ตลาดสินค้าเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 16:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์
1.1 พลาสติกชีวภาพ

พลาสติกชีวภาพซึ่งสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (B iodegradable) เป็นวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังได้รับความสนใจจากกระแสความต้องการของโลก ด้านการอนุรักษ์ ซึ่งพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ หรือพลาสติกชีวภาพนั้นส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ด้านวัตถุดิบที่ผลิตจาก พืชที่สามารถปลูกขึ้นทดแทนได้ กระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานต่ำ จนถึงกระบวนการกำจัดที่สามารถย่อยสลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ได้ด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ภายหลังจากการใช้งาน โดยพลาสติกชีวภาพนั้นจะมีคุณสมบัติในการใช้งานได้เทียบเท่าพลาสติกแบบที่ใช้กันในปัจจุบัน จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้

ปัจจุบันพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพแยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Petroleum Based Biodegradable Plastics) และพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นมวลชีวภาพ (Bio Based Biodegradable Plastics) หรือวัตถุดิบที่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ (Renewable Resource) พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพแบบที่สองได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะว่าเป็นการรองรับในเรื่องการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม

1.2 การขยายตัวของตลาดเม็ดพลาสติกชีวภาพในสหรัฐฯ

ปัญหาสภาพแวดล้อม (ปัญหาโลกร้อน) และกระแสความยั่งยืน (Sustainable) รวมไปถึง ความต้องการตีตัวออกจากการใช้น้ำมันดิบ ที่เรื่องที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคสหรัฐฯ ให้ความสนใจสูงและเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของพลาสติกชีวภาพ จึงผลักดันให้นักวิจัยต้องค้นคว้าคิดหาวัตถุดิบธรรมชาติมาใช้ทดแทนพลาสติกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯให้การสนับสนุนต่อสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมาย Federal Farm Bill บังคับใหห้ น่ายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยวัตถุดิบชีวภาพ (Bio Base Materials) ให้ได้มากที่สุด

นอกจากนั้นแล้ว พลาสติกชีวภาพมีข้อได้เปรียบพลาสติกปิโตรเลียมในด้าน มีวัตถุดิบมากมายมหาศาลเพื่อใช้ในการผลิต มีความปลอดภัยในการใช้ของผู้บริโภค ต้นทุนต่ำในกระบวนการแปรรูปเป็นสินค้า และมีราคาจำหน่ายแข่งขันกับพลาสติกปิโตรเคมีได้

1.3 การผลิตพลาสติกชีวภาพของสหรัฐฯ

ในด้านการผลิต ปัจจุบัน ยุโรป สหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น คือผู้นำการผลิตพลาสติกชีวภาพ Helmut Kaiser บริษัทที่ปรึกษาในประเทศเยอรมนี รายงานว่า ปัจจุบัน กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก เป็นผู้นำในการผลิตพลาสติกชีวภาพสหรัฐฯ มีสัดส่วนตลาดการผลิตร้อยละ 39 สหรัฐฯ มีสัดส่วนการผลิตพลาสติกชีวภาพร้อยละ 28 ของโลก และสัดส่วนจะลงเป็นลำดับ เนื่องจากแหล่งผลิตในประเทศเอเซียจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการผลิตพลาสติกชีวภาพแทน ยุโรปและสหรัฐฯ เนื่องจากกลุ่มประเทศเอเซียได้เปรียบในด้านวัตถุดิบปัจจุบัน บริษัท Nature Works ผู้ผลิตสหรัฐฯ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐมินเนโซต้าเป็นผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ที่สุดของโลกมีกำลังการผลิตประมาณปีละ 140,000 ตัน ผลิตพลาสติกชีวภาพจากข้าวโพด ผู้ผลิตรายอื่นที่สำคัญได้แก่ Meridian/Kaneka, Matabolic, Cereplast และ Telles เป็นต้น

ผู้นำการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพของสหรัฐฯ

หน่วย: เมตริกกัน

  Company                     กำลังการผลิต           ชนิดพลาสติก
Nature Works                   140,000               PLA
Meridian/Kaneka                100,000               PHBA
Metabolix                       50,000               PHA
Telles,                         55,000               PHA
Cereplast                       25,000            Cereplast
DuPont                           2,000               PHA
1.4 ความต้องการบริโภคพลาสติกชีวภาพของสหรัฐฯ

ตลาดพลาสติกชีวภาพรวมของโลกมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2550 และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558 และจะสูงถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563

ตลาดสินค้าพลาสติกชีวภาพของสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 1 ของตลาดพลาสติกรวมของสหรัฐฯ สหรัฐฯบริโภคพลาสติกชีวภาพในปี 2550 เป็นจำนวน 58,000 เมตริกตัน และ คาดว่าความต้องการพลาสติกชีวภาพของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 193,000 เมตริกตันในปี 2554

คาดการณ์ปริมาณความต้องการพลาสติกชีวภาพ

    ภูมิภาค                  2550 (เมตริกตัน)         2554 (เมตริกตัน)
 สหรัฐฯ                        58,000                193,000
 ยุโรปตะวันตก                   77,000                295,000
 เอเซีย-แปซิฟิก                  58,000                302,000
 ภูมิภาคอื่นๆ                      7,000                110,000
 รวมความต้องการ               200,000                900,000
ที่มา: Fredonia Group

1.5 การประยุกต์ใช้พลาสติกชีวภาพในสหรัฐอเมริกา
          ปัจจุบัน การใช้พลาสติกชีวภาพขยายวงกว้างออกไป ไม่จำกัดการใช้เฉพาะเพื่อการผลิตถุงพลาสติก หรือ ช้อนส้อมพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งไป ปัจจุบัน อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหารเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อิเลคทรอนิคส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเส้นใยสิ่งทอ หันใช้พลาสติกชีวภาพในการผลิตสินค้า ผู้ผลิตสินค้ารายสำคัญของสหรัฐฯ เริ่มหันไปใช้พลาสติกชีวภาพ ได้แก่
          1. บริษัท Coca-Cola เริ่มใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพซึ่งทำมาจากต้นอ้อย (sugarcanebased resins) เป็นฉลากสินค้าติดบนขวดโค๊ก ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นต้นมา
          2. บริษัท Mazda ผู้ผลิตรถยนต์ ใช้พลาสติกชีวภาพในการผลิตผ้าเบาะรถยนต์ ซึ่งใช้กับรถยนต์ไฮบริด (Hybrid)
          3. บริษัท Newell Rubbermaid ผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์พลาสติกของสหรัฐฯ เสนอสินค้าปากกาลูกลื่นทำจากพลาสติกชีวภาพ
          4. บริษัท Frito Lay ผู้นำการผลิตสินค้า Snack Food ของสหรัฐฯ หันใช้ถุงพลาสติกชีวภาพบรรจุ Sun Chips Snacks
          5. บริษัท Samsung และ บริษัท Verizon ใช้พลาสติกชีวภาพผลิตตัวโทรศัพท์มือถือ


2. การผลิตและการจำหน่ายเม็ดพลาสติกทั่วไปของสหรัฐฯ
          การผลิต: สหรัฐฯ มีผลิตรวมเม็ดพลาสติกชนิดที่สำคัญ (LLPE, LLDPE, HDPE, PP, PS, PVC) จำนวน 6,057 ล้านปอนด์ (2,753 ล้านกิโลกรัม) ในเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีผลผลิตลดลงไปร้อยละ -0.39 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2552 ในขณะที่ผลผลิตรวมในช่วงมกราคม-เมษายน 2553 มีจำนวน 24,266 ล้านปอนด์ (11,030 ล้านกิโลกรัม) ซึ่งยังคงขยายตัวร้อยละ 9.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552
          การจำหน่าย: สหรัฐฯ จำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดที่สำคัญ (LLPE, LLDPE, HDPE, PP, PS, PVC) ในเดือนเมษายน 2553 เป็นจำนวน 5,773 ล้านปอนด์ (2,624 ล้านกิโลกรัม) ซึ่งมียอดจำหน่ายต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ -5.10 อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายเม็ดพลาสติกในช่วงมกราคม-เมษายน 2553 มีปริมาณ 23,759 ล้านปอนด์ (10,817 กิโลกรัม) ยังคงขยายตัวร้อยละ 5.58


          การผลิตและการจำหน่ายเม็ดพลาสติก (เฉพาะรายการที่สำคัญ) ของสหรัฐอเมริกา
                              หน่วย: ล้านปอนด์
 ประเภท                  ปริมาณการผลิต                                  ปริมาณการขาย
 พลาสติก           เมษายน          มกราคม-เมษายน              เมษายน           มกราคม-เมษายน
                2553    2552     2553       2552        2553       2552      2553        2552
1. LLPE          575     529    2,293      2,113         559        531     2,293       2,155
2. LLDPE       1,123   1,147    4,593      4,202       1,015      1,025     4,362       3,911
3. HDPE        1,307   1,415    5,532      5,355       1,265      1,419     5,397       5,250
4. PP          1,425   1,431    5,622      5,438       1,332      1,499     5,528       5,511
5. PS            418     436    1,703      1,594         452        443     1,654       1,662
6. PVC         1,209   1,123    4,523      3,933       1,150      1,151     4,525       4,014
      รวม      6,057   6,081   24,266     22,635       5,773      6,068    23,759      22,503
ที่มา: American Chemical Industry Association


3. การค้าระหว่างประเทศ
          สหรัฐฯ นำเข้าพลาสติกและผลิตภัณฑ์รวมกันในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม-เมษายน) เป็นมูลค่า 10,648.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 20.86 โดยแยกเป็นการนำเข้าเม็ดพลาสติก 3,072.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก 7,576.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ ได้แก่ จีน (ร้อยละ 28%) แคนนาดา (ร้อยละ 27%) เม็กซิโก (ร้อยละ 9%) และ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 6%)


          การนำเข้าเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ ในช่วงมกราคม-มีนาคม 2553
                           หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ
      การนำเข้า                      มกราคม - มีนาคม
                         2553           2552           เพิ่ม/ลด(%)
  เม็ดพลาสติก           3,072.69        2,287.09           34.35
  ผลิตภัณฑ์พลาสติก        7,576.19        6,523.82           16.13
  นำเข้ารวมทั่วโลก      10,648.88        8,810.91           20.86
ที่มา: World Trade Atlas

          ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ นำเข้าพลาสติกและผลิตภัณฑ์รวมกันจากประเทศไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม-เมษายน) เป็นมูลค่า 114.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 9.57 โดยแยกเป็นการนำเข้าเม็ดพลาสติก 31.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดต่ำลงไปเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ -0.17 และการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่า 83.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูงร้อยละ 24.44


          การนำเข้าเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ จากประเทศไทย
                    ในช่วงมกราคม-มีนาคม 2553
                      หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ
      การนำเข้า                      มกราคม - มีนาคม
                         2553           2552           เพิ่ม/ลด(%)
  เม็ดพลาสติก              31.05         37.48             -0.17
  ผลิตภัณฑ์พลาสติก           83.84         67.37             24.44
  นำเข้ารวมทั่วโลก         114.89        104.85              9.57
ที่มา: World Trade Atlas


4. ระดับราคาขายส่ง-ขายปลีก

     ราคาซื้อ-ขาย ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2553 ของตลาด The Plastic Exchange
                        ราคา: เหรียญสหรัฐฯ/ปอนด์
   ชนิด Resin           Total lbs             Low            High
LLDPE - Film           4,349,128            0.570          0.660
PP Copolymer - Inj     3,998,288            0.610          0.780
HDPE - Blow Mold       3,362,772            0.480          0.630
GPPS                   1,710,000            0.710          0.720
PP Homopolymer - Inj   1,382,644            0.600          0.670
HMWPE - Film             883,656            0.580          0.610
HDPE - Inj               615,000            0.595          0.695
LLDPE - Inj              556,368            0.580          0.680
HIPS                     380,000            0.760          0.760
Scrap/Regrind/Repro      252,000            0.430          0.730
LDPE - Film              176,368            0.740          0.740
5. มาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี

5.1 ด้านภาษี: สหรัฐฯเรียกเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าพลาสติกไทย ในอัตราร้อยละ 0.0 — 25.0 เม็ดพลาสติกบางชนิด และ ผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายชนิดได้รับการยกเว้นภาษี GSP

5.2 ไม่ใช่ภาษี:

  • ภาษีทุ่มตลาด (Anti Dumping Duty) สินค้าถุงพลาสติกไทยถูกเรียกเก็บ
  • ระเบียบการควบคุมด้าน Solid Waste ของ U.S Environment Protection Agency
  • ระเบียบห้ามใช้ถุงพลาสติก Shopping Bag ของรัฐบาลท้องถิ่นในสหรัฐฯ
  • การทดสอบมาตรฐานพลาสติกของสินค้าพลาสติก ABS
  • มาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น Plastic Pallet,
  • มาตรฐานพลาสติกชนิด PET Plastic Recycling
6. SWOT สถานการณ์สินค้าพลาสติกและผลิตภัณฑ์ไทยในสหรัฐฯ

จุดแข็ง

1. มีการผลิตเม็ดพลาสติกที่หลากหลายทั้งเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไปและเกรดพิเศษ มีวัตถุดิบพร้อม อีกทั้งมีอุตสาหกรรมปลายทางในประเทศที่มีศักยภาพและมูลค่าเพิ่มสูง เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรกนิกส์มีวัตถุดิบเพียงพอและหลากหลาย

2. ต้นทุนการผลิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ดำรงฐานะการแข่งขันได้

3. มีระดับเทคโนโลยีการผลิตที่ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ

4. เป็นอุตสาหกรรมแบบครบวงจรก่อให้เกิดความได้เปรียบในด้านต้นทุน

โอกาส

1. สหรัฐฯ เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงและตลาดสามารถรองรับผลิตภัณฑ์พลาสติกรูปแบบต่างๆ) และผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นส่วน ประกอบในการผลิต เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้สำนักงาน ของเล่น เครื่องเขียน บรรจุภัณฑ์อาหารแปรรูป เป็นต้น

2. ตลาดสหรัฐฯ มีกฎระเบียบที่จะเป็นอุปสรรรคต่อการขยายตลาดน้อย

3. ตลาดผลิตภัณฑ์พลาสติกในสหรัฐฯ มีความน่าสนใจ และมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าเม็ดพลาสติก

จุดอ่อน

1. ขาดการพัฒนาด้านนวัตกรรม วิจัยค้นคว้าอย่างเป็นระบบ และขาดเทคโนโลยี่ขั้นสูง

2. ยังไม่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การลดต้นทุน การประหยัดพลังงาน การพัฒนาหีบห่อเพื่อสนองต่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขาดการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์

3. อุตสาหกรรมสนับสนุนไม่แข็งแรง (แม่พิมพ์)

4. ขาดระบบรับรองมาตฐานคุณภาพที่ยอมรับจากสากล

5. วัตถุดิบต้องพึ่งพิงการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่

อุปสรรค

1. ประสบปัญหาด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก

2. นโยบายลดการใช้แพคเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์และถุงพลาสติกที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ

3. อุตสาหกรรมพลาสติกไทยด้อยกว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยี่และตลาดพลาสติก ในด้านการวิจัยและพัฒนา จะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาด

4. ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่องเป็นผลให้ราคาเม็ดพลาสติกสูง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสูง

5. ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาแพงขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศคู่แข่ง เช่น จีน หรือ อินเดีย

6. มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ Antidumping AD ซึ่งประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีถุงพลาสติกในปัจจุบัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ