำหรับเด็กไปยังสหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัย (Product Safety) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลีกเลี่ยงใช้สารต้องห้ามต่างๆ เช่น สารตะกั่ว (Lead) สารทาเลท (Phthalates) สารแคดเมี่ยม (Cadmium) และ สารไบฟีนอล (Bi Phenol A) เป็นต้น
          5. ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจะต้องแสดงถึงความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้ ทั้งในด้านการออกแบบสินค้า การทดสอบสินค้า การรับรองสินค้า และ การให้คำแนะนำและคำเตือนในการใช้แก่ผู้ซื้อได้ทราบ
          6. ผู้ผลิต/ส่งออกไทยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องความปลอดภัยสินค้าได้จาก Website: www.cpsc.gov คณะกรรมการความปลอดภัยสินค้าบริโภคสหรัฐฯ (Consumer Product Safety Commission: CPSC) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลในเรื่องความปลอดภัยของสินค้า มีอำนาจในการลงโทษ เรียกคืนสินค้า หรือ เรียกค่าปรับ หากสินค้าไม่ถูกต้องตามระเบียบ


          สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ